กลยุทธ์ลดเสี่ยง  เจาะซื้อที่ดิน  ผ่านเทคโนโลยี    

20 ก.ย. 2563 | 05:52 น.

อสังหา ใช้เทคโนโลยี ชี้ให้ชัดว่าทำเล ที่ต้องการ มีศักยภาพพอ ต่อการลงทุนหรือไม่ ท่ามกลางการแข่งขัน ยุค “ดิสรัปชัน”

 

เมื่อทำเล หรือโลเกชัน คือ สิ่งที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างเน้นย้ำเสมอ ว่าเปรียบเป็นปัจจัยสูงสุดในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยให้สำเร็จ และคงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น ท่ามกลางข้อจำกัดของตลาด โดยมีผู้ซื้อเป็นตัวกำหนด (ดีมานด์) และซัพพลายค้างเก่าจำนวนมาก ที่ต้องนำมาศึกษากับองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย เพื่อชี้ให้ชัดๆว่าทำเลดังกล่าวมีศักยภาพเพียงพอต่อการลงทุนหรือไม่ ขณะยุค “เทคโนโลยีดิสรัปชัน” โมเดลธุรกิจที่มีนวัตกรรม-เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง

 

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น เปรียบเป็นอีกฟันเฟือง ที่เข้ามาท้าทายพลิกโฉมการพัฒนาโครงการในหลายๆด้านอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การสร้างแบบจำลองมิติเสมือนจริง (BIM), แพลตฟอร์มควบคุมเวลาการก่อสร้าง, การควบคุมคุณภาพ (QC) และต้นทุน ที่เดิมมักเกิดความผิดพลาดสูญเสียระหว่างการก่อสร้าง มีความเสียหายราว 10-20% ของต้นทุนการก่อสร้างสัดส่วน 50% ในแต่ละโครงการ ซึ่งพบเมื่อผู้พัฒนาฯ นำนวัตกรรม เทคโนโลยีดังกล่าว เข้ามาช่วยแก้ไขจำกัดปัญหาเบื้องต้นแล้ว ต้นทุนดังกล่าวจะลดลง ถูกเปลี่ยนเป็นกำไร หรือช่วยให้ผู้ซื้อซื้อได้ง่ายขึ้น จากราคาขายที่สามารถปรับลงมาได้ เพราะต้นทุนถูก
    

กลยุทธ์ลดเสี่ยง  เจาะซื้อที่ดิน  ผ่านเทคโนโลยี    

 

 

 

บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ อย่าง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาฯ ที่ได้นำนวัตกรรม เข้ามายกระดับมาตรฐานการพัฒนาโครงการ ครอบคลุมงานบริการ การบริหารจัดการโครงการที่ชูเรื่องความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับผู้พักอาศัย ผ่านระบบ LIV-24 เรียลไทม์ 24 ชั่วโมง ตั้งแต่ช่วงปี 2562 นั้น เผยว่า ปัจจุบันบริษัท ยังใช้เทคโนโลยี ในแง่ Big Data ชั้นสูง อัพเดตแบบเรียลไทม์ มาวิเคราะห์ในการจัดซื้อที่ดินสำหรับการพัฒนาโครงการอย่างเข้มข้นจริงจังอีกด้วย ภายใต้ระบบ “Sansiri Bangkok Model” หรือแผนที่กรุงเทพฯ เนื่องจากปัจจัย 3 สิ่งของการทำพร็อพเพอร์ตี้ คือ โลเกชัน โลเกชัน และโลเกชัน เป็นกุญแจดอกสำคัญสูงสุด 
 

 

ระบบดังกล่าว จะช่วยประเมินตั้งแต่การจัดหาที่ดินที่เหมาะสม , ระบุ สภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ, แสดงกายภาพของกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย (ดีมานด์) เช่น อายุ อาชีพ ที่ตั้งของที่อยู่อาศัยเดิม และสถานที่ทำงาน  รวมไปถึงการวิเคราะห์จำนวนซัพพลายในตลาด เพื่อช่วยพิจารณาได้ว่า ทำเลดังกล่าว เป็นบลูโอเชี่ยน (ตลาดใหม่) หรือ เรดโอเชี่ยน ที่มีการแข่งขันรุนแรงอยู่แล้ว  เปรียบเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนได้ตั้งแต่แรก ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีโครงการประมาณ 100 โปรเจ็กต์ในกรุงเทพฯ ที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์ทำเลด้วยเทคโนโลยี ซึ่งอนาคตการใช้ระบบ “แผนที่กรุงเทพฯ” ของแสนสิริ จะยิ่งมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จากภาวะตลาดที่ไม่ง่ายเหมือนอดีต
  

 

 

 “จากเดิมเรามองมิติเดียว แค่ดีมานด์และซัพพลาย แต่เมื่อดูหลายมิติ เห็นกายภาพของลูกค้า หรือแหล่งอำนวยความสะดวกโดยรวมของทำเล ช่วยให้มั่นใจในศักยภาพพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น ตรงกันข้าม หากซื้อที่ดินผิดจะผิดพลาดไปหมด เปรียบเป็นการตรวจสอบความถูกต้องร่วมกับฝ่ายการตลาด และเป็นกลยุทธ์สำคัญการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจขณะนี้ได้อย่างแม่นยำ”

 

 ทั้งนี้ บริษัทยังเตรียมเชื่อมต่อทุกมิติของการพัฒนาโครงการผ่านระบบนวัตกรรมเทคโนโลยี ตั้งแต่การสร้างสัญญาจ้าง-สัญญาก่อสร้าง, การประมาณการต้นทุน, การจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง, การรายงานความคืบหน้าของการพัฒนาและเข้าตรวจเพื่อควบคุมคุณภาพ อย่างเต็มรูปแบบในปี 2564 

 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อสังหาฯ อลหม่าน ปรับทัพรับศึก โควิด