ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

15 ก.พ. 2563 | 00:00 น.

 

ปักหมุดทำเลทอง

แยกลำสาลีถนนรามคำแหงกำลังกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ- มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรงที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีกทั้งในอนาคตยังมีเส้นทางสายสีนํ้าตาลช่วงแคราย-มีนบุรี พาดผ่าน จากตึกแถวเก่ากลายเป็นตึกสูง เพิ่มมูลค่าไปตามราคาที่ดิน

ถนนรามคำแหงถนนสายที่ทอดยาวรับความเจริญ มีดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ เข้ามาจับจองที่ดินจนเกือบเต็มพื้นที่ โดยเฉพาะทำเลติดถนนใหญ่ ไล่ตั้งแต่ รามคำแหง 95 ปัจจุบันเป็นพื้นที่เช่าตั้ง สำนักงานชั่วคราว บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) เนื้อที่ 1-2 ไร่ เจ้าของบอกขายไร่ละ 60 ล้านบาท หรือราคาตารางวาละ 6.7 แสนบาท ขณะที่ดินที่ตั้งโรงนํ้าแข็งนาตะระ ของ นายจารุพัฒน์ มโนสุทธิกิจ เนื้อที่ 200 ตารางวา เช่าอยู่บนพื้นที่แปลงเดียวกัน คาดว่าอาจจะถูกรวมแปลงขายเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับก่อนหน้าจะมีรถไฟฟ้าที่ดินทำเลนี้ค่อนข้างถูกราคา ไม่เกิน 2 แสนบาทต่อตารางวา

เช่นเดียวกับซอยถัดไปรามคำแหง 97 จุดทางขึ้นของสถานีลำสาลี ค่ายพฤกษาซื้อที่ดินเตรียมพัฒนาคอนโดมิเนียม จากการสำรวจพื้นที่พบตึกแถวบ้านเก่ายังทุบไม่แล้วเสร็จ แต่กลับถูกเวนคืนบริเวณด้านหน้าเพิ่มทำให้ยังก่อสร้างโครงการไม่ได้

ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจสังเกตพบสภาพตึกแถวซอมซ่อเต็มไปด้วยคราบไคลฝุ่นสะท้อนว่าซากอาคารเหล่านี้ มีนักลงทุนเหมาซื้อไปตลอดทั้งแนว รอเพียงจังหวะเวลาทุบทิ้งรวมแปลงขึ้นตึกสูงไปตามมูลค่าและศักยภาพที่ควรจะเป็น

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

เดินเตร็ดเตร่ ลัดเลาะไปตามบาทวิถี เห็นที่ดินแปลงใหญ่ ติดกับซอยพ่วงศิริ จากหัวถนนรามคำแหง 97/2 ยาวสุดลูกหูลูกตา ไปชนกับคลองแสนแสบ บริเวณสำนักงานเขตบางกะปิ ป้านวล ทูลจังหรีด และ ประสิทธิ์ มะลิ คนพื้นที่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าที่ดินแปลงนี้เดิมทีเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าดีเซมเบอร์ปัจจุบันตัวห้างถูกทุบทิ้งไม่เหลือซาก และตกอยู่ในมือนักลงทุนชาวจีน เข้าใจว่าซื้อไว้เมื่อปีกว่าๆ ปัจจุบันที่ดินถูกล้อมรั้ว หุ้มด้วยแบรนด์ซึ่งเป็นของนักลงทุนฮ่องกงไรส์แลนด์ (ประเทศไทย) ติดไว้ตัวโตๆ ปัจจุบันอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตจัดทำรายการการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ หากผ่านที่นี่จะกลายเป็นคอนโดมิเนียมที่สูงที่สุดในย่านรามคำแหง จำนวน 2,000 หน่วย ห่างอินเตอร์เชนจ์ใหญ่ 200 เมตร ส่วนฝั่งตรงกันข้ามมีคอนโดฯลุมพินี ของค่ายแอล.พี.เอ็น. ปัจจุบันเข้าอยู่เต็มพื้นที่

แสงแดดแผดจ้า เดินต่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยิ่งไกลออกไปความเจริญยิ่งขยาย ตาม เรียกว่ามีโครงการพัฒนาคู่ขนานไปกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ ส่วนใหญ่จะซื้อที่ดินฝั่งซอยเลขคี่เข้าใจเป็นทำเลศักยภาพจริง พบที่ดินอีก 2 แปลง รามคำแหง 101 แปลงใหญ่ไม่ตํ่ากว่า 10 ไร่ คนพื้นที่ยืนยันว่าเป็นของค่ายอนันดาและอาคารพาณิชย์อยู่ระหว่างถูกทุบทำเลติดกับ รามคำแหง 103 มีการปรับหน้าดิน ปักป้าย ที่ตั้งของโครงการของค่ายออริจิ้น จำนวนกว่า 400 หน่วย เนื้อที่ 2 ไร่เศษ บริเวณนี้จะมีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นเนื่องจากใกล้สถานีลำสาลี ส่วนขยับไกลออกไปจะเป็นบ้านแนวราบ แต่อนาคตคงกลายเป็นทำเลทองคอนโดมิเนียมหากราคาที่ดินแพงจนไม่สามารถสร้างทาวน์เฮาส์บ้านเดี่ยวขายได้

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

นายทวี ศรีดอนชัย ช่างประจำรถเจาะระบุว่าพื้นที่บริเวณนี้ทำรถไฟฟ้าจะลอดใต้ชั้นดินจะเป็นอุโมงค์ เช่นเดียวกับนายพงษ์ภูมิ สัมถะ วิศวกรไซต์งาน โครงการก่อสร้างสายสีส้ม ยํ้าว่าการก่อสร้าง มีความคืบหน้า 50% วิ่งมาตามเส้นทางของถนนรามคำแหงทั้งเส้น ก่อนมาบรรจบกันกับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่มาจากลาดพร้าว ก่อนแยกไปตามเส้นทางของถนนศรีนครินทร์ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ที่สำคัญที่ดินราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี

 

เสียง-ฝุ่น ปิดทางสัญจร

ร้านรวงกำลังจะตาย       

แม้การก่อสร้างรถไฟฟ้าจะส่งผลดีต่อพื้นที่แต่ผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย ร้านค้าดั้งเดิมกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่จากการก่อสร้าง ทั้งฝุ่นพิษละอองนํ้ามัน เสียงเครื่องจักร ที่เดินเครื่องทั้งกลางวันกลางคืน ซํ้าร้ายกว่านั้น เส้นทางสัญจรเดิมที่เคยมีคนเดินผ่านไปมารถสาธารณะประจำทาง จำต้องปิดลง การค้าขายแทบหยุดชะงัก และหากต้องทนรอรถไฟฟ้าแล้วเสร็จเปิดใช้เส้นทางเชื่อว่าไม่มีใครอยู่รอดได้ นายจารุพัฒน์ มโนสุทธิกิจ เจ้าของกิจการโรงนํ้าแข็ง บริษัท โรงงานทำนํ้าแข็งนาตะระ จำกัด ซอยรามคำแหง 93 อธิบายว่า นับตั้งแต่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ถนนรามคำแหง บริเวณแยกลำสาลี ต้องถูกปิด เพื่อก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดิน รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ตํ่ากว่า 3 ปี ส่งผลกระทบต่อกิจการโรงนํ้าแข็ง ร้านค้าร้านรวงเล็กๆ เป็นร้อยร้านค้าในย่านนี้อย่างมาก เพราะไม่สามารถค้าขายได้ ทางเข้าออกถูกปิด สร้างความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง อีกทั้งผลกระทบฝุ่นละออง คนบริเวณนี้ต้องรับประทานข้าวคลุกฝุ่น เสียงการสั่นสะเทือนเร่งวันเร่งคืน โรงนํ้าแข็งจากเคยขายได้ ก็เงียบหายเพราะ ลูกค้าไม่สามารถนำรถมาจอดได้ ขณะค่าแรงคนงานต่างด้าว ต้องจ่ายหัวละ 450 บาทต่อวัน เช่นเดียวกับร้านกาแฟ เคยขายวันละ 300-400 แก้วบัดนี้แทบไม่มีเลย

ทุนใหญ่ยึด พลิกโฉม แยกลำสาลี


 

 

“ใครจะแทรกตัวเดินมาเพื่อหากาแฟดื่มสักแก้วนั่งกินอาหาร เคล้าละอองฝุ่น ไม่มีแน่นอน”           

เช่นเดียวกับตึกแถวร้านอาหารตามสั่ง ยอมรับว่าช่วงปิดทางสร้างรถไฟฟ้า ขายแทบไม่ได้ ป้ายรถประจำทางถูกยกเลิก อีกไม่ช้า คงต้องหยุดขาย ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านขาย-เช่าชุดเจ้าสาว เงียบงัน กระจกมีแต่ละอองฝุ่นจับตัวหนา

เจ้าของบ้านบางรายระบุว่า นอกจากเสียงดัง ฝุ่นละอองที่จะกระทบต่อสุขภาพแล้ว ปัญหาใหญ่บ้านอาจทรุดร้าว

แต่ไม่สามารถห้ามความเจริญที่กำลังเข้ามาได้ หากอดทนอีกไม่เกิน 3-4 ปี เพื่อแลกกับมูลค่าที่ดินที่ขยับขึ้น การเดินทางสะดวกขึ้นก็น่าจะเป็นผลดี

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,548 วันที่ 13-15 กุมภาพันธ์ 2563