ทุนยักษ์สะเทือน ผังกทม.ใหม่ เลื่อนยาวธ.ค. 64 

04 ก.ค. 2563 | 00:10 น.

ทุนยักษ์ซีพี-ทีซีซี-เซ็นทรัล-ปตท. ดิ้นผวาเมืองมิกซ์ยูสสะเทือน ตบเท้า ขอกทม.เร่งคลอดผังเมืองกทม.ใหม่ หลังเจอต่อเกณฑ์กฎหมายแม่ เลื่อนยาวข้ามปีบังคับใช้อย่างเร็ว ธ.ค. 64

ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ส่อแววเลื่อนยาว ล่าสุด กำหนด บังคับใช้ เดือนธันวาคม 2564 จากเดิมมีแผนบังคับใช้ ปลายปี 2563 ปมใหญ่ ติดสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถประชุมในวาระสำคัญได้ แต่ที่สำคัญกว่า คือ ถูกล็อกด้วยกฎหมายแม่ อย่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การผังเมืองปี 2562 ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้การปฏิบิตตามกฎหมายเก่า ปี 2518 จำนวน 18ขั้นตอน เป็นอันต้องยกเลิก ไป และหันมาดำเนินตามกฎหมายการผังเมือง ฉบับปี 2562 ที่ต้อง มีคณะกรรมการมากถึง 4 ชุด และปัจจุบัน ตั้งได้เพียงชุดเดียว คือ คณะกรรมการผังเมืองแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ขณะที่คณะกรรมการอีก 3 ชุด ยังไม่ได้แต่งตั้ง โดยเฉพาะคณะกรรมการกลาง ที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ตามมาตรา 110 ที่ ทุกกิจกรรมทางผังเมืองทั่วประเทศต้องฟังคำสั่งของคณะกรรมการชุดนี้ และบอร์ดกลางจะมีอำนาจหน้าที่ ตั้ง คณะกรรมการจังหวัด ซึ่งทั่วประเทศจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ขณะกรุงเทพ มหานคร มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน จากนั้นจึงตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวม จังหวัดขึ้นมา หากเป็นกทม.จะมีผู้ว่ากทม.เป็นประธาน

ทุนยักษ์สะเทือน ผังกทม.ใหม่ เลื่อนยาวธ.ค. 64 

สำหรับขั้นตอนกฎหมายใหม่ส่งผลให้ การจัดทำผังเมือง ต้องหยุดชะงักแม้ผ่านกระบวนการตามขั้นตอน มาเกือบครบ 18 ขั้นตอนตามกฎหมายเก่า ตลอดจนผ่านการรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้วก็ตาม ส่งผลให้เกิดความล่าช้า และต้องรอผ่านขั้นตอนบอร์ดใหม่ทั้ง 4 ชุด

เมื่อเทียบกับกฎหมายแม่ (ผังเมืองปี 2518) เดิมมีเพียงคณะกรรมการผังเมืองชุดใหญ่เพียงชุดเดียว ทั้งนี้หากเห็นชอบร่างกฎกระทรวง ก็สามารถเสนอ ต่อกระทรวงมหาดไทยลงนามประกาศใช้ได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สร้าง "สะพาน-ศูนย์ราชการฯ สระบุรี" หนุนถนนผังเมืองรวม ข2

กทม.ครองใจเศรษฐีต่างชาติย้ายมาพำนัก

รื้อใหญ่ข้อกำหนดบ้านจัดสรรในกทม.เน้นรักษ์โลก

ที่สำคัญ เนื่องจาก กฎหมายแม่ (การผังเมือง) ปี 2562 ต้องการกระจายบทบาทให้ท้องถิ่น ดังนั้นผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับนี้จะเป็นฉบับแรก ที่มีสถานะเป็นข้อบัญญัติผังเมือง กทม. พ.ศ 2564 จากเดิมเป็นกฎกระทรวงผังเมืองรวมกทม. แต่ความศักดิ์สิทธิ์เท่าเทียมกัน และจากการเลื่อนบังคับใช้ผังเมืองออกไปยังปลายปี 2564 แต่ไม่แน่ชัดว่า จะเลื่อนไปเป็นปี 2565 หรือไม่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลอดจนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบจากแผนลงทุน ที่จะเกิดขึ้นเนื่องจาก ผังเมืองกทม. ฉบับใหม่เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองมากกว่า ผังเมืองฉบับเก่า

แหล่งข่าวจากกทม. ยอม รับว่า จากแผนเลื่อนการบังคับใช้ข้อบัญญัติผังเมืองรวมกทม. ออกไปเดือนธันวาคม 2564 ส่งผลกระทบต่อแผนลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ทั้งเอกชนและ รัฐวิสาหกิจ ที่คาดหมายว่า จะใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง ตลอดจนสิทธิ์ประโยชน์ได้มาก ขึ้น โดยมีเอกชนรายใหญ่ และรัฐวิสาหกิจ ติดต่อมายังกทม. ขอให้เร่งประกาศใช้ผังเมืองในปี2563 เพื่อลงทุนตามแผนปี 2564 ได้แก่ กลุ่มซีพี ที่ต้องการลงทุนเมืองมักกะสัน แม้ว่าผังเมืองเก่า การพัฒนาจะได้ใกล้เคียงกัน เนื่องจากกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง (ประเภทพาณิชยกรรม) แต่สิทธิ์ประโยชน์ โบนัส ที่จะได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทีซีซีของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีที่ดินหลายแปลงรอพัฒนาอย่างที่ดินแปลงเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) 200 ไร่ ที่ดินแปลงติดเอเชียทีค ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีแผนพัฒนาเป็นโรงแรม 100 ชั้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเซ็นทรัล มีแผนพัฒนามิกซ์ยูส บนที่ดิน 48 ไร่ ตรงข้ามแดนเนรมิต ติดบีทีเอสสายสีเขียวเหนือ พหลโยธิน ซึ่งทำเลนี้ปรับจากพื้นที่สีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) เป็นพื้นที่สีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเดอะมอลล์ และ รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน ) ซึ่งมีแผนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส 60 ไร่ ติดสถานีรถไฟสายสีแดงหลักสี่

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีแผนพัฒนา โครงการ บ้านผู้มีรายได้น้อยที่จะได้สิทธิ์โบนัส พัฒนาได้มากขึ้น รวมถึงให้เอกชนร่วมลงทุนพีพีพี บนที่ดินร่มเกล้า 200 ไร่ การท่าเรือแห่งประเทศไทยมีแผนนำที่ดิน กว่า 2,000 ไร่ ออกพัฒนา การรถไฟแห่งประเทศ ไทย ที่ดินมักกะสันและแปลงอื่นที่เปิดให้เอกชนลงทุน การนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มูลนิธิจุฬาฯ ที่มีแผนขึ้นโรงงานยา รวมถึงดีเวลอปเปอร์ที่ต้องการพัฒนาตามผังเมืองกทม.ใหม่ อย่างไรก็ตามกทม.ได้ทำความเข้าใจกับ เอกชนและ รัฐวิสาหกิจ ดังกล่าว เนื่องจาก ทุกขั้นตอนต้องเดินตามกฎหมายการผังเมือง ปี2562 ทางออกที่ดีที่สุด คือ การชะลอโครงการไปจนกว่า ผังเมืองใหม่จะบังคับใช้ 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,588 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563