นายหน้าอสังหาฯไทย-เทศ  ตั้งลำรับอานิสงส์ตลาดบ้านใหม่หมดแรง

05 ก.ค. 2563 | 00:00 น.

ธุรกิจจับเสือมือเปล่า “นายหน้าอสังหาริมทรัพย์” สวนกระแสตลาดหลักติดลบ 39% อ้างได้อานิสงส์โควิด ทำดีเวลลอปเปอร์หมดแรง ยืมมือระบายสต๊อกมากขึ้น ขณะตัวแทนขาย-เช่า อสังหาฯให้ลูกค้าต่างชาติรายใหญ่ ร้องรัฐยืดวีซ่ากลุ่มเกษียณ รับดีมานด์ “อยู่ไทยปลอดภัยสุด” เตรียม Property Tour รับโอกาสช่วงครึ่งปีหลัง

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย ระบุในงานเสวนาวิชาการครั้งที่ 219 : ฟื้นอสังหาฯ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2563 มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง หลังจากสำรวจพบ 5 เดือนของปีใหม่ มีโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่เฉลี่ยเดือนละ 24 โครงการเท่านั้น นับรวมจำนวนประมาณ 5 พันหน่วย มูลค่า 2.06 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ติดลบถึง 30% เมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้ คาดการณ์ทั้งปี มีโครงการเปิดใหม่ไม่เกิน 319 โครงการ จำนวน 6.5 หมื่นหน่วย ติดลบ 39% ส่วนมูลค่าอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท ติดลบ 36% จาก 4.7 แสนล้านบาท เมื่อปี 2562 โดยน่ากังวลสุด คือ กลุ่มคอนโดมิเนียม มีสัดส่วนน้อยลงจากอดีตมาก นับเป็น 1 ใน 3 ของตลาดเท่านั้น สะท้อนภาวะหมดแรง ขณะกลุ่มทาวน์เฮาส์เปิดใหม่ปีนี้มาแรง เพิ่มสัดส่วนขึ้นอยู่ในระดับ 40% รองลงมา เป็นกลุ่มบ้านเดี่ยว และอื่นๆ

โสภณ พรโชคชัย

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังติดตามภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก เนื่องจากมีความเกี่ยวพันกันโดยตรง หลังล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุ ว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ปี 2563 อาจติดลบมากถึง 7.7% เช่นเดียวกับ ภาวะราคาที่ดิน ที่โดยรวมยังปรับตัวขึ้นสูง สวนทางภาวะเศรษฐกิจและราคาที่อยู่อาศัย คาดทั้งปีปรับแรงถึง 8%

ส่วนแง่การขายในการตลาดที่อยู่อาศัย พบสถานการณ์โควิด-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจหดตัวนั้น ทำให้หลายดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน หลายรายตกที่นั่งลำบาก มียอดขายลดลงชัดเจนส่งผลตำแหน่งผู้นำตลาดมีการสลับสับเปลี่ยนการขึ้น-ลงอย่างมีนัย พบช่วง 5 เดือนแรกของปี จากบริษัทมหาชนที่กินส่วนแบ่งตลาดเกิน 2 ใน 3 จำนวนมากกว่า 40 บริษัทนั้น มีเพียง 15 บริษัทที่กล้าเสี่ยงเปิดขายโครงการใหม่ ขณะเดียวกัน กลับพบว่า ตลาดนายหน้า เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะดีเวลอปเปอร์ขายยาก พยายามดิ้นรนนำทรัพย์ออกขาย เพื่อสร้างสภาพคล่อง

ด้านนายประวิทย์ อนุศิริ นายกสมาคม นายหน้าแห่งประเทศไทย ระบุ สถานการณ์โควิดที่พ่นพิษตลาดบ้านใหม่นั้น กลับเป็นอานิสงส์ของตลาดบ้านมือสอง พบลูกค้าบางส่วนเริ่มไม่มั่นใจกับระเบิดสงครามราคา, ราคาโครงการใหม่ที่ไร้เสถียรภาพ ปรับขึ้นลงตามใจดีเวลลอปเปอร์ เปลี่ยนใจมามองโปรดักต์มือ 2 มากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือน มีนาคม-เมษายน ที่คนกักตัวอยู่บ้าน มีการคลิกค้นหาบ้านเพิ่มขึ้น เพียงแต่นายหน้า หรือโบรกเกอร์ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการขายใหม่ จากต้องพบปะหาสู่ลูกค้า ก็พลิกมาสู่ออนไลน์ และสื่อสารผ่านโทรศัพท์มากขึ้น ขณะเดียวกัน พบดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ๆ กลับมาให้ความสนใจกลุ่มโบรกเกอร์มากขึ้น เพราะต้องการเคลียร์สต๊อกเก่า-ใหม่ มองขณะนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กำลังอยู่ในสถานะ “รีสตาร์ตเครื่องใหม่” โดยมองอาชีพโบรกเกอร์จะเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น

“โบกเกอร์บางรายมีทรัพย์ในมือ 200-300 ยูนิต มากกว่าผู้พัฒนาโครงการบางบริษัทด้วยซํ้า พบโควิดก่อให้เกิดนายหน้าหน้าใหม่ในตลาดเพิ่มขึ้น น่าสนใจว่า แม้แต่ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ของตลาด ก็ยังมาขอพึ่งพาให้โบกเกอร์ช่วยขาย”

ทั้งนี้ จากคาดการณ์บ้านใหม่ปี 2563 จะมีราคาลดลง 10-15% ไม่ได้มีผลต่อตลาดบ้านมือ 2 เพราะเป็นตลาดที่ขึ้นอยู่กับทำเลเป็นหลัก

เช่นเดียวกับ นางสาว อรุณี เทียมหงษ์ นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มเครือข่ายลูกค้าต่างชาติ ระบุว่า ปัจจุบัน ประกอบกิจการขาย-ปล่อยบ้านเช่าให้ลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มคนเกษียณอายุ ตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป พบสถานการณ์โควิดมีทั้งแง่ลบและแง่บวกเกิดขึ้น เบื้องต้นกระทบในกลุ่มลูกค้าที่อยู่ระหว่างศึกษา ตัดสินใจ เช่า-ซื้อ และต่อสัญญาเท่านั้น แต่สำหรับกลุ่มโบรกเกอร์ ที่มีเครือข่ายกับลูกค้าต่างชาติ ยกเว้นชาวจีน ก็ยังมีลูกค้า ที่ประกอบอาชีพ หรือ ทำธุรกิจในไทย เข้ามาซื้ออย่างต่อเนื่อง น่าสนใจสุด คือ กลุ่มที่มองหาความสุขสมบูรณ์ด้านสุขภาพ (Wellness) ก็มีการมองหาโครงการที่อยู่อาศัยในไทยมากขึ้น รัฐควรใช้โอกาสนี้รองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น

“เราต้องเริ่มตระหนัก ว่าจะใช้จุดเด่นตรงไหนของประเทศไทย ขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ให้ไปต่อได้ ในเมื่อตลาดผู้ซื้อ-ผู้เช่าต่างชาติบางกลุ่มยังมีความต้องการสูง”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลัง ยิ่งมั่นใจว่าตลาดต่างชาติจะกลับมาคึกคัก หลังจากทั่วโลกยกย่องชมเชย การสาธารณสุขของไทย ต่อการรับมือกับวิกฤติด้านสุขภาพ “การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ” ได้อย่างดี การันตีประเทศไทยปลอดภัยสุด ส่งผลให้ขณะนี้ชาวต่างชาติจำนวนมาก เริ่มเล็งเข้ามาลงทุนทำธุรกิจและอยู่อาศัยระยะยาวในไทย จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาล เร่งวางยุทธศาสตร์ แก้กฎหมายเพื่อรองรับกลุ่มคนดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เช่น การยืดระยะเวลาวีซ่าสำหรับสิทธิพิเศษกลุ่มชาวต่างชาติผู้สูงอายุ ให้นานกว่า 5 ปี หลังจากปัจจุบันกลุ่มคนดังกล่าว เพิ่มสัดส่วนสูงถึง 30% ของประชากรโลก และต้องการที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมมากขึ้น โดยไทย เป็นเมืองเป้าหมายอันดับต้นๆของโลก 

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563