คอนโดแบกภาษีที่ดินอาน ขอปลดล็อกEIA

13 ม.ค. 2563 | 09:00 น.

สมาคมคอนโดฯ - ดีเวลอปเปอร์โวย แบกต้นทุนภาษีที่ดินฯ อาน ชนวนอีไอเอล่าช้า ตัวการดันต้นทุนพุ่ง เดินหน้าชนกทม.-กระทรวงทรัพย์ฯ ขอลดขั้นตอน


กระทรวงการคลัง บังคับใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อปฏิรูปโครงสร้างระบบภาษีทรัพย์สิน ผลกระทบกลับตกอยู่กับประชาชนผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบ้านหลังที่ 2 ซึ่งมีภาระภาษีตั้งแต่บาทแรก สร้างความวิตกโกลาหลอย่างมาก เมื่อกรุงเทพมหานครออกใบยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สิน

ปลายปี 2562 กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย จึงมีมติผ่อนปรนให้กับคอนโดมิเนียมสำหรับผู้ที่อยู่อาศัยจริง แม้ไม่ปรากฏชื่อในทะเบียนบ้าน รวมทั้งกลุ่มซื้อเพื่อปล่อยเช่าให้อยู่ในข่ายเสียภาษีที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเหลือล้านละ 200 บาทต่อปี จากเดิมอยู่ในหมวดอื่นๆ หรือประเภทพาณิชย์ต้องเสียภาษีล้านละ 3,000 บาท ช่วยผ่อนคลายภาระประชาชนลงได้มากถึง 93.3% ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างได้อานิสงส์ สามารถระบายสต๊อกได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทที่มีอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก หากคอนโดฯ ราคา 3 ล้านบาท เท่ากับเสียภาษีปีละ 600 บาทหรือเฉลี่ยเดือนละ 50 บาทเท่านั้น แต่ต้นทุนระหว่างก่อสร้างยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับผู้ประกอบการที่ต้อง เรียกร้องให้รัฐผ่อนปรน ป้องกันไม่ให้เกิดการผลักภาระต้นทุนบวกเข้าไปในราคาบ้าน

ทั้งนี้ นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICHY ในฐานะนายกสมาคมอาคารชุดไทย ระบุว่า ผลกระทบคนซื้อคอนโดฯ หลายหลัง ผ่อนคลายลงจากการเสียภาษีล้านละ 200 บาท แม้จะซื้อเพื่อเก็งกำไรเพื่อปล่อยเช่า ในมุมกลับผู้ที่ต้องแบกภาระต้นทุนกลับเป็นผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม ที่ กระทบถึง 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเตรียมขึ้นโครงการหากอีไอเอ (การทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ยังไม่อนุมัติ ก็ไม่สามารถยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างได้ ผู้ประกอบการต้องเสียภาษีที่ดินประเภทอื่นๆ หรือ พาณิชยกรรม จนกว่าจะได้ใบอนุญาต รวมทั้งภาระดอกเบี้ย ทั้งนี้หากได้ใบอนุญาตก่อสร้าง เริ่มดำเนินการและขายช่วงนี้จะเสียภาษีประเภทที่อยู่อาศัยแต่หากขายไม่หมดภายใน 3 ปี (นับจากออกใบอนุญาต) จำนวนหน่วยที่เหลือผู้ประกอบการต้องเสียภาษีประเภทพาณิชย์

คอนโดแบกภาษีที่ดินอาน  ขอปลดล็อกEIA

นางอาภากล่าวต่อว่า ปัญหาใหญ่ที่สุด คือ อีไอเอ ปัจจุบันคณะกรรมการชำนาญการมักใช้ดุลพินิจ ใช้เวลาตั้งแต่ 5 เดือน-1 ปีบางโครงการ ใช้เวลา 1 ปีเศษ-2 ปี เมื่อภาษีที่ดินบังคับใช้ มองว่า หากการพิจารณาอีไอเอยังล่าช้า จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องโยนภาระต้นทุนให้ผู้ซื้อ และเร็วๆ นี้ สมาคมอาคารชุดไทยจะเข้าพบกรุงเทพมหานคร , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอผ่อนปรนใช้รหัสโค้ดเป็นข้อๆ สร้างมาตรการใหม่ ลดความเข้มงวด ลดการพิจารณาให้สั้นลง เบื้องต้นจะเข้าพบหน่วยงาน กทม.ก่อน

สอดคล้องกับนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษาเรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปัจจุบันการอนุมัติรายงานอีไอเอมีความล่าช้า เนื่องจากมีการกระจายให้แต่ละท้องถิ่นเป็นผู้อนุมัติ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมชี้เป็นชี้ตายว่าจะให้โครงการตั้งอยู่ในชุมชนหรือไม่ ส่งผลให้กว่าจะได้รับอนุมัติอีไอเอ ต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 1 ปีจากเดิมใช้เวลาเพียง 5 เดือน มองว่า รัฐควรผ่อนปรนลดขั้นตอนให้เร็วขึ้น เพื่อลดผลกระทบภาษีที่ดิน 

คอนโดแบกภาษีที่ดินอาน  ขอปลดล็อกEIA

นายอธิป พีชานนท์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ระบุว่า สมาคมผ่อนผันภาระผู้ประกอบการ สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และขายในอัตราที่อยู่อาศัย หากขายไม่หมดภายใน3 ปี (นับจากได้รับใบอนุญาต) ต้องเสียภาษีอัตราพาณิชย์ ฉะนั้น ผู้ประกอบการต้องประมาณตนในการพัฒนา

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภาษีที่ดินที่บังคับใช้แทน ภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือน จะสร้างความเป็นธรรม ลดความลักลั่น ฐานภาษีมีความเป็นสากล กระตุ้นการใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดิน และกระจายการถือครอง ส่งเสริมกระบวนการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ที่สำคัญในระยะยาว อปท. มีงบประมาณพอเพียงในการพัฒนาท้องถิ่น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563