เม็ดเงินรัฐ ตัวชี้เป็นอสังหาฯไทย

09 ม.ค. 2563 | 23:40 น.

คอลัมน์ผ่ามุมคิด

 

ภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 2562 ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ตลอดจนปัจจัยลบรุมเร้า กลายเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ สะดุด ขาบุก กลับสู่แนวตั้งรับ...อสังหาฯ 3 ทศวรรษอย่าง ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ โดยนายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหารบริษัท สะท้อนมุมมองจากประสบการณ์ ระบุ ปี 2563 ธุรกิจทำมาหากินยังยาก เหตุเศรษฐกิจโลกไม่เอื้อ ผู้ประกอบการต้อง รู้รับ ตั้งหลักเป็นมืออาชีพเท่านั้นถึงอยู่รอด ขณะลุ้นเครื่องยนต์หลักจีดีพีไทย ด้านเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐเข้าระบบโดยเร็ว หวังฟื้นภาพรวมส่งต่อดีมานด์ตลาดอสังหาฯ เผยกลยุทธ์ปีนี้ เรือธงหลักยังยึดแนวราบ สร้างการเติบโตเหนือตลาด

 

ไชยยันต์ ชาครกุล

 

ปรับตัวรับศก.โลก

เบื้องต้นมีความกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจโลกไม่น้อย เพราะจะส่งผลโดยตรงกับเศรษฐกิจในประเทศของไทย จากความขัดแย้งเดิมจีน-สหรัฐฯ สู่คู่ขัดแย้งใหม่ สหรัฐฯ-อิหร่าน ส่งผลภาพรวมของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อเนื่อง โดยเวิลด์แบงก์ประเมินจะเติบโตที่ 3.4% เท่านั้น ขณะที่คู่ค้าของไทย ประเทศสหรัฐฯ เกือบทรงตัวที่ 2.1%, ยุโรป คาดโตเพียง 1.4% และจีนเพียง 5.8% นับเป็นปีแรกที่จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6% ทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบโดยตรง เกิดภาวะเหนื่อยไม่ต่างจากปีก่อน จนหลายสำนักคาดการณ์ว่า จีดีพีไทยปีนี้อาจโตได้เพียง 2.8% เท่านั้น เพราะเครื่องยนต์หลักมีปัญหา ขณะที่เราคาดการณ์ในมุมบวก ขยายตัวราว 3%

 

กระตุ้นรัฐเร่งลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้อยู่ในระดับเล็กน้อย แต่การส่งออกเสี่ยงเพราะคู่ค้านั้น ฉะนั้นอีก 4 ตัวขับเคลื่อนหลักต้องทำงานอย่างเต็มที่ โดยจะมีภาคการลงทุนของรัฐเป็นตัวนำร่องให้เกิด ผ่านการนำเม็ดเงินงบประมาณประจำปี เข้าสู่ระบบโดยเร็วที่สุด โดยคาดช่วงกลางเดือนมกราคม น่าจะเดินหน้าได้ และเมื่อรัฐลงทุนผ่านสาธารณูปโภคใหม่ มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มเติม จะก่อให้เกิดภาพการลงทุนของเอกชนตามมา เพราะมีความมั่นใจ ตัวนี้เองจะก่อให้เกิดการจ้างงาน การขยายกิจการเพิ่ม แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น กระตุ้นไปยังภาคการบริโภคของคนในประเทศ จะส่งผลดีต่อธุรกิจต่างๆ ตามมา รวมถึงภาค อสังหาฯด้วย และเมื่อบวกกับภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแรง การเติบโตของเศรษฐกิจน่าจะเป็นไปตามเป้า เปรียบเม็ดเงินการลงทุนของรัฐ เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของธุรกิจไทยทั้งระบบ

อสังหาฯ ไม่ได้โตด้วยตนเอง เราโตจากเครื่องยนต์ของจีดีพีเช่นกัน มองดีมานด์จะเกิด เมื่อคนมีงานทำ เงินเพิ่ม เพราะเอกชนลงทุน ซึ่งก็ต้องมาจากสาธารณูปโภคที่รัฐลงทุนเป็นอันดับแรก


 

 

อสังหาฯ ปรับสมดุล

นายไชยยันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อปัจจัยภายนอกอึมครึม ภายในยังไม่แน่นอน ทำให้การทำธุรกิจยากขึ้น และจากสถานการณ์ดังกล่าว เรามองว่า ปีนี้เป็นโจทย์ยากในทุกโปรดักต์ และทุกระดับราคาของอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ อ้างอิงจากการคาดการณ์ของ บริษัท ซีบี ริชาร์ด เอลลิส (ประเทศไทย) ที่ระบุ จะมีซัพพลายเปิดใหม่ลดลงในตลาดถึง 20% ขณะที่ตลาดแนวราบมองยังมีโอกาสเติบโต 2-4% ท่ามกลางผู้ประกอบการจะพยายามกระตุ้นกำลังซื้อผ่านกิจกรรมทางการตลาดอย่างเข้มข้นในช่วงที่มาตรการรัฐยังมีผลไตรมาสแรกของปี เปรียบเป็นปีพิสูจน์ความเป็นมืออาชีพของแต่ละบริษัท ในการทำแผนอย่างไรให้อยู่บนแนวตั้งรับที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า ที่บางรายตั้งเป้าการเติบโตแบบเกินตัว และเติมซัพพลายให้ตลาดจนน่ากลัว

อยากเตือนว่า การทำธุรกิจต้องถูกต้อง แม่นยำ ก่อนหน้า พบบริษัทในตลาดหลายราย ขยายเกินศักยภาพ แต่ปีที่แล้วช่วงครึ่งหลัง เริ่มกลับมาลดขนาดการเปิดโครงการน้อยลง ถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่ส่งผลให้ซัพพลายไม่ถูกเติมมากเกินดีมานด์ ช่วยปรับสมดุลได้

 

เกาะแน่นตลาดแนวราบ

ทั้งนี้ บริษัทเอง มีการประเมินและมองเห็นความเสี่ยงตรงจุดนี้มาล่วงหน้า จึงหยุดพัฒนาโครงการคอนโดฯมาแล้วกว่า 2 ปี เน้นโครงการแนวราบที่เป็น Real Demand จึงทำให้บริษัท ยังคงสามารถเติบโตได้ แม้ในภาวะตลาดอสังหาฯ โดยรวมซบเซา ปีนี้ก็เช่นกัน เรายังคงเน้นในกลุ่มบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม ทั้งในทำเลกทม.-ปริมณฑล และจังหวัดยุทธศาสตร์ ทำเลโอกาส เช่น จังหวัดในอีอีซี เหตุสามารถบริหารจัดการสต๊อกได้ดีกว่าเมื่อเกิดความเสี่ยงขึ้น โดยจะเจาะกลุ่มราคา 2-6 ล้านบาท ดีมานด์กลุ่มใหญ่ของตลาด เพราะเป็นกลุ่มบ้านหลังแรกของคนวัยหนุ่ม-สาว แต่งงานสร้างครอบครัว ผ่านโปรดักต์ในทำเลสำคัญ ทั้งแนวรถไฟฟ้าสายเก่า-สายใหม่ และแหล่งงานสำคัญ เป็นต้น

มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งสิ้น 9-11 โครงการ มูลค่ารวม 5-5.5 ล้านบาท ภายใต้เป้าหมายยอดขายไว้ที่ 6.2 พันล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 5.25 พันล้านบาท โต13%” 

 

หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,538 วันที่ 9-11 มกราคม 2563