พื้นที่คลังสินค้า แนวโน้มโต อี-คอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์ดัน   

23 ม.ค. 2563 | 07:05 น.

พร็อพเพอร์ตีโฟกัส        

ปีที่ผ่านมากระแสยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซ อย่าง อาลีบาบา ปักหมุดลงทุนในพื้นที่อีอีซี ส่งผลธุรกิจพื้นที่คลังสินค้ามีความคึกคักขึ้น

ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย เผยผลวิจัยภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์ ช่วงครึ่งแรกของปี 2562 พื้นที่คลังสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น 43,500 ตร.. มีจำนวนพื้นที่รวมทั้งสิ้น 5,220,016 ตร.. เพิ่มขึ้น 2.4% ปีต่อปี อย่างไรก็ตาม ด้านอุปทานใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในตลาดยังอยู่ในช่วงชะลอตัว โดยการเปิดตัวอุปทานใหม่มีจำกัด เพราะคลังสินค้าว่างที่มีอยู่เดิมยังคงเหลืออยู่มากในบางภูมิภาค ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงปีที่ผ่านมา

พื้นที่คลังสินค้าที่มีความหนาแน่นมากที่สุดอยู่ใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล ชายฝั่งทะเลตะวันออก และภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใหญ่ที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 41% หรือ 2,128,088 ตร.. อุปทานคลังสินค้าในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้น 1.2% เนื่องจากเป็นทำเลที่ผู้เช่าต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างกรุงเทพฯ, สนามบินสุวรรณภูมิ, และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

พื้นที่คลังสินค้า แนวโน้มโต อี-คอมเมิร์ซ-โลจิสติกส์ดัน   

 

ภาคกลางถือครองส่วนแบ่งตลาด 16% มีอัตราการเติบโตของอุปทานสูงที่สุดในช่วงครึ่งปี 2562 โดยเพิ่มขึ้น 2.3% ครึ่งปีต่อครึ่งปี และ 5.9% ปีต่อปี ขณะที่อุปทานรวมบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในครึ่งปี 2562 ถึงแม้ว่าจะเป็นศูนย์กลางทางการผลิตและกระจายสินค้า รวมไปถึงเป็นพื้นที่พิเศษในโครงการอีอีซีที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้กลายเป็นพื้นที่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่สำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเข้ามาของอุปทานในปีก่อนๆ ที่ยังเกินความต้องการของตลาด ทั้งยังมีอัตราการครอบครองพื้นที่ที่ค่อนข้างตํ่าหากเทียบกับกรุงเทพฯและภาคกลาง

สำหรับความต้องการพื้นที่คลังสินค้า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ปรับเพิ่มพื้นที่ครอบครองรวมจำนวน 68,026 ตร.. เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,486,787 ตร.. ถือเป็นระดับที่ดี โดยมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อความต้องการพื้นที่คลังสินค้า ซึ่งล่าสุดตลาดอี-คอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจ และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อไปได้อีกในปีถัดไป ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตของตลาดโลจิสติกส์

 

ส่วนราคาค่าเช่าคลังสินค้ามีแนวโน้มจะปรับลงอีก โดยอัตราเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 153 บาทต่อตร.. ต่อเดือน เนื่องจากผู้ให้เช่าต้องแข่งขันกันเพื่อดึงดูดผู้เช่าที่กำลังมองหาพื้นที่ใหม่ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง การใช้จ่ายของภาครัฐอย่างยั่งยืนด้านโครงสร้างพื้นฐานและข้อเสนอจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจะทำให้ประเทศไทยเป็นที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนที่กำลังมองหาพื้นที่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน พื้นที่ที่น่าจะได้รับความสนใจคงเป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ที่มีความยืดหยุ่นด้านราคาค่าเช่าและอัตราการครอบครองที่ดี แม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจนักก็ตาม นอกจากนี้ตลาดอี-คอมเมิร์ซ จะสามารถผลักดันการเติบโตให้กับตลาดโลจิสติกส์ทั้งประเทศได้

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563