เอกชนมั่นใจรัฐ  โด๊ปอสังหาต่อเนื่อง  

15 ธ.ค. 2562 | 00:00 น.

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งลดค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง รวม 3.5% เหลือเพียง 0.02% สำหรับบ้านราคาตํ่ากว่า 1 ล้านบาท ล่าสุดขยายสิทธิไปถึงที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน3 ล้านบาท ในโครงการบ้านดีมีดาวน์ คืนเงินดาวน์ 50,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาท โดยจำกัดเพียง 1 แสนราย แต่จะผ่านเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อมากน้อย ต้องติดตามหลังมีผู้ลงทะเบียนล้นทะลัก

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากมาตรการนี้ ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้จริง ในมุมผู้ประกอบการ, บริษัทสื่อกลางซื้อ-ขายที่อยู่อาศัย ต้องการให้รัฐออกมาตรการเสริมต่อเนื่อง จนกว่าจะกลับมาอยู่ในภาวะปกติ เนื่องจากมีปัจจัยกระทบหลายด้าน ลุกลามจาก ปี 2562 ไปยังปี 2563 ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า ระหว่างจีน และสหรัฐฯ โดยเฉพาะมาตรการควบคุมสินเชื่อหรือแอลทีวี ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เนื่องจากธุรกิจอสังหาฯ เป็นฟันเฟือนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ และออกมาตรการช่วยเหลือกระตุ้น กำลังซื้อ อย่างไรก็ตาม แม้มีคนกลุ่มใหญ่ที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อแต่ยังมีกลุ่มคนเงินเย็น, กลุ่มซื้อเพื่อลงทุน, กลุ่มที่มีความพร้อม ฯลฯ ต้องการซื้อ ซึ่งถือเป็นโอกาสทั้งคนที่จะซื้อบ้านและผู้ประกอบการที่รอระบายสต๊อก เชื่อว่ารัฐบาลจะออกมาตรการเหล่านี้ต่อเนื่อง และขยายระยะเวลาออกไปจนกว่าตลาดอสังหาฯ จะดีขึ้น

เช่นเดียวกับ ค่ายศุภาลัย นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ ที่ระบุว่า การที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ซื้อ และประเมินว่าจะมีมาตรการออกมาต่อเนื่อง

 

ด้านนางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ของไทย ระบุว่า โครงการบ้านดีมีดาวน์ของรัฐบาล ผ่านการสนับสนุนเงินดาวน์ที่อยู่อาศัย 5 หมื่นบาท แก่ผู้ผ่านหลักเกณฑ์ 1 แสนรายนั้น คงมีส่วนช่วยในแง่ของจิตใจผู้ซื้อ ส่งเสริมบรรยากาศในตลาดได้ แต่ในทางปฏิบัติ มีความยากจากขั้นตอนหลายประการ ขณะเดียวกันจำนวนเงิน 5 หมื่นบาท อาจไม่จูงใจมากพอ เพราะมูลค่าบ้านในปัจจุบันค่อนข้างมีราคาสูง และคงเป็นประโยชน์แค่เฉพาะกลุ่มสินค้าเก่าที่พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในตลาดเท่านั้น แต่หากมีการขยายระยะเวลาของมาตรการออกไปอีก อาจมีผลดีขึ้นกับตลาดในระยะยาว เนื่องจากต้องยอมรับว่า ปัจจุบันตลาดค่อนข้างได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของ ธปท.

สิ่งที่รัฐบาลออกมาชดเชย น่าจะเป็นคนละส่วนกับปัญหาที่มี เพราะทุกมาตรการมีเงื่อนไข มีข้อจำกัดอยู่ เช่น มาตรการก่อนหน้า ลดภาระค่าจดจำนองในกลุ่มตํ่ากว่า 3 ล้านบาท แต่ในตลาดสินค้ามีราคาสูงกว่านั้น ที่คนมีความต้องการและเป็นกลุ่มที่มีความสามารถซื้อ รัฐต้องมองกว้างขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,531 วันที่ 15-18 ธันวาคม 2562

                    เอกชนมั่นใจรัฐ  โด๊ปอสังหาต่อเนื่อง