ดันอสังหา เรือธงใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

27 ก.พ. 2563 | 23:25 น.

 

ภาคเศรษฐกิจ ภาคการเงิน ส่งสัญญาณ ขอรัฐเร่งกระตุ้นความเชื่อมั่นผู้บริโภคทุกมิติ หลังหลายปัจจัยภายในภายนอกฉุดการท่องเที่ยว การส่งออกอ่อนแอ มองภาคอสังหาฯ ไทย วงล้อธุรกิจใหญ่ยังแข็งแกร่ง แต่มีอุปสรรคไม่น้อย ยิ่งกระตุ้นยิ่งฟื้นเศรษฐกิจโดยรวมได้

ผลพวงเศรษฐกิจถดถอยจากหลากหลายปัจจัยลบ ส่งผลให้ภาครัฐ และเอกชน ต่างส่งสัญญาณถึงรัฐบาล ให้ออกมาตรการกระตุ้นความเชื่อมั่น ให้พลิกฟื้นกลับคืนมา

นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงนโยบายการขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจ ภายในงานสัมมนาใหญ่อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2020” ซึ่งจัดโดย สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ว่า ขณะนี้ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหลายด้าน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งยังกลายเป็นแรงกดดันความเชื่อมั่นในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ถูกปัจจัยภายนอก ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน, ภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (โคโรนา)

อย่างไรก็ตาม ในมิติของปัญหาที่เกิดขึ้น ประเทศไทยยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งคอยคํ้าจุน เพราะมีภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความแข็งแรง เติบโต และเป็นอีกหนึ่งเสาหลัก ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยพยุงตัวเองได้ เนื่องจากมีรอบหมุนเวียนตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า มูลค่าต่อปีมากถึง 4 ล้านล้านบาท โดยนับเป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (จีดีพี)ประมาณ 8-10% เพราะผูกพันตั้งแต่การจ้างงาน การสร้างรายได้ให้กับประชาชน และเชื่อมโยงต่อภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ภาคการก่อสร้าง, วัสดุ-อุปกรณ์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, การตกแต่ง, สถาบันการเงิน, ผู้ซื้อและผู้พัฒนา

ดันอสังหา เรือธงใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ในแง่ของรัฐได้มองเห็นความสำคัญของภาคอสังหาฯมาตลอด ผ่านทั้งการออกนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังมารองรับสนับสนุน กระตุ้นในฝั่งดีมานด์ พร้อมๆกับการเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ มูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชน ฟื้นกำลังซื้อภายในประเทศ ฉะนั้นนับเป็นภาวะที่ท้าทายยิ่ง ที่จะผลักดันให้ภาคอสังหาฯ นำพาประเทศไทยผ่านวิกฤติ

 

วันนี้เรือธงภาคการท่องเที่ยวเสียหายจากไวรัส เหลือเพียงภาคอสังหาฯ ที่ยังเดินหน้าสร้างมูลค่า 4 ล้านล้านบาท ที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญดูแลเศรษฐกิจของประเทศต่อ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ขาด ขณะนี้ คือ ความเชื่อมั่นของผู้ซื้อ ฉะนั้นทุกองคาพยพ ตั้งแต่ ผู้ซื้อ ผู้พัฒนา สถาบันการเงิน และรัฐ ต้องเร่งสร้าง เพราะถ้าล้อนี้ไม่หมุน ก็เสียหายทั้งระบบ

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย ฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า ขณะนี้ภาคอสังหาฯ กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย และจากการศึกษาตลาด พบว่ายังไม่มีข้อกังวลใดๆในภาคอสังหา ริมทรัพย์ เช่น ภาวะฟองสบู่ ที่เคยกังวลกันก่อนหน้านี้ ส่วนปัจจัยภายนอกต่างๆ ไม่ได้ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคแย่ไปกว่าเก่า แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นเพียงบรรยากาศการจับ-จ่ายที่ไม่เอื้อ จากภาวะเศรษฐกิจซึม เพราะพบว่าคนไทยบางกลุ่มยังมีกำลังซื้อสูง จากกรณีรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ปรับลดราคา 50% เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถปิดการขายได้ เปรียบสถานการณ์เป็นอยู่ขณะนี้คล้ายคนมีเงิน แต่ไม่พร้อมใช้ฉะนั้น กลไกการทำให้ภาคอสังหาฯขับเคลื่อนได้ คือ การลดอัตราดอกเบี้ย และการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายในกลุ่มคนซื้อบ้าน ต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน หลังจากปัจจุบัน ยังมีความย้อนแย้งจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (แอลทีวี) ทำให้ผู้ซื้อไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ อย่างไรก็ตาม สถาน การณ์โอเวอร์ซัพพลายในตลาด คาดจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 18 เดือน ถึงจะระบายหมด ภายใต้สมมติฐาน ปริมาณดีมานด์เกิดขึ้นคงที่ต่อเนื่อง

 

วันนี้คนซื้อขาดความเชื่อมั่น จากข่าวฟองสบู่แตก แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณ เป็นเพียงสถานการณ์ลังเลการตัดสินใจจากคนมีเงิน แต่ไม่มีอารมณ์ซื้อ เมื่อไหร่ที่ไวรัสคลี่คลาย ระบบอสังหาฯพร้อมจะวิ่ง และ อิฐ หิน ปูน จะมีการซื้อ-ขายดีขึ้น เพราะไม่มีโอกาสที่ดอกเบี้ยจะถูกขนาดนี้แล้ว

ขณะที่ นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีแนวโน้มรัฐบาลจะออกนโยบายการเงิน และนโยบายการคลังมากระตุ้นเพิ่มเติมอีก คาดอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 1 ครั้ง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นความต้องการในกลุ่มผู้ซื้อได้ ขณะเดียวกันอาจมีการผ่อนคลาย เปิดช่องการเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,552 วันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563