ตัดถนน-รถไฟฟ้า ดันที่ดินเมืองนนท์พุ่ง

04 พ.ย. 2563 | 04:03 น.

ตัดถนน ใหม่-สร้างรถไฟฟ้า ดันที่ดินเมืองนนทบุรีพุ่งไม่หยุด ถนนราชพฤกษ์ติดสถานีรถไฟฟ้า ที่ดินบอกขายราคาตลาด ไร่ละ 100ล้าน

 

 

 

ราคาที่ดินจังหวัดนนทบุรีขยับสูงจนชนเพดานและมีแนวโน้มพุ่งสูงเมื่อรัฐบาลมีแผนก่อสร้างถนนสายใหม่รองรับความเจริญ ล่าสุดนักลงทุน นายหน้าค้าที่ดินให้ความสนใจวิ่งเข้า-ออกเมืองนนทบุรีอีกครั้งท่ามกลางสถานการณ์โควิดยังวนเวียนอยู่ในขณะนี้ กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติ อนุมัติ ร่างพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ในท้องที่จังหวัดนนทบุรีพร้อมกันถึง 2 โครงการของกรมทางหลวงชนบทได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณถนน นนทบุรี 1 จากจุดบรรจบของ ถนนราชพฤกษ์ วิ่งไปชนถนนกาญจนาภิเษก

 

ปลายทางบริเวณซอยพระเงินแม้จะเป็นเส้นทางไม่ถึง4กิโลเมตรแต่ เป็นเส้นทางที่ลากต่อจากถนนสายสำคัญอย่างราชพฤกษ์เส้นเลือดใหญ่แหล่งรวมบริษัทพัฒนาที่ดินบ้านจัดสรร โชว์รูมร้านค้า ซึ่งปัจุบันราคาที่ดิน พุ่งไปรอที่ กว่า1แสนบาทต่อตารางวา ที่มากไปกว่านั้นคือจะเป็นเส้นทางความเจริญออกสู่ จังหวัดใกล้เคียงได้สะดวก  รอบทิศทาง ด้วยเขตทางกว้างถึง 6-8 ช่องจราจร            

 

                 แน่นอนว่าที่ดินแถบที่ถนนใหม่วิ่งผ่านจากอำเภอเมืองนนทบุรีตั้งแต่ด้านข้างวัดโบส์ถดอนพรหม ผ่านถนนบางกรวย-ไทยน้อย  ตำบลบางเลน อำเภอบางใหญ่ โดยเฉพาะปลายทางบริเวณวงแหวนอนาคต จะคราคร่ำไปด้วยโครงการบ้านจัดสรร ปักหมุดรอรับความเจริญในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะที่ดินบริเวณด้านในซึ่งเป็นสวนผลไม้  กระท้อน มะพร้าวน้ำหอม ราคาตารางวาละ 20,000 บาท หากต้องการ ซื้อยกแปลงใหญ่ ขนาด 10-20 ไร่ขึ้นไป ขณะแปลงที่ดินแนวเขตทางที่จะขึ้นรูปเป็นถนนใหญ่ ราคามักสูงตามกลไกตลาด เพราะทำเลติดถนน ผู้ประกอบการอาจซื้อเพื่อทำทางเข้า-ออกเพียง 1-2 ไร่ น่าจะเพียงพอ เนื่องจากต่อตารางวาขยับสูงน้องๆ ราชพฤกษ์  โดยเฉพาะ บริเวณ ตำบลบางเลน รอยต่อตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง ราคา 7 หมื่นบาทต่อตารางวา หากถนนแล้วเสร็จหรือยังไม่ทันสร้างเสร็จอาจมีการเปลื่อนมือหลายตลบ 

                ตัดถนน-รถไฟฟ้า ดันที่ดินเมืองนนท์พุ่ง

 

 

เชื่อว่า ขณะนี้ น่าจะอยู่ในมือนายทุนหมดแล้วและอนาคตกรมทางหลวงชนบทยังมีแผนลากถนนเชื่อมต่อออกไปยังอำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม ซึ่งจะเป็นเส้นทางคู่ขนานไปกับโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อถนนนครอินทร์-ศาลายา  ที่ครม.เห็นชอบให้ก่อสร้างระยะทางยาวกว่า 12 กิโลเมตรบริเวณนี้นักลงทุน เข้าไปกว้านซื้อที่เนื่องจากราคายังไม่แพงหากเทียบกับถนนราชพฤกษ์ ส่วนราคาที่ขยับสูง น่าจะอยู่บริเวณช่วงต้นโครงการบริเวณจุดตัดระหว่างถนนวงแหวนกาญจนาภิเษกกับถนนนครอินทร์บรเวณโลตัสเก่าปัจจุบันเปลื่อนมือเป็น “ห้างพลัส มอลล์” แต่ที่ดินที่จะขยับแรงหลายเท่าตัว บางแปลงสูง 10 เท่า ส่วนใหญ่เจ้าของโก่งราคาไม่ยินยอมขาย การต่อรองจึงเกิดขึ้นและจะเป็นที่มาของแปลงข้างเคียงที่จะตั้งในราคาระดับใกล้เคียง หากทำเลนั้นมีความต้องการ  

              

 

 

  นอกจากนี้อนาคตเมืองนนทบุรียังมีโครงการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสนามบินน้ำรออยู่ แม้ว่าจะใช้เวลานานจากงบประมาณ จำกัดและเต็มไปด้วยชุมชนใหญ่ แต่เชื่อว่า หากการขยายตัวของเมืองมีสูง โครงการนี้ย่อมเกิดขึ้นเช่นเดียวกับ เส้นทาง  เลี่ยงเมืองนนทบุรี วิ่งมาชนถนนวิภาวดี บริเวณที่เชื่อมทะลุไปยังศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แต่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพราะมีชุมชุนขวางอยู่มาก

หากย้อนไปช่วงก่อสร้าง สะพานนนทบุรี1 และถนนเชื่อมต่อ  และขยับไปอีก10-20ปีก่อน เมื่อเกิดสะพานพระราม4 เชื่อมราชพฤกษ์ สะพานพระราม5-นครอินทร์  ที่ท้องไร่ท้องนาที่สวนราคาไร่ละ1ล้านบาทกลายเป็นไร่ละ20ล้านบาทในบัดดล และขยับแพงมาตราบจนทุกวันนี้ ยกตัวอย่าง บริเวณถนนราชพฤกษ์ที่มีสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง "บางรักษ์ท่าอิฐ"ราคาที่ดิน ปลูกกล้วยรอขายของนายตำรวจเก่า 20ไร่ตั้งราคาขายไร่ละ 80-100 ล้านบาท  

 อย่างไรก็ตาม จาก การพัฒนาบ้านจัดสรร ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว อีกทั้งเมื่อมีรถไฟฟ้า สายสีม่วงตามด้วย การก่อสร้าง รถไฟ้าสายสีชมพู มีคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น คนเข้าพื้นที่ทำงานอย่างศูนย์ราชการ นนทุบรีและศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ  ทำให้ทำเลที่อยู่อาศัยในราคาไม่สูงมาก ต้องถูกถ่างออกไปเรื่อยๆ    

                ด้วยศักยภาพของเมืองนนทบุรี  ที่เป็น เมืองอยู่อาศัย ชั้นดีรองรับการขยายตัวมาจากกทม.แล้ว ที่นี่ยังเต็มไปด้วยแหล่งงาน แม่เหล็กดึงคนเข้าพื้นที่อีกมาก จึงไม่แปลก ที่จะมีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมาลงจำนวนมากเมื่อเทียบกับ จังหวัดปริมณฑลอื่น

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,623 วันที่ 1 - 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563