เมืองการบิน  ความหวังใหม่ ฟื้นท่องเที่ยว  หนุนอสังหาฯ อีอีซี

10 ก.ค. 2563 | 19:00 น.

ผ่ามุมคิด

การเซ็นสัญญาของ 3 ทุนใหญ่ระดับประเทศ กับคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อร่วมลงทุนในโครงการพัฒนา “สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก” ล่าสุด นอกจากจะมีบทบาทสำคัญต่อการคมนาคมขนส่ง พลิกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศแล้ว อีกแง่ยังผูกพันกับภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีด้วย โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี ที่ถูกวางยุทธศาตร์ ให้เป็น “ไข่แดง” หนุนนำมายังภาคอสังหาริมทรัพย์ อย่างไรก็ตาม นายมีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดชลบุรี ระบุ โครงการพัฒนาดังกล่าว อาจมีแรงผลัก ฟื้นภาคท่องเที่ยวและอสังหาฯ ที่กำลังติดหล่มไม่เพียงพอ ร้องรัฐวางนโยบายสอดคล้อง โดยเฉพาะการแก้กฎหมายภาคที่อยู่อาศัย กระตุ้นโอกาส ไทยได้การตอบรับสูงจากชาวต่างชาติ คาดหลังโควิด ตลาดรีไทร์เม้นท์โฮม คึกคัก หวังฝั่งกลบปัญหา นอมินี พร้อมยกพื้นที่ “ห้วยโป่ง” เทียบชั้่นรีเวียร่าไทย

มีศักดิ์ ชุณหรักษ์โชติ

 

โปรเจ็กต์ยักษ์-ฟื้นท่องเที่ยว

สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกนั้น มีความสำคัญต่อพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซีไม่น้อย แต่ประโยชน์จะไม่เกิดขึ้นสมบูรณ์ หากเป็นการสร้างโครงสร้าง ,สาธารณูปโภคขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจหลักเท่านั้น โดยไร้แผนฟื้นฟูภาคท่องเที่ยว โดยตนมองว่า ที่ผ่านมาเมืองไทยได้รับการยอมรับสูงในภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต แต่กลับสะดุดในช่วงไวรัสโควิด-19 ฉะนั้น

เหตุใดรัฐไม่ใช้โอกาสที่ ณ ขณะนี้ ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นสูงจากนานาชาติ จากการจัดการรับมือการแพร่ระบาดของโรคได้ดี มาเป็นส่วนผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยมีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น การลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ควบคู่กับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น หลังจากอดีตจนถึงปัจุบัน เราพึ่งพาแต่สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ภูเขา ทะเล และเชิงวัฒนธรรมผ่าน ชุมชนดั้งเดิมต่างๆ โดยไม่มีสิ่งดึงดูดใหม่ๆ เพราะติดกับดักเรื่องแนวคิด กฎหมาย

“หากทำสนามบินเพื่อการบินอย่างเดียวคงไม่ใช่ รัฐควรผลักดันเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพัทยา หากทำควบคู่กันจะช่วยให้เป้าหมายสำเร็จเร็วขึ้น”

 

ฝังกลบ...นอมินีซื้อบ้าน

เช่นเดียวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเดิมทีได้รับความสนใจสูงมากในกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ เช่น ในโซนสัตหีบ, พัทยา แต่กลับมีอุปสรรคข้อจำกัดในการครอบครองคอนโดมิเนียม (สัดส่วนการถือครองกรรมสิทธิ์ 49%) และอย่างยิ่งในกลุ่มบ้านจัดสรร ที่ไม่สามารถซื้อ-ขายได้ เกิดเป็นการครอบครองแบบนอมินีผิดกฎหมาย ทั้งยังเกิดกรณีต่างชาติเข้าซื้อที่ดินไทยผ่านมือนอมินี เข้าพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยขายให้กับคนต่างชาติด้วยกันเอง โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีน, รัสเซีย, สแกนดิเนวีย, เยอรมัน ฯลฯ กลายเป็นความขาดทุนเสียเปรียบที่เกิดขึ้นคล้ายลักษณะ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ซึ่งในฐานะผู้ประกอบการ อสังหาฯในพื้นที่ไม่ต้องการให้ภาพดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะหากรัฐบาลแก้กฎหมายเพื่อรองรับความต้องการบ้านของชาวต่างชาติ เช่น กลุ่มผู้ซื้อคนจีน ที่นับวันมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เอกชนก็พร้อมจะตอบรับทันที โดยประโยชน์สูงสุด คือ รายได้ที่จะเข้าสู่มือท้องถิ่นและประเทศโดยตรง

“รัฐควรแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผ่านการแก้กฎหมาย เพราะถึงเวลาที่ต้องยอมรับแล้วว่า ต่างชาติมาซื้อบ้านอยู่อาศัยในเมืองท่องเที่ยวเยอะ อาจเน้นเฉพาะการซื้ออยู่อาศัยในโครงการบ้านจัดสรรเท่านั้น จะช่วยตอบสนองเรื่องการท่องเที่ยวและเมืองการบินได้อย่างดี”

 

ห้วยโป่ง ริเวียร่าไทย

 

นายมีศักดิ์ ยังกล่าวว่า อีอีซี มีพื้นที่หลายโซนที่เหมาะต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับกลุ่มผู้ซื้อต่างชาติ โดยมีสาธารณูโภคใหม่ๆ เช่น สนามบินอู่ตะเภา มอเตอร์เวย์ทั้งเส้นทางเก่าและใหม่ เป็นตัวผลักดัน ช่วงร่นระยะเวลาการเดินทางเข้าพื้นที่ โดยพื้นที่ที่น่าสนใจ เปรียบเสมือนโซน “ริเวียร่า” ของยุโรป ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวระยะยาว นั้น อยู่ในโซนรอยต่อของสัตหีบ และ พัทยา เรียก “ห้วยโป่ง” โดยหากรัฐสามารถเข้าไปเติมเต็ม พัฒนาสาธารณูปโภคหลักๆให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวก็จะมีศักยภาพสูงมากในอนาคต

“ชลบุรี อยู่ใกล้กรุงเทพฯ มีสาธารณูโภคขนาดใหญ่หลายด้านรองรับ เช่น สนามบิน เมื่อต่างชาติบินมาอู่ตะเภา ก็สามารถเดินทางเข้าสู่พัทยาได้โดยตรง มีศักยภาพสูงต่อภาคอสังหาฯ เราควรแก้กฎหมายเพื่อรองรับดีมานด์อย่างจริงจัง เพราะหากรัฐเอ่ย เอกชน
ผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็พร้อมจะสานต่ออย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยสูญเสียโอกาสการแข่งขันในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมามากแล้ว ขณะอนาคตก็มีแนวโน้มไม่สดใส ฉะนั้นรัฐเอง ควรใช้อุตสาหกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์จากการท่องเที่ยวเป็นตัวทดแทนศักยภาพที่หายไป 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจปีที่ 40  ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563