"อสังหาใหญ่"  ตั้งรับ เศรษฐกิจ-การเมือง สุกงอม 

22 ต.ค. 2563 | 09:55 น.

    2อสังหาฯ ยักษ์ใหญ่ของตลาด ประเมินสถาน การณ์เศรษฐกิจ-การเมือง ตั้งรับการดำเนินธุรกิจระยะสั้น เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ยอมรับ ม็อบกระทบการฟื้นตัวของกลุ่มธุรกิจออฟฟิศ-รีเทล ปรับตัวกระจายเสี่ยง สิงห์ เอสเตท ชี้ การเมืองไม่น่าหวั่น เท่าโควิดไร้วัคซีน

 

 

 


    ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกขาหลักของเศรษฐกิจไทย กำลังสั่นคลอนกับความท้าทายรอบด้านไม่รู้จบ เริ่มตั้งแต่ ธุรกิจค้าปลีก (รีเทล) โควิดฉุดภาวะเศรษฐกิจไทยลากยาว ผู้บริโภคเซฟเงินในกระเป๋างดสินค้าฟุ่มเฟือย ฉุดรายได้ค่าเช่าผู้ค้า ส่วนอาคารสำนักงาน (คอมเมอร์เชียล) กำลังถูกเทรนด์ Work Frome Home หลอกหลอน เจ้าของธุรกิจลดความต้องการขนาดพื้นที่ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดใหญ่สุด กลุ่มที่อยู่อาศัย ครอบคลุมหัวเมืองขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปฎิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มคนชนชั้นล่าง กำลังซื้อถดถอย หาทางฟื้นไม่เจอ เมื่อราคาพืชผลทางการเกษตรยังตกต่ำ รายได้เมืองท่องเที่ยวเป็นศูนย์ อุตสาหกรรมโรงงานยังมีแนวโน้มเลิกจ้าง ได้กระทบลามการกู้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน ไม่ต่างจากคนชั้นกลางมนุษย์เงินเดือน ซึ่งมีความต้องการสูง แต่ภาระหนี้ครัวเรือนเป็นข้อจำกัดดักขา
    ส่วนกลุ่มคนมีเงิน การไม่มีมาตรการจูงใจให้ลงทุน เมื่อบวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสซึ่งประเมินตอนจบไม่ได้ ทำให้กลุ่มคนดังกล่าวเลือกจะชะลอการตัดสินใจออกไปก่อน ขณะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ลงทุน เช่า-อยู่ นั้น ได้กลายเป็นเพียงความหวัง หลังสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วเท่านั้น ทั้งยังนับเป็นข้อจำกัดสำคัญ ที่อาจทำให้ภาพผลประกอบการรายได้-กำไร ของผู้ประกอบการ อสังหาฯรายใหญ่ในตลาด ถึงขั้นลดฮวบติดลบ จากหน่วยเหลือขาย และการรอโอนกรรมสิทธิ์จำนวนมากอีกด้วย
    การประกาศนัดชุมนุมรายวัน ในรูปแบบดาวกระจาย ปักหลักพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ รอบทิศ กรุงเทพมหานคร ของกลุ่มผู้ประท้วงในนาม “คณะราษฎร” นับเป็นอีกปัจจัยลบที่น่ากังวลต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจรอฟื้นตัวของไทย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังหาทางลงไม่ได้ ย่อมบั่นทอนทั้งความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและกลุ่มผู้บริโภค-นักลงทุน ในธุรกิจอสังหาฯ ไม่ว่าจะทางตรง หรือ ทางอ้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย นายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เจ้าของแพลต ฟอร์มอสังหาริมทรัพย์ ครบวงจรรายใหญ่และรายแรกของไทย ผ่านมูลค่าสินทรัพย์รวมแสนล้านบาทในไทย สะท้อนมุมมองว่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศนั้น คงกระทบภาพรวมการดำเนินธุรกิจ 3 ขาหลัก (ที่อยู่อาศัย, อาคารสำนักงาน-รีเทล, โรงงาน-คลังสินค้าให้เช่า) ของบริษัทอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ กำลังเฝ้าติดตาม วิเคราะห์สถาน การณ์รายวัน ควบคู่กับการเฝ้ามองปัจจัยลบภายนอกประเทศที่อาจจะมากระทบซ้ำอีก เช่น ความรุนแรงของสงครามการค้าโลก จากผลพ่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
    ทั้งนี้ การประท้วงทางการเมือง ที่เกิดขึ้นในไทย ณ ขณะนี้ เบื้องต้นกระทบต่อการวางแผนงานในระยะสั้น และแง่รายได้บางส่วน หลังจาก ความจำเป็น ต้องเปิด-ปิด ศูนย์การค้า (สามย่านมิตรทาวน์) ตามสถานการณ์ความเสี่ยง ทำให้กระทบรายได้ผู้ค้า ขณะกลุ่มธุรกิจอาคารสำนักงานให้เช่า ล่าสุดกลุ่มบริษัทข้ามชาติ เริ่มมีนโยบายให้พนักงาน Work Frome Home ต่อเนื่องจากโควิด เพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งก็สอดคล้องกับนโยบายองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ค้า ผู้เช่า และผู้มาใช้บริการมากที่สุด จึงทำให้การเรียกเก็บค่าเช่าใน 2 กลุ่มธุรกิจดังกล่าวนั้น จากที่อยู่ในทิศทางกำลังจะฟื้นตัว ก็ต้องผ่อนปรนช่วยเหลือ ผ่านการยืดค่างวด ยอมให้ผ่อนจ่ายต่อไปอีก เพื่อต้องการรักษาฐานลูกค้าเอาไว้
    อย่างไรก็ตาม จากการที่บริษัทเน้นการสร้างความแข็งแกร่งภายในขององค์กรอย่างยั่งยืน กระจายความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ควบคู่ไปการควบคุมค่าใช้จ่าย จึงยังไม่มีความกังวลมากนัก และเชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ทั้งปี 2563 ได้ตามเป้าหมาย 2 หมื่นล้านบาท หลังจากช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ทำได้แล้วราว 1.5 หมื่นล้านบาท
    “ขณะนี้ ไม่ว่าธุรกิจขนาดเล็ก หรือ ใหญ่ ก็ต่างกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพราะทำให้ลูกค้าหยุดการซื้อ ดีมานด์ก็ลด ฉะนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการปรับตัวตามขนาดขององค์กรเป็นหลัก ส่วนปัจจัยทางการเมือง ยอมรับ ทำได้แค่เฝ้ามอง เพราะประเมินไม่ได้ว่าสถานการณ์จะยืดเยื้ออย่างไร จึงต้องติดตามและปรับกลยุทธ์ตั้งรับรายวัน”
 

"อสังหาใหญ่"  ตั้งรับ เศรษฐกิจ-การเมือง สุกงอม 

 

   ขณะอีกค่ายอสังหาฯ ในเครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย “บุญรอดบริวเวอรรี่” โดย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ (S) ซึ่งพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยระดับท็อปของตลาด เช่น บ้าน สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส และโครงการคอนโดมิเนียมลักชัวรีทำเลใจกลางเมือง รวมถึงกลุ่มโรงแรม และอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ซึ่งมีรายได้ในช่วงปีที่ผ่านมารวมกกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท นายณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการพัฒนาธุรกิจพักอาศัย ระบุในแง่ตลาดที่อยู่อาศัย ว่าที่ผ่านมา กำลังซื้อของคนไทยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิชะลอตัวอยู่มาก 
ขณะการปิดประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดขายและการรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์ในกลุ่มลูกค้าต่างชาติไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ล่าสุดบริษัทตัดสินใจลดเป้ารายได้ของปี 2563 ในกลุ่มดังกล่าวลง เหลือราว 4 พันล้านบาท จากเดิมวางไว้ 9 พันล้านบาท เนื่องจากยังรอให้ลูกค้าต่างชาติ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 40% ของยอดขาย เดินทางเข้ามาตรวจรับห้อง เมื่อสถาน การณ์ต่างๆคลี่คลายลงแล้ว
  

 

 

 ส่วนปัจจัยการเมือง ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ อาจมีผลกระทบต่อบรรยากาศการซื้อ-ขายอสังหาฯมากขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ มองอาจเป็นเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากคาดหวังว่า ท้ายที่สุด ความขัดแย้ง 2 ขั้ว จะสามารถหาทางออกได้ พร้อมชี้ ที่ผ่านมาตลอดระยะ 10 ปี ประเทศไทยวนเวียนกับความขัดแย้งทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนกล่าวได้ว่า กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับภาคธุรกิจไทยที่ต้องปรับตัว หาทางขับเคลื่อน เติบโตไปให้ได้ จึงไม่กังวัลมากนัก
    “ปัจจัยที่กระทบโดยตรง คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และโควิดที่ยังไร้วัคซีน ทำให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายบริษัทหายไป ส่วนการประท้วงทางการเมืองนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ โดยเชื่อว่า ไม่ช้าหรือเร็ว จะมีบทสรุปเกิดขึ้นตามยุคสมัย ซึ่งหน้าที่ของธุรกิจ หรือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มสิงห์นั้น มีจุดยืนชัดเจน คือ การปรับตัว และกลับมาเติบโตให้ได้หลังผ่านวิกฤติไป”
    ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัท มีสินค้าสร้างเสร็จพร้อมขายรวมแนวราบและคอนโดมิเนียม ไม่น้อย ราว 3.2 พันล้านบาท ซึ่งกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปี ถึงช่วงปี 2564 นั้น คือ การเร่งระบายออกไป ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดี หลังซัพพลาย
ในตลาดน้อยลง อาจทำให้ดีมานด์เป้าหมายดูดซับได้ดีขึ้น ควบคู่กับการเร่งทยอยให้เกิดการรับรู้รายได้ในหน่วยขายรอโอนกรรมสิทธิ์ เช่น ในโครงการ ดิเอส สุขุมวิท 36 ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องโลเคชั่น ผ่านเครื่องมือต่างๆ โปรโมชั่น, ตัวแทนการขาย หรือโปรโมชั่น เป็นต้น 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,620 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563