‘อนันดา’ ผ่อนเกียร์เร่ง  ตั้งรับตามสถานการณ์

25 ก.พ. 2563 | 07:35 น.

ผ่ามุมคิด

เมื่อแผนดำเนินธุรกิจระยะยาวไม่มีความหมายสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในขณะนี้ หลังจากปัจจัยลบ ภายใน ภายนอก เกิดขึ้นไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงรายวัน ทางออกคือ การปรับแผน ตั้งรับตามสถานการณ์ ขณะที่นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ เจ้าใหญ่ในตลาดคอนโดฯ ระบุบริษัทไม่มีแผนตายตัวสำหรับการดำเนินธุรกิจในปีนี้ ยอมรับผ่อนเกียร์เร่ง ไร้เปิดโครงการใหม่ หันไปโฟกัสเร่งขายในโครงการจะแล้วเสร็จแทน อย่างไรก็ตาม เชื่อ วัฏจักรของอสังหาฯ มีขึ้น มีลง เป็นเรื่องปกติ รอจังหวะผู้บริโภคเชื่อมั่นปัจจัยบวกมากขึ้น พร้อมเดินต่อตามเป้าหมาย ยืนหนึ่งผู้นำคอนโดฯ ใกล้สถานีรถไฟฟ้า

หวั่นหลุดโค้ง

ภาพรวมของตลาดคอนโดฯ ปีนี้ไม่สดใส หากให้เปรียบปัจจัยต่างๆ ทั้งเรื่องสงครามการค้า, เบร็กซิท, ภัยธรรมชาติ, ปัญหาภายในประเทศจีน, หุ้นร่วง, มาตรการ LTV, คาดการณ์จีดีพีไทยตํ่ากว่า 2%, ยอดผลิตรถยนต์ตํ่าสุดในรอบหลายปี และเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นหลายวันนั้น คือหมอกควันหนา หน้ารถที่กำลังขับฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งเป็นทั้งทีมงาน ลูกค้า นักลงทุน และพันธมิตรทางธุรกิจ เราจึงไม่กล้าเหยียบคันเร่ง ผ่านกลยุทธ์เลือกเปิดโครงการใหม่ที่ดีมานด์ในตลาดจะตอบรับเท่านั้น เบื้องต้นชัดเจน 1 โครงการไอดีโอ คิว พหล-สะพานควายซึ่งเป็นโครงการที่มีการเปลี่ยนแบรนด์ใหม่จากไอดีโอคิว มาอยู่ในกลุ่มราคาเฉลี่ยมากกว่า 3 ล้านบาท มูลค่ารวม 8.5 พันล้านบาทเท่านั้น

การวาง แผนธุรกิจขณะนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนได้ทุก 3 เดือน ภาวะฝุ่นหนา ผู้บริโภคชะลอการซื้อจากความไม่เชื่อมั่น ต้องหยุดหรือถอยกลับมา ปีนี้บริษัทปรับตัวตามสถานการณ์ และรู้ตื่นด้วยความพร้อม เพราะหากฝืนถึงเส้นชัยก่อน แต่เสี่ยงแหกโค้งระหว่างทาง มันไม่คุ้ม

‘อนันดา’ ผ่อนเกียร์เร่ง  ตั้งรับตามสถานการณ์

ชานนท์ เรืองกฤตยา

 

 

 

 

 

เตรียม 7 โครงการรอจังหวะ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอสังหาฯการขึ้นลงเป็นไซเคิล คือ เรื่องธรรมดา ยอมรับขณะนี้อาจอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่ไร้ปัจจัยบวกซะทีเดียว เพราะเมื่อดูจากฐานจำนวนประชากรไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานยังตํ่า เงินคงคลังอยู่ในระดับเหมาะสม ท่ามกลางเงินเฟ้อตํ่า และราคาอสังหาฯไทย ปรับตัวช้า ต่างๆ เหล่านั้น คือ โอกาสในอนาคตที่ส่งเสริมให้อสังหาฯฟื้นตัวได้ โดยเฉพาะการขยายสถานีรถไฟฟ้าที่ขณะนี้มีมากกว่า 100 สถานี และอนาคต 221 สถานี ทำให้คาดความต้องการที่อยู่อาศัยติดรถไฟฟ้ายังเป็นที่ต้องการสูง เพราะอสังหาฯ เกี่ยวกับโลเกชัน ฉะนั้นเราจะใช้โมเดลดังกล่าวเป็นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ  ซึ่งนอกจาก 1 โครงการที่จะมีการเปิดแน่นอนแล้ว บริษัทยังมีอีก 7 โครงการ (5 คอนโดฯ, 2 แนวราบ)มูลค่ามากกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท รองรับ หากสถานการณ์ตลาดปรับเปลี่ยน และมีแนวโน้มดีขึ้น ก็พร้อมจะเปิดเพิ่มทันที

เชื่ออีกไม่นาน อสังหาฯจะผ่านภาวะนี้ไปได้ เราเองเหมือนรถที่มีน้ำมันพร้อม ถ้าเห็นแสงสว่างชัดขึ้น ก็พร้อมจะแตะคันเร่งอีกครั้ง สำคัญสุดคือ บรรยากาศของตลาดต้องเอื้อ เมื่อผู้บริโภคเชื่อมั่น 7 โครงการที่มีก็พร้อมจะทยอยเปิด

 

สายสีเขียวยืนหนึ่ง

นายชานนท์ ยังเชื่อมั่นโครงการที่จะเปิดใหม่ทั้งหมดจะตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าทั้งในแง่โลเกชันและราคา ตามกลยุทธ์ของบริษัท ซึ่งปัจจุบันมองว่าในบรรดาเครือข่ายของรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ ที่เกิดขึ้น เส้นทางหลักใจกลางเมืองสายสีเขียว ยังยืนหนึ่งในแง่มูลค่า และความต้องการของผู้บริโภค สะท้อนจากมูลค่าของอสังหาฯ ทุกตึกทั้งเส้นทางดังกล่าวมีค่ามหาศาลมากที่สุดในประเทศ ส่วนระดับราคาที่จะโฟกัส ไม่สามารถบ่งบอกชัดเจนได้ว่าจะอยู่ในช่วงราคาเท่าไหร่ แต่จะเป็นราคาที่เข้าถึงได้ แตกต่างตามความเหมาะสมของทำเล เช่น 1.5 แสนบาทต่อตร.. ในย่านทองหล่อ แม้อาจเป็นราคาไม่ได้ถูกมาก แต่ถือว่าย่อมเยากว่าราคาตลาดที่มีการเปิดขายกันในปัจจุบัน

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,551 วันที่ 23-26 กุมภาพันธ์ 2563