สปท.ระดม20องค์กรเครือข่าย ปลุกพลังขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

15 เม.ย. 2559 | 10:00 น.
น่าสนใจว่า หลังจากที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ชุดของ "มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นประธาน ได้เปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สาระสำคัญประการหนึ่ง หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว กำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.)หมดวาระเร็วขึ้น 4 เดือน ท่ามกลางความกังวลของสมาชิกสปท.ว่า จะส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านที่จะขาดความต่อเนื่องลงได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน ที่ผ่านมา สปท. นำโดย ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. เดินหน้ายุทธศาสตร์เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในห้วงเวลาที่เหลืออยู่นี้ โดยทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU)ในการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศระหว่างสปท.กับ 20 องค์กรเครือข่ายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อาทิ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สภาแรงงานภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ที่ประชุมสภานิสิตนักศึกษาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)แห่งประเทศไทย สภาพัฒนาการเมือง สภาองค์กรชุมชน สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แห่งประเทศไทย ชมรมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) 57 สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย คณะประสานงานองค์กรชุมชน 77 จังหวัด สมาพันธ์ปลัดอบต.แห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่ 1 ระบุถึงวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยูในครั้งนี้ว่า เพื่อให้เกิดขบวนการปฏิรูป (Reform Movement) ในทุกระดับทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนมุ่งหวังว่าประชาชนทุกภาคส่วนจะเกิดความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศเพื่อนำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นใน 11 ด้านการปฏิรูป โดยมี 3 ภารกิจหลักสำคัญ คือ 1.เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจการปฏิรูปประเทศสู่สมาชิกและสาธารณชน 2.ร่วมสร้างผู้นำการปฏิรูปทุกภาคทั่วประเทศ และ 3.ร่วมจัดตั้งและพัฒนาสถาบันการปฏิรูป (Reform Academy) ที่จะครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด

"ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศขึ้นกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และทุกภาคีภาคส่วนและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สปท.จึงเริ่มยุทธศาสตร์ "เครือข่ายปฏิรูปทั่วไทย" ขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มกราคมเป็นต้นมา จนสามารถบรรลุความตกลงกับ 20 องค์กรเครือข่ายดังกล่าว และจะขยายผลต่อไป คาดหวังว่า ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะมีองค์กรเครือข่ายเพิ่มเป็น 50 องค์กร" นายอลงกรณ์ รองประธาน สปท. คนที่ 1 ระบุ

ทั้งนี้ สำหรับบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อแสดงว่าทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อตกลงในการให้ความร่วมมือกันเพื่อผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมตามเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆตามแผนการปฏิรูปประเทศที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอันจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติจึงลงนามร่วมกันไว้เป็นหลักฐาน

 ส่งสัญญาณภาคีเครือข่ายร่วมปฏิรูปประเทศ

ด้านนาย กษิดิ์เดชธนทัต เสกขุนทด อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะตัวแทนชมรม สปช. 57 กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ระบุถึงการลงนามครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศครั้งนี้ไม่ใช่การปฏิรูปโดยสมาชิก สปท. แต่เป็นการปฏิรูปโดยทุกภาคีเครือข่าย ที่วันนี้ส่งตัวแทนมา ซึ่งมีโครงข่ายอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น กระบวนการการสื่อสารการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้านนั้นจะกระจายไปสู่ภาคีเครือข่ายทุกกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวเนื่อง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ในเรื่องเหล่านั้นที่จะกระจายไปทั้งประเทศ ที่สำคัญเป็นพื้นที่ที่ทุกเครือข่ายสามารถนำมาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องที่ตนเองเกี่ยวข้องอยู่ ทำให้ทุกเครือข่ายมีที่ยืน ลุกขึ้นมาสะท้อนความเห็นแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในเรื่องเหล่านั้นได้ ทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไปได้

นอกจากนี้การลงนามในวันนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังกลุ่มภาคีเครือข่ายว่า สปท.ได้เปิดพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ มากยิ่งขึ้น จากเดิมไม่มีพื้นที่แสดงความคิดเห็นและเพื่อความร่วมไม้ร่วมมือกันเท่าที่ควร ยังมีข้อจำกัดอยู่ จะเป็นการสื่อสารไปยังฐานรากที่มีชุดคณะทำงานที่จะหยิบยกเรื่องการปฏิรูปมาพูดคุยกันเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม เป็นการย้อนกลับไปสู่ฐานพีระมิดด้านล่างอีกครั้งหนึ่ง"

ต่อข้อซักถามที่ว่า มีความกังวลกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ของ สปท.หรือไม่นั้น ระบุว่า เรื่องของเวลาไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่อยากให้เห็นว่า เป็นเรื่องที่ต้องทำให้เกิดขึ้น โจทย์ใหญ่วันนี้เพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มก้อนต่างๆ ว่า เรื่องการปฏิรูปไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา ประชาชนทั่วไปไม่รู้ ยังไม่เห็นพื้นที่ที่จะมาร่วมได้ วันนี้จึงเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มก้อนต่างๆ เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนในระดับฐานรากเกิดขึ้น

"หากเราจุดไฟส่วนนี้ได้ ซึ่งความร่วมมือที่เกิดขึ้นในวันนี้ มีฐานของความเป็นองค์กรถือเป็นฐานที่สำคัญที่จะเป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศให้เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุม สัมมนาเชื่อมโยงข้อมูลกันโดยตลอด"

 "เอกชัย" หวั่น ประชามติไม่ผ่าน ปฏิรูปปท.สะดุด

ด้าน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า สะท้อนความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การลงนามเอ็มโอยูครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่ดีที่ให้เกิดการขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยภาคประชาสังคม เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมจากฐานรากอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิรูปไม่ได้หยุดอยู่ที่ส่วนบน แต่ได้ลงไปไม่ถึงข้างล่าง การสร้างภาคีเครือข่ายครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี

อย่างไรก็ดี เห็นว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มิได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่ได้ดำเนินการ และเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยที่มี สปช. ที่ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นของทุกภาคส่วนทั่วประเทศกว่า 1,000 เวที แต่มาสะดุดหยุดลงเมื่อ สปช.ครบวาระ ก่อนเปลี่ยนมือมาถึง สปท.ที่กว่าจะตั้งตัวได้ก็เกือบหมดวาระอีกเช่นกัน

โดยส่วนตัว มองว่า ยังมีความต่อเนื่องอยู่ นับจากที่สปช.ทำไว้ แล้วมาสานต่อขับเคลื่อนโดย สปท. ควบคู่ไปกับภาครัฐที่ได้เดินหน้าไปแล้ว แต่สิ่งสำคัญ คือ จะเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม และทำให้เกิดความต่อเนื่องได้อย่างไร การทำเอ็มโอยูในวันนี้จึงเป็นการอุดช่องโหว่ในเรื่องได้อย่างดี" พล.อ.เอกชัย ระบุ พร้อมคาดหวังว่า เมื่อสปท.หมดวาระไปแล้ว ภาคีเครือข่ายต่างๆเหล่านี้จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆต่อไปได้

ต่อข้อสังเกตที่ว่า พิธีลงนามครั้งนี้จะไม่เป็นเพียงพิธีการ ตัวแทนที่มาลงนามเป็นตัวจริงหรือไม่นั้น พล.อ.เอกชัย สะท้อนความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ต้องรอดูกันต่อไปว่า ภาคีเครือข่ายเหล่านี้จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไปได้อย่างไร ทั้งนี้ เชื่อว่า ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้นอกจาก สปท.จะต้องทำความเข้าใจกับภาคีเครือข่ายโดยจัดลำดับความสำคัญว่า ต้องปฏิรูปเรื่องใดก่อนหลัง เรื่องใดภาคีเครือข่ายมีความต้องการแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ซ้อนทับกันอยู่ในห้วงเวลานี้ คือ การทำประชามติ ร่างรธน.ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน โดยการปฏิรูปนั้นเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ขณะที่เรื่องของ รธน.เป็นเรื่องระยะสั้น หากผ่านประชามติไปได้นับว่า เป็นเรื่องที่ดี และส่งผลถึงความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศ แต่ถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็จะทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปสะดุดหยุดลง และย้อนกลับไปที่รัฐบาลอีกรอบ

สำหรับปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นมี 2 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1.รัฐบาล ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลัก ซึ่งที่ผ่านมาได้รับข้อเสนอแนะของ สปช.ไปดำเนินการแล้วหลายเรื่อง และ 2.สปท. ที่ต้องขับเคลื่อนเดินหน้าสนับสนุนงานของรัฐบาล ไม่ทำซ้ำซ้อนกัน และด้วยเวลาที่จำกัดนี้จำเป็นต้องตัดงานบางส่วนออกไปให้เหลืองานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,147 วันที่ 10 - 13 เมษายน พ.ศ. 2559