‘ชมพู-ส้ม-เหลือง’ อสังหาน่าห่วง  ไร้กําลังซื้อ   

27 ม.ค. 2563 | 08:10 น.

AREA หวั่นปี 63 อสังหาฯเสี่ยงเกิดฟองสบู่ เอ็นพีแอลพุ่ง เก็งกำไรสูง หลังรัฐคลายกฎ LTV ผู้ประกอบการดันเปิดโครงการใหม่ ห่วงสายสีชมพู-ส้ม-เหลือง กำลังซื้อไม่มี อาจซํ้ารอยสายสีม่วง

 

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ระบุถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2563 ว่า แม้ตลาดยังโตต่อเนื่องแต่จะไม่หวือหวา เพราะมีมาตรการรัฐมาช่วยสนับสนุน ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดหลักทรัพย์ฯเปิดตัวสินค้าใหม่เป็นดีมานด์ที่อาจทำให้เกิดการเก็งกำไรมากขึ้น และการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อ หรือLTV จะช่วยผู้ประกอบการขายบ้านได้มากขึ้น แต่หากผู้ซื้อ สถาบันการเงินขาดวินัยทางการเงินจะส่งผลให้เกิดหนี้เสียหรือ NPL เพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดฟองสบู่ได้อีกครั้งซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง ประเด็นที่น่าจับตาอีกประการคือการก่อสร้างคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู สีส้มและสีเหลืองในย่านศรีนครินทร์ ที่คาดว่าปริมาณความต้องการที่อยู่อาศัยอาจจะยังไม่มากเหมือนสายสีเขียว หากผู้ประกอบการไม่ระมัดระวังอาจเกิดปัญหาซํ้ารอยสายสีม่วงที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายจำนวนมาก ซึ่งในปี 2562 มีบ้านว่างหรือบ้านสร้างเสร็จและขายแล้วแต่ไม่มีผู้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมีจำนวน 525,000 หน่วย มีสัดส่วนนักเก็งกำไรอาจเกิน 40%

ทั้งนี้จากการสำรวจ ตลาดอสังหาริมทรัพย์เปิดขายอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สิ้นปี 2562 พบว่าปี 2562 มีโครงกาอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทเปิดตัวใหม่ 480 โครงการ เพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ที่เปิดตัว 457 โครงการ อย่างไรก็ตามจำนวนเฉพาะหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่กลับมีน้อยกว่า โดยในปี 2562 เปิดตัว 118,975 หน่วย ในขณะที่ปี 2561 เปิดตัว 125,118 หน่วย ลดลง 5% ส่วนมูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในปี 2562 ซึ่งมีอยู่ 476,911 ล้านบาท ลดลงจากปี 2561 ที่เปิดตัวสูงสุดถึง 565,811 ล้านบาท ลดลง 16%

‘ชมพู-ส้ม-เหลือง’ อสังหาน่าห่วง  ไร้กําลังซื้อ   

 

 

 

นอกจากนี้ยังสำรวจพบว่า มีโครงการที่หยุดการขายกลางปี 2562 มีจำนวน 205 โครงการ รวม 57,913 หน่วย รวมมูลค่า 147,462 ล้านบาท ในขณะที่ สิ้นปี 2562 มีจำนวน 213 โครงการ รวม 57,711 หน่วย มีมูลค่าทั้งหมด 177,176 ล้านบาท ส่วนสาเหตุของการหยุดขายนั้น เหตุผลสำคัญคือโครงการไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีถึง 29% แต่ได้เปิดขายไปก่อน และเมื่อไม่ผ่านการพิจารณา ก็ต้องล้มเลิกโครงการ อีกเหตุผลสำคัญคือสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ มี 22% เพราะโครงการขายไม่ดีตามเป้าหมาย และอีก 19% ที่เห็นได้ชัดเจนว่าสินค้าขายไม่ออก หรือรูปแบบไม่เหมาะสม ทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสม รอปรับราคา เป็นต้น

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563