ผุดคอนโดฯเปิดใหม่  ยอดต่ำสุดในรอบ 10 ปี  

28 เม.ย. 2563 | 09:20 น.

มีหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าตลาดคอนโดมิเนียมในปีนี้จะชะลอตัวลงไปไม่ต่ำกว่า 10-15% โครงการเปิดขายใหม่ลดลงจากปัจจัยลบ แต่เมื่อเจอวิกฤติไวรัสโควิด-19 และเห็นการแพร่ระบาดไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว

 ความเชื่อมั่นต่างๆ ที่มีไม่มากก่อนหน้า ก็แทบเป็นศูนย์ทันที ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เลือกการระบายโครงการสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่มากกว่าการเปิดขายโครงการใหม่ และเกิดการแย่งชิงกำลังซื้อส่วนน้อยในตลาดด้วยการเปิดสงครามราคา ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่งพอให้ฝั่งผู้ประกอบการพอมีรายได้หมุนเวียนในช่วงไตรมาสแรก

ต้องยอมรับว่าอัตราการขายคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในไตรมาสแรก ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพมหานคร อัตราการขายคอนโดมิเนียมเปิดใหม่แต่ละไตรมาสสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและสภาพตลาดในไตรมาสนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยการที่อัตราการขายคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ต่ำที่สุดในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของคนไทยที่ลดต่ำลงได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับการที่ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่เดือนกุมภาพันธ์ ที่ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสำรวจมาอยู่ที่ 29.6 ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี

สุรเชษฐ กองชีพ

 

นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ วิเคราะห์ว่า คอนโดมิเนียมประมาณ 4,611 หน่วย เปิดขายใหม่ในไตรมาสแรกลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาประมาณ 59% และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณ 32% ส่วนใหญ่เปิดขายในเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ ส่วนเดือนมีนาคมมีไม่มากนัก และผู้ประกอบการบางรายเลือกที่จะเปิดเพียงสำนักงานขายโครงการเท่านั้น แต่ยังไม่เปิดขายแบบเป็นทางการในไตรมาสแรก เพราะรู้ว่าคงเป็นการยากในการดึงดูดผู้ซื้อในภาวะเช่นนี้

ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เร่งปิดการขายโครงการที่สร้างแล้วเสร็จเพื่อให้เกิดการโอนกรรมสิทธิ์โดยเร็วเพื่อมีรายได้ในระยะเวลาสั้นๆ มากกว่าหวังรายได้ไม่มากจากการผ่อนดาวน์ระยะยาวที่ได้จากการเปิดขายโครงการใหม่ เมื่อต้องการเร่งปิดการขายโครงการที่สร้างเสร็จจึงมีสงครามราคาเกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกแต่เห็นความรุนแรงมากขึ้นผู้ประกอบการลดราคาโครงการสร้างเสร็จพร้อมเข้าอยู่ในอัตรา 10-35%

มากกว่านี้ก็มีในบางโครงการและในบางหน่วยหรือเปิดขายในราคาที่เท่าเดิมกับตอนเปิดขายพรีเซลหรือก่อนพรีเซลแต่มีของแถมและสิทธิพิเศษที่มากกว่าแบบเห็นได้ชัด ผู้ประกอบการบางรายลดราคาแบบยอมเสียหน้าหรือว่ายอมให้คนที่ซื้อไปก่อนหน้านี้ต่อว่า จริงอยู่ที่หน่วยเหลือขายจะเป็นหน่วยที่อาจจะมีมุมที่ไม่ดีหรือชั้นล่างๆ ลงมา แต่ยังคงน่าสนใจสำหรับคนที่พร้อม

ส่วนลด และของแถมหรือมาตรการทางการตลาด ที่ออกมากระตุ้นกำลังซื้อสำหรับโครงการที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ มีความหลากหลายและมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้มาก โดยเฉพาะเรื่องของการลดราคาที่เห็นได้ชัดเจนว่าผู้ประกอบการยอมลดราคาลงมากันแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดังนั้น ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ซื้อที่มีความพร้อม แต่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการซื้อขายที่อยู่อาศัยในช่วงนี้คือ LTV ที่มีผลโดยตรงต่อกำลังซื้อส่วนหนึ่งที่มีความพร้อม อีกทั้งเรื่องของการขอสินเชื่อธนาคารที่ยังคงความเข้มงวดอยู่เช่นเดิมแม้ในภาวะตลาดแบบนี้

ผู้ประกอบการรายใดที่มีภาระหนี้สินหรือดอกเบี้ยธนาคารต้องจ่ายมากในปีนี้ รวมไปถึงเพิ่งเปิดขายโครงการใหม่ๆ ในปีที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการก่อสร้างในปีนี้ รวมไปถึงผู้ประกอบการที่มีภาระหุ้นกู้ซึ่งจะครบกำหนดในปีนี้คงต้องเร่งหารายได้หรือลดค่าใช้จ่ายลงโดยเร็วเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้

รวมไปถึงภาวะเศรษฐกิจในปี 2563-2564 ที่จะยังคงไม่กลับมาขยายตัวแบบก้าวกระโดดทันทีแน่นอน อีกทั้งธุรกิจหลายๆ อย่างยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวอีกระยะ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยจึงยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวเช่นกัน เพราะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงไม่กลับมาในไม่กี่เดือนนี้

 

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,569 วันที่ 26-29 เมษายน 2563