‘บีทีเอสซี’ขอลุยรถไฟฟ้าก่อนไฮสปีด

08 เม.ย. 2559 | 06:00 น.
แม้ว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมมูลค่ากว่าแสนล้านบาทจะเร่งเปิดประกวดราคา เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง 3-4 เส้นทาง โดยเฉพาะ 2 เส้นทางคือ กรุงเทพฯ-ระยอง และกรุงเทพฯ-หัวหิน ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนด้วย แต่ดูเหมือนว่าจะมีผู้ประกอบการในวงการรถไฟฟ้าไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกจับตามองว่าจะเข้าร่วมแข่งขันประมูลหรือไม่ แน่นอนว่าชื่อของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารจัดการรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบันจะเป็นเต็ง 1 ในนั้นมาโดยตลอด

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อลุยเมกะโปรเจ็กต์

 บีทีเอสเข้าร่วมประมูลทุกสีแน่

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ที่รฟม.เร่งผลักดันยืนยันว่าบีทีเอสจะเข้าร่วมประมูลด้วยอย่างแน่นอน โดยอาจจะร่วมกับกลุ่มผู้รับเหมาที่เสนอเงื่อนไขที่ดีเข้าร่วมดำเนินการหากเป็นโครงการที่ต้องก่อสร้าง และเดินรถไปพร้อมกัน แต่ไม่ได้เจาะลงว่าจะใช้รายใดรายหนึ่งเนื่องจากช่วงที่ก่อสร้างบีทีเอสก็ใช้กลุ่มบริษัทอิตาเลียนไทยเข้าไปดำเนินการมาแล้ว ดังนั้นเส้นทางอื่นๆก็น่าจะสามารถร่วมกับรายอื่นเข้าไปดำเนินการได้เช่นกัน

ประการสำคัญบีทีเอสมีประสบการณ์ด้านบริหารจัดการเดินรถมานานกว่า 10 ปี จึงสามารถเข้าไปรับบริหารจัดการและเดินรถไฟฟ้าได้ทุกเส้นทางตามที่รฟม.อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างและเตรียมเปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง หรือสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ที่จ่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเปิดประมูล

 จับคู่ซิโน-ไทยลุยพีพีพีสายชมพู/เหลือง

ล่าสุดนั้นคาดว่าจะร่วมกับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประมูลแข่งขันโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลืองที่ต้องก่อสร้างเส้นทางและรับเดินรถ บริหารจัดการเดินรถไฟพร้อมกัน(รูปแบบพีพีพีทั้งโครงการ) ซึ่งรถไฟฟ้าโมโนเรลนั้นแม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่แต่บีทีเอสก็พร้อมเข้าไปดำเนินการ

 เล็งสีส้ม เชื่อมต่อบีทีเอส

แต่สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มแล้ว แม้ว่าจะแยกการก่อสร้างและการเดินรถ-บริหารเดินรถออกจากกัน บีทีเอสยังยืนยันว่า พร้อมเข้าไปประมูลเดินรถและบริหารจัดการเดินรถในโครงการดังกล่าวนี้

"เพราะเล็งเห็นว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มสามารถเชื่อมกับบีทีเอสได้ที่สถานีราชเทวี ซึ่งเป็นการเพิ่มผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสปัจจุบันได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกด้านบริการ อีกทั้งยังจัดเป็นเส้นทางผ่านกลางใจเมืองจากพื้นที่โซนกรุงเทพมหานครด้านตะวันตกไปสู่ด้านตะวันออกซึ่งทั้ง 2 โซนล้วนมีโอกาสเติบโตของพื้นที่ได้อย่างดีในอนาคต อีกทั้งยังผ่านกลางใจเมืองและผ่านแหล่งธุรกิจสำคัญ แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะสนใจใช้บริการไม่น้อยไปกว่าบีทีเอสที่ให้บริการในปัจจุบันนี้เมื่อเปิดให้บริการแล้ว"

 ไม่ฟันธงประมูลรถไฟเร็วสูง 3-4 เส้นหรือไม่

ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าสนใจหรือไม่เพราะรถไฟฟ้ายังมีอีกหลายเส้นทางให้โอกาสบีทีเอสรับงานไปดำเนินการ เช่นเดียวกับไฮสปีดเทรนที่จะต้องร่วมกับพันธมิตรจากต่างประเทศซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีสูงมาก แต่อย่างไรก็ตามจะต้องขอพิจารณารายละเอียดตลอดจนร่างทีโออาร์โครงการให้ชัดเจนก่อน

"ความท้าทายสูงกว่าการประมูลเดินรถไฟฟ้าที่ถือว่าบีทีเอสมีประสบการณ์พร้อมแล้ว ทั้งบุคลากรที่เรียนรู้มานานไม่น้อยกว่า 10 ปี สิ่งหนึ่งนั้นบีทีเอสมีพันธมิตรที่ดีพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะบริษัทรับเหมาชั้นนำ ตลอดจนบริษัทผู้ผลิตระบบอาณัติสัญญาณรถไฟและรถไฟฟ้าที่ใช้งานได้ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพมาแล้ว"

ประการสำคัญ บีทีเอสยังมีกองทุนบีทีเอสโกรท พร้อมนำไปลงทุนพัฒนาโครงการต่างๆ หากจำเป็นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก สามารถระดมทุนได้หลักแสนล้านบาทได้ในช่วงเวลาที่รวดเร็ว อีกทั้งยังได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นต่อการลงทุนสำหรับการบริหารจัดการรถไฟฟ้าทั้งจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้นแนวทางการเข้าไปร่วมแข่งประมูลก่อสร้าง หรือรับเดินรถและบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย จึงเป็นสิ่งท้าทายสำหรับบีทีเอสภายใต้การทำหน้าที่ซีอีโอของ "สุรพงษ์ เลาหะอัญญา" ผู้ที่คร่ำหวอดวงการรถไฟฟ้ามานานกว่า 10 ปีที่บีทีเอส อีกทั้งยังได้รับการคาดหมายว่ารถไฟฟ้าอีกหลายเส้นทางที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันคงจะเปิดโอกาสให้ชนะการประมูลเข้าไปรับดำเนินการตามที่หวังอีกหลายเส้นทางในอนาคตอันใกล้นี้แน่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,146 วันที่ 7 - 9 เมษายน พ.ศ. 2559