อสังหาฯปรับแผน  ลดเสี่ยง รับมือโควิด-19

06 เม.ย. 2563 | 01:54 น.

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ได้รับผลกระทบรุนแรง แบบไม่ทันตั้งตัว จากมหันตภัยร้ายไวรัสโคโรนา-19” หลังจาก ปีที่ผ่านมาต่างประสบกับปัจจัยลบ หลายตัวแปร ทั้งลูกค้าต่างชาติ อย่างจีน หายไปจากตลาด แม้ปีที่ผ่านมา จะมียอดการโอนกรรมสิทธิ์ กว่า 5 หมื่นล้านบาทของชาวต่างชาติหากเทียบจากปี 2561 ตัวเลข ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุยอดโอนกรรมสิทธิ์ สูงถึง 9 หมื่นล้านบาท สำหรับลูกค้าชาวจีนปีนี้เชื่อว่า น่าจะลดน้อยลง

 

ขณะการตั้งรับของดีเวลอปเปอร์ทั้งค่ายใหญ่ยันภูมิภาคเลิกพึ่งพาลูกค้าต่างชาติ หันระบายสต็อกสินค้าในมือและชะลอเปิดตัวโครงการใหม่

 

มหกรรมลดแลกแจกแถมลดราคาหาหนทางเร่งโอน ให้ผ่านไตรมาสแรก และ ก้าวสู่ไตรมาส 2 อย่าง บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)หรือค่ายเสนา ผ่อน 0 บาท นาน 6 เดือน เช่นเดียวกับบมจ.อนันดานำโครงการคอนโดมิเนียมทำเลพหลโยธิน 34 ออกแคมเปญผ่อนดาวน์ช่วยลูกค้าครึ่งหนึ่งของจำนวนค่างวด ด้าน บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า หากพ้นช่วงวิกฤติ เชื้อโรคนี้ไปได้ ผู้ประกอบการต้องปรับกระบวนยุทธ์กันใหม่ ทั้งรูปแบบการขาย การเจาะกลุ่มเป้าหมาย มุ่งเน้นไปด้านดิจิทัลมากขึ้น ขณะปัจจุบัน ต้องระบายการขาย ให้มากที่สุด เพื่อให้ตัวเลขผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาสวยงาม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบก็ตามไม่ต่างจาก ค่ายพฤกษา

 

นาย ปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษาเรียลเอสเตท-แวลู ที่ยอมรับว่า ไวรัสโคโรนา กระทุบธุรกิจอสังหาฯค่อนข้างมาก ส่งผลให้โครงการต่างๆ ต้องถูกชะลอออกไปอย่าง โครงการย่านบางกะปิที่เคยวางแผน ขึ้นโครงการ จำนวน 2,000 หน่วย ในปลายปีนี้ ต้องขยับออกไปไม่มีกำหนด พร้อมทั้งลดค่าใช้จ่ายตามไซซ์งาน รักษาสภาพคล่องไว้ในมือให้มากที่สุด จ้างผู้รับเหมาช่วงเป็นรายโปรเจ็กต์ มากกว่าลงทุนเอง

อสังหาฯปรับแผน  ลดเสี่ยง รับมือโควิด-19

เช่นเดียวกับ ดีเวลอปเปอร์ นครราชสีมาได้รับผลกระทบไม่ต่างจากกรุงเทพฯและปริมณฑล นายกฤช หิรัญกิจ ประธานที่ปรึกษาสมาคมอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ได้ปรับตัวมาก่อนล่วงหน้า จากปรมาจารย์ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และด้านการเมือง แนะนำว่า ในปีนี้ปีหน้ายังไม่ควรเปิดโครงการใหม่ เนื่องจาก สถานการณ์ในภาพรวมยังไม่ดีนัก ส่งผลให้บริษัทรอดพ้นจากวิกฤติในครั้งนี้ เมื่อโคโรน่าเขย่าซ้ำ ยิ่งเพิ่มความชัดเจนอย่างมาก ถึงเหตุผลที่กูรูอสังหาฯท่านนั้นเตือน ทั้งๆที่โครงการคอนโดมิเนียม ในเฟสที่ 2 ทำเลเดอะมอลล์ถูกออกแบบวางแผนไว้เรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องพับออกไป ทำให้เหลือเพียงโครงการเดียว ในทำเลเดียวกัน และปิดการขายทั้ง 130 หน่วยไปเมื่อปีที่ผ่านมา

 

ขณะโครงการอื่น ทำเลเยื้องเซ็นทรัลโคราช ลดราคาขายจาก 1.4 ล้านบาทต่อหน่วยเหลือเพียง 9.9 แสนบาทต่อหน่วย และอีกทำเลใกล้เทอร์มินอล21 ลดราคา แสนบาท เพื่อให้ลูกค้าเงินเย็นมาซื้อ แลกกับการยืนต้นตายจากการแบกดอกเบี้ย 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ ไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลอย่างมากต่อทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก คำถามที่อยู่ในใจของเรา คือแล้วภาคอสังหาริมทรัพย์จะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

 

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ วิเคราะห์ว่าคำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่มีใครทราบคำตอบที่แน่นอน แต่ในเบื้องต้นลองมาพิจารณาข้อมูลล่าสุดของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์กัน เนื่องจากจะเป็นโจทย์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนภาคอสังหาริมทรัพย์ด้านที่อยู่อาศัยในปีนี้

 

อสังหาฯปรับแผน  ลดเสี่ยง รับมือโควิด-19

ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัย 26 จังหวัดหลักทั่วประเทศโดยรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ของศูนย์ข้อมูล พบว่า

 

นับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ตลาดที่อยู่อาศัย มียอดขายที่ลดลง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 รวมถึงการดูดซับ ลดลงเหลือ 2.54% จาก 4.11% ในปี 2561

 

สะท้อนว่า สถานการณ์การขายช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวที่ชัดเจน หลังจากที่มีการใช้มาตรการแอลทีวีของธนาคารแห่งประเทศไทย กำกับดูแลสถาบันการเงินด้านระบบเศรษฐกิจ (Macroprudential) ตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 เป็นต้นมา ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ก็มีภาวะที่ชะลอตัวเช่นกันส่งผลให้สถาบันการเงินมีการเข้มงวดการพิจารณาการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยมากขึ้น ขณะที่อยู่อาศัยเหลือขาย มีมากถึง แสนหน่วย สะสมข้ามมาในปีนี้ อย่างไรก็ตาม แม้ผู้ประกอบการจะชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ แต่ความยากลำบาก ย่อมมีมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โคโรนาหรือ โควิด-19

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5-8 เมษายน 2563