กทม.จุดพลุ ‘ย่านนานาชาติ’  ปั้นมิกซ์ยูส 5 สถานีรถไฟฟ้า

06 ส.ค. 2563 | 21:59 น.

กทม.นำร่อง ทีโอดี จุดพลุ ย่านนานา ชาติ 5 ทำเล รถไฟฟ้า ปั้นประตูน้ำ ชิบุย่า ฮาราจูกุเมืองไทย-วงเวียนใหญ่ ย่าน ยานากะ กินซ่า-บางขุนพรหม ย่านบูกิส สิงคโปร์ ปั้นมิกซ์ยูส เอื้อโรงแรม ห้าง ออฟฟิศ เพิ่มพื้นที่เขียว สกายวอร์ก ดึงคนเข้าพื้นที่

 

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีรถไฟฟ้าพาดผ่านหลายเส้นทาง ส่งผลให้เกิดสถานีใหม่ 300 แห่ง มีสถานีซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางสำคัญ 50 จุด จุดพลุทำเลทอง ส่งเสริมการพัฒนาเมืองสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ในเชิงพาณิชย์ ที่เป็นได้มากกว่าตึกสูงอย่างคอนโดมิเนียม สอดรับกับ การลงทุนระบบราง ดึงคนเข้าพื้นที่ หันมาเดินทางโดยรถไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า ทางเศรษฐกิจระยะยาว 10-20 ปี โดยมีผังเมืองกทม.ใหม่ เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนา

สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. มีโครงการศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยจุดสำคัญของกรุงเทพให้น่าอยู่ ยกระดับเป็นย่านระดับนานาชาติที่ทั้งสะอาด ร่มรื่น และใช้พื้นที่ได้คุ้มค่า ซึ่งมี 5 สถานีที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสถานีต้นแบบได้แก่ ประตูน้ำ (สายสีส้ม) วงเวียนใหญ่ (BTS) บางขุนพรหม เตาปูน ลำสาลี การพัฒนาพื้นที่ที่น่าสนใจได้ก็อย่างเช่น ปลูกต้นไม้ ขยายเขตทาง ปรับปรุงทางเดินเท้า สกายวอร์ค การนำสายไฟลงดิน เพิ่มพื้นที่สีเขียว เป็นต้น ดึงดูดความสนใจ ทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุนเข้าพื้นที่ ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มศักยภาพแปลงที่ดิน ซึ่งเป็นแปลงเล็กแปลงน้อย สามารถพัฒนาเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ ไม่เพียงแค่เปิดให้เอกชนพัฒนาคอนโดมิเนียมอยู่อาศัยเท่านั้น กทม.ต้องการให้บริเวณนั้น มีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากจุดเปลี่ยนถ่ายรถไฟฟ้าสำคัญ รัศมี 800 เมตร สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ทุกประเภท สร้างอาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ได้เกิน 10,000 ตารางเมตร

กทม.จุดพลุ ‘ย่านนานาชาติ’   ปั้นมิกซ์ยูส 5 สถานีรถไฟฟ้า

เริ่มจากย่านประตูน้ำ จุดศูนย์กลางการค้าระดับโลก ร้านค้าขายเสื้อผ้านานาชาติ อนาคตกำลังมีรถฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) วิ่งผ่านหน้าห้างพันธ์ุทิพย์ ส่งเสริมการพัฒนา เชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า สายอื่นๆ แต่โดยหลัก บริเวณประตูน้ำ กทม.เน้นส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากที่ดินบางแปลงเล็กแคบ ทางแคบ จะมีการปรับให้ใช้ประโยชน์ได้ เพิ่มช่องทางทำมาหากินของชาวบ้านนอกจากนักลงทุน โดยรอบสถานีประตูน้ำจะพัฒนาแบบชิบุย่า ฮาราจูกุ มีแผนหลักๆ คือพัฒนาคลองแสนแสบส่วนที่ติดกับสวนแห่งใหม่, พัฒนาซอยเพชรบุรี 15

เช่นเดียวกับรอบสถานีบีทีเอสวงเวียนใหญ่ กทม.มีแผนพัฒนาเทียบชั้นย่านยานากะ กินซ่า ปรับปรุงถนนกรุงธนบุรี, ปรับคลองบางไส้ไก่ให้เป็นทางเดิน รวมทั้งปรับปรุงซอยกรุงธนบุรี 1 ซึ่งสถานีวงเวียนใหญ่ มีศักยภาพสูงมีรถไฟฟ้า 4-5 สาย อย่างบีทีเอส สายสีเขียว สถานีวงเวียนใหญ่-ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสินสายสีแดง สถานีลาดหญ้า สายสีม่วงใต้ ระยะทาง 500 เมตร อีกทั้งสายสีทอง สายสีน้ำเงิน มุดจากใต้วัดโพธ์ โผล่ที่สถานีอิสระภาพ ท่าพระ และอนาคตจะมีสายสีเทา ต่อเชื่อมสายสีน้ำเงิน 

อย่างไรก็ตามบริเวณนี้มีที่ดินเอกชนเป็นส่วนใหญ่ โดยกทม. มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์รวมแหล่งงาน มีทั้งออฟฟิศ โรงแรม ห้างฯ เพื่อดักคนฝั่งธนฯ ไม่ให้เข้าทำงานในเมือง

ส่วนรอบสถานีบางขุนพรหม มีแผนเลี่ยนแบบย่านบูกิส ของสิงคโปร์ ปรับถนนสามเสนให้สะอาดทันสมัย มีรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ผ่าน ซึ่งบริเวณนี้เน้นพัฒนาให้คงความเป็นเมืองเก่า ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เข้าพื้นที่ ชื่นชมศิลปวัฒนธรรม วัดวาอาราม สถานโบราณ วังบางขุนพรหม หรือแบงก์ชาติ ปัจจบัน แต่แฝงไปด้วยความทันสมัย

 

แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวว่า “ย่านบางขุนพรหมย่านเก่า มีรถสายสีม่วงใต้มีสถานีอยู่สามเสนตัดกับถนนวิสุทธิกษัตริย์ มีวัด 7-8 แห่ง เชื่อมพื้นที่ต่อเนื่องจากบางลำพู ข้ามไปยังฝั่งธน ส่งเสริมพัฒนาเมือง ในย่านเก่ารับนักท่องเที่ยวที่อนาคตสามารถเดินทางสะดวกขึ้น”

เช่นเดียวกับเตาปูน จุดเชื่อมต่อสำคัญ 3 สายรถไฟฟ้าสายสีม่วง-สายสีม่วงใต้ และสายสีน้ำเงินเชื่อมการเดินทางแล้วไปฝั่งธนต่อสายสีม่วงใต้ โดยมีจุดเริ่มต้นอยู่เตาปูน ใกล้ศูนย์คมนาคมตะวันออก มีตลาดเตาปูน รัฐสภาเกียกกายเป็นแม่เหล็กสำคัญ

 

บริเวณนี้กทม.ต้องการ ให้มีห้าง เพราะไม่เช่นนั้น ระบบรางได้รับผลกระทบแน่ และสุดท้าย ลำสาลี อินเตอร์เชนจ์ สายสีส้ม ตะวันออก สายสีเหลือง และสายสีน้ำตาล ที่มาจากแครายวิ่งมาที่บางกะปิ บริเวณ นี้จะสร้างสกายวอร์คเชื่อม และยกระดับเป็นย่านพาณิชยกรรมให้มากขึ้น 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563