ยกประดิษฐ์มนูธรรม เทคฯคลัสเตอร์ แบบอย่างจากลอนดอน

24 ก.พ. 2563 | 10:55 น.

ไนท์แฟรงค์ประเทศไทย เผยโอกาสเกิดเทคฯคลัสเตอร์ แบบอย่างจากลอนดอนสู่กรุงเทพฯเศรษฐกิจดิจิทัลมีส่วนสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณ 25% ของจีดีพีในปี 2570

นายณพกิตติ์ เลิศหิรัญวิบูลย์ นักวิจัยอสังหาฯ ฝ่ายตัวแทนนายหน้า บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัดอธิบายว่า การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นหากประเทศไทยจะแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก ในประเทศที่มีเศรษฐกิจดิจิทัลเติบโตเต็มที่อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร คือ การรวมกลุ่มธุรกิจของบริษัทเทคโนโลยีในรูปแบบคลัสเตอร์เพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้กับเศรษฐกิจดิจิทัล (Tech Clusters) ในส่วนของประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุเทคฯคลัสเตอร์ที่ชัดเจนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลัสเตอร์ที่เติบโตโดยไม่ใช้นโยบายการรวมกลุ่มธุรกิจในพื้นที่ที่ถูกกำกับโดยภาครัฐ เช่น ย่านธุรกิจเทคโนโลยีคุณภาพสูง หรือ อุทยานวิทยาศาสตร์ วิธีเช่นนี้ไม่เหมาะสมกับธุรกิจสตาร์ทอัพ ธุรกิจเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการที่ขาดแคลนกำลังการผลิตหรือเงินทุนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่

อย่างไรก็ตาม เทคฯคลัสเตอร์ที่ประสบความสำเร็จอาจอยู่ในพื้นที่ที่ไม่อยู่ในความสนใจมาก่อนก็ได้ เช่น ย่านชอร์ดิทช์ (Shoreditch) ที่ตั้งอยู่ใจกลางอีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้ (East London Tech City) ในลอนดอน หลังสงครามโลกครั้งที่สองย่านดังกล่าวมีแต่ความทรุดโทรม ความยากจน และระดับอาชญากรรมสูง แต่ในศตวรรษที่ 21 พื้นที่บริเวณชอร์ดิทช์กลายเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เต็มไปด้วยร้านค้า สตูดิโอ แกลเลอรี่ และร้านกาแฟ

ยกประดิษฐ์มนูธรรม เทคฯคลัสเตอร์ แบบอย่างจากลอนดอน

อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้เป็นตัวอย่างของเทคฯคลัสเตอร์ที่เติบโตได้ขึ้นเองในพื้นที่ที่เคยถูกมองข้ามไปและเมื่อมองหาพื้นที่ที่เคยถูกมองข้ามสำหรับโอกาสในการเกิดเทคฯคลัสเตอร์ในกรุงเทพจะพบว่าเขตประดิษฐ์มนูธรรมเป็นหนึ่งทำเลที่ค่อนข้างมีศักยภาพ เขตประดิษฐ์มนูธรรมเป็นพื้นที่ที่คล้ายกับชอร์ดิทช์เมื่อหลายทศวรรษที่ผ่านมาเพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนจากกลุ่มเทคโนโลยีและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วบริเวณประดิษฐ์มนูธรรมนั้นมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการเป็นฮอตสปอตของเศรษฐกิจดิจิทัลสมัยใหม่

สำหรับถนนประดิษฐ์มนูธรรมมีระยะทางยาว 12 กม. จากซอยสุขุมวิท 63 (เอกมัย) ถึงรามอินทรา เป็นถนนที่เชื่อมต่อพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯกับชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ โดยมีการตัดผ่านพื้นที่ 3 เขตหลัก ได้แก่ ลาดพร้าว วังทองหลาง และบางกะปิ ทั้งสามเขตนี้มีประชากรรวมทั้งหมด 377,843 คน และครอบคลุมพื้นที่รวม 68.9 ตารางกิโลเมตร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีประชากรจำนวนมากที่ย้ายออกจากพื้นที่เขตประดิษฐ์มนูธรรม นับจากปี 2552-2561 จำนวนประชากรรวมลดลงไป 10,407 คน คิดเป็นการลดลง 0.30% ในขณะเดียวกัน ประชากรของกรุงเทพฯลดลงไป 0.05% แม้ว่าจะเป็นข้อเสีย แต่การลดลงของจำนวนประชากรสามารถนำไปสู่โอกาสใหม่ๆได้เช่นกัน เทคฯซิตี้แสดงให้เห็นได้ว่าการลดลงของจำนวนประชากรสามารถสร้างโอกาสทางการเติบโตให้กับบริษัทขนาดเล็กที่ถูกดึงดูดจากค่าเช่าที่ถูก

ในปัจจุบัน มีประชากรจำนวนมากกว่า 50% ที่อาศัยอยู่ในเทคฯซิตี้อยู่ในช่วงอายุ 20-44 ปี จากเดิมเคยอยู่ที่ 34% ก่อนมีเทคฯซิตี้ในปี 2524 ในขณะที่ 37% ของประชากรในเขตประดิษฐ์มนูธรรมในปัจจุบันอยู่ในช่วงอายุนี้ ซึ่งสูงกว่าประชากรในย่านทาวเวอร์ แฮมเล็ตส์และย่านแฮคนีก่อนเป็นเทคซิตี้อยู่ 3% สิ่งนี้บ่งบอกให้เห็นว่ามีศักยภาพทางการเติบโตของประชากรวัยรุ่นใน 3 ย่านนี้ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับส่วนที่เหลือของกรุงเทพฯ ประชากรในย่านประดิษฐ์มนูธรรมกำลังเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเทคฯคลัสเตอร์ในไทยจะเกิดจากประชากรผู้สูงวัยกว่าในเทคฯซิตี้

จากข้อมูลการทำธุรกรรมทางธุรกิจที่จัดทำโดยหน่วยงานรัฐในปี 2559 สรุปได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตประดิษฐมนูธรรมเป็นธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดแยกหมวดบริษัทขนาดเล็กว่าเป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 50 ล้านบาท และบริษัทขนาดกลางเป็นธุรกิจที่มีสินทรัพย์ถาวรระหว่าง 50-200 ล้านบาท มูลค่าเฉลี่ยของธุรกิจในเขตลาดพร้าวและเขตวังทองหลางมีสินทรัพย์รวมต่ำกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าธุรกิจเฉลี่ยในเขตบางกะปิมีสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 52 ล้านบาท ดังนั้นธุรกิจส่วนใหญ่ในเขตประดิษฐ์มนูธรรมสามารถจัดอยู่ในหมวดธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในเขตนี้มีธุรกิจในขนาดที่เหมาะสมแก่การเริ่มต้นของคลัสเตอร์จำนวนมาก แม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี

อีสต์ลอนดอนเทคฯซิตี้สามารถเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดผู้เช่าให้ย้ายเข้ามาในพื้นที่ได้ ในทั้ง 3 เขตของประดิษฐ์มนูธรรมเห็นได้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกประเภทร้านค้าปลีกมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยกรุงเทพฯในเกือบทุกหมวดหมู่ นอกจากนี้เขตประดิษฐมนูธรรมเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าคุณภาพสูงหลายแห่ง ซึ่งมักจะหายากในพื้นที่นอกย่านศูนย์กลางธุรกิจ ได้แก่ เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์  คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ และคริสตัล เอกมัย-รามอินทรา ซึ่งรวมพื้นที่ร้านค้าปลีกกว่า 250,000 ตร.ม. ตั้งอยู่บนถนนสายหลัก ในส่วนของสถานบันเทิงยามค่ำคืนในเขตประดิษฐมนูธรรมค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากมีร้านอาหาร และสถานบันเทิงจำนวนมากที่เปิดยามค่ำคืน เพื่อรองรับความต้องการของวัยรุ่น ซึ่งโดยรวมแล้วสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่นี้มีเพียงพอต่อคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่มักพบได้ตามบริษัทเทคโนโลยีทั่วไป