‘สายสีเหลือง’ ชนดะ...ตึกแถว  พลิกลาดพร้าวขึ้นตึกสูง

31 มี.ค. 2563 | 02:40 น.

ปักหมุดทำเลทอง 

รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง การก่อสร้างคืบหน้ากว่า 50% ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ”  สำรวจพบมีการวางคานบนตอม่อ ตลาดแนวเส้นทาง แม้ช่วงนี้จะเกิดการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 กระทั่งสร้างความเงียบเหงาซบเซา ให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ร้านรวงในละแวกเป็นวงกว้าง ก็ตาม

แต่การสร้างความเจริญเข้าสู่พื้นที่ ยังคงดำเนินต่อเนื่อง ทั้งนี้ บีทีเอสกรุ๊ป และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ยืนยันว่าสามารถก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการตามแผนภายในปี 2564 ขณะเชื้อมรณะ จะแพร่ระบาดช่วงระยะสั้น มีการประเมินกันว่า ไม่เกิน 1 ปี แต่ในระยะยาวแล้ว “ลาดพร้าว” ยังคงยืนหนึ่งทำเลทองคำ โซนตะวันออกกรุงเทพมหานครที่น่าจับตา ราคาที่ดินขยับสูงไปตามความคืบหน้ารถไฟฟ้าเส้นนี้สังเกตจากการจับจองที่ดินผืนใหญ่กลางใจ “ลาดพร้าว” เริ่มห่อตัวล้อมรั้วติดป้ายประกาศ เปิดโฉมเตรียมขึ้น

โครงการที่ฮือฮามากที่สุด เห็นจะเป็นการข้ามห้วยของดีเวลอปเปอร์รายใหญ่เจ้าถิ่น จังหวัดฉะเชิงเทรา หนึ่งในจังหวัดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี “ค่ายมารวย” ในเครือบริษัท วิจิตรา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประกาศเปิดตัวโครงการบ้านหรู “บ้านของฉัน คือ เธอ”  “THER (เธอ) ลาดพร้าว 93” ทาวน์โฮม 3 ชั้นครึ่ง แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นครั้งแรก เนื่องจากแนวราบใกล้ตลาดยังไปได้

‘สายสีเหลือง’ ชนดะ...ตึกแถว  พลิกลาดพร้าวขึ้นตึกสูง

เช่นเดียวกับที่ดินแปลงงาม ทำเลร้อนตลาดโชคชัย 4 มีที่ดิน 2 แปลง ได้แก่ ส่วนตึกแถวเนื้อที่ 16ไร่ ปัจจุบัน เจ้าของที่ดินบอกเลิกสัญญาฟ้องขับไล่ เรียกคืนโฉนด 22 แปลง ผู้เช่าจากบริษัทลาดพร้าว โชคชัยพัฒนา จำกัดเสียงสะท้อนจากผู้ค้าในตลาด ระบุว่าเป็นของนายทหารใหญ่ มีแผนนำที่ดินแปลงนี้พัฒนาขึ้นคอนโดมิเนียมเอง เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีเหลืองพาดผ่าน ที่ดินอีกแปลงปรับเป็นตลาดไฮเอนต์ลํ้าหน้า ส่วนของตลาดสด 36ไร่ ของ นายแพทย์ดังท่านหนึ่ง ที่มีกระแสว่ายักษ์ใหญ่ด้านอาหารซื้อต่อไป แต่เท็จจริงเป็นประการใด ไม่ทราบแน่ชัด เพราะพ่อค้าแม่ค้ายืนยันว่า ยังได้ค้าขายในพื้นที่นี้ต่อ

นอกจากทำเลทองตลาดโชคชัย 4 แล้ว ยังมีที่ว่างแปลงใหญ่ปล่อยทิ้งร้าง เข้าใจว่าเป็น สนามกีฬา คอร์ตเทนนิส ของเอกชน ที่ดินมีติดประกาศขายต่อเนื่องเนื้อที่ 6 ไร่ อีกทำเลที่น่าจับตา ย่านลาดพร้าวตอนปลายใกล้ย่านชุมชนใหญ่บางกะปิ ขณะนี้ บมจ. ออริจิ้น ปรับที่ดินรอขึ้นคอนโดมิเนียมสูงภายในปีนี้เนื่องจากทำเลติดถนนใหญ่ ลาดพร้าวซอย 111 เยื้องกับแม็คโคร บางกะปิ ซึ่งมีสถานีรถไฟฟ้าปักหมุดรออยู่ เช่นเดียวกับที่ดินแปลงงามของ บมจ.พฤกษา หลังสร้างความฮือฮา ซื้อที่ดิน

‘สายสีเหลือง’ ชนดะ...ตึกแถว  พลิกลาดพร้าวขึ้นตึกสูง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

‘สายสีเหลือง’ ชนดะ...ตึกแถว  พลิกลาดพร้าวขึ้นตึกสูง

ส่วนตลาดสดแฮปปี้แลนด์ พื้นที่ร้านอาหารและที่จอดรถราว 12 ไร่ มูลค่า 2,500 ล้านบาท ล่าสุด ได้ปรับแปลงที่ดินเตรียมความพร้อมขึ้นโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ชะลอโครงการเพื่อดูท่าทีพิษเศรษฐกิจ และโควิด ที่ค่ายนี้อาจจะทยอยขึ้นโครงการคราวละเฟส ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่เชื่อว่าหากผ่านพ้นมรสุมนี้ไปได้เข้าใจว่า ถนนลาดพร้าว ย่านบางกะปิ จะลุกเป็นไฟกลายเป็นเมืองอยู่อาศัย มิกซ์ยูสที่น่าจับตามากทีเดียว

ขณะก่อนหน้านี้ ค่ายใหญ่ บมจ.ศุภาลัย ปักหมุดเปิดตัวขายโครงการทาวน์โฮม ในซอยลาดพร้าว 107 ขายดีเป็นเทนํ้าเทท่า ในช่วงที่คอนโดมิเนียมอยู่ในภาวะขาลง ค่าย ออลล์ อินสไปร์ หรือ ALL ได้ซุ่มซื้อที่ดิน ขึ้นคอนโดมิเนียมขายบริเวณลาดพร้าว 62 ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีเหลือง โชคชัย 4 700 เมตร แต่ด้านในซอยร่มรื่นเงียบสงบ ในราคา 1 ล้านบาทปลายๆ เรียกว่า ขายหมดปิดโครงการเช่นเดียวกัน

เช่นเดียวกับ ค่ายพฤกษาที่เก็บเกี่ยวแปลงที่ดิน ในซอยโชคชัย 4 กลางชุมชนใหญ่ขึ้นโครงการพลัมคอนโด เปิดขายในปัจจุบัน ราคา 1 ล้านบาทปลายๆ สามารถเดินทางเข้าออกเชื่อมโยงกับสถานี รถไฟฟ้าโชคชัย 4 ได้สะดวก และมีแผนปักหมดคอนโดฯ ลาดพร้าวซอย 112 ใกล้โรงพยาบาลลาดพร้าวที่อยู่ระหว่างปรับโฉมด้านหน้า เนื่องจากถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อตั้งสถานี

‘สายสีเหลือง’ ชนดะ...ตึกแถว  พลิกลาดพร้าวขึ้นตึกสูง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

จากการสำรวจยังพบว่าที่ดินแปลงว่างบนถนนลาดพร้าวยังมีอีกมาก ประกอบกับตึกแถวในซอย และ ติดถนนใหญ่ ต่างติดป้ายประกาศขาย ขณะนี้ยังมีนายหน้าวิ่งเข้าพบเจ้าของตึกแถวตัวจริง อย่างไรก็ตาม ลาดพร้าวเป็นย่านชุมชนใหญ่มีผู้คนพลุกพล่าน การจราจรติดขัดตลอดเวลา เนื่องจากมีซอยเป็นร้อยซอย แม้จะเล็กและแคบ แต่ด้านในมีชุมชนขยายจำนวนมาก และสามารถเชื่อมโยงไปยังทำเลอื่นได้สะดวก

อย่างเช่น ลาดพร้าววิ่งไปยัง ถนนรัชดาฯ สุทธิสาร ห้วยขวาง หรือสามารถทะลุออกไปยัง พหลโยธิน วิภาวดีรังสิต ขณะเดียวกันโซนตะวันออก จากแยกบางกะปิยังเชื่อมโยงไปยัง แยกลำสาลี ถนนรามคำแหง หรือจะมุ่งหน้าไปยังถนนศรีนครินทร์ ทั้งเส้นทางถนน หรือรถไฟฟ้า เรียกว่าสะดวกทุกเส้นทาง อนาคตโซนลาดพร้าวยังบูมได้อีก หากรถไฟฟ้าเชื่อมโยงทุกโครงข่าย

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม -1 เมษายน 2563