‘เทคโนโลยี’  พลิกนวัตกรรมก่อสร้าง

12 ธ.ค. 2562 | 23:40 น.

ผ่ามุมคิด

ท่ามกลางยุคดิสรัปชัน หลายอุตสาหกรรมหาทางปรับตัว จากผลกระทบเทคโนโลยี ดิจิทัล เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อ-ขาย และการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่กลับเป็นผลดีต่อวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งถือเป็นหนึ่งขาหลักของเศรษฐกิจไทยที่แข็งแกร่ง ในการช่วยออกแบบก่อสร้าง หรือพัฒนาวัสดุ, อุปกรณ์ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รองรับเทรนด์แห่งอนาคต โดยนายประเสริฐ ธรรมมนุญกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เข็มเหล็กฯ (เครือ สุธี กรุ๊ป) ผู้คิดค้นนวัตกรรมเข็มเหล็กฐานรากเพื่อการก่อสร้างโฉมใหม่รายแรกของไทย ระบุ มูลค่าก่อสร้างไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นับเป็น 10% ของจีดีพีชี้นวัตกรรมและเทคโนโลยีช่วยสร้างการเติบโตอย่างมั่นคง ดันเข็มเหล็กเข้าชิงตลาดและพลิกวงการฐานรากแบบดั้งเดิม ตั้งเป้าลุยลูกค้าทุกกลุ่มโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ไทย

ก่อสร้างไทยพุ่ง1.5ล้านล้าน

ปี 2562 การก่อสร้างของประเทศไทยมีมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นถึง 10% ของจีดีพีประเทศ แต่คาดอนาคตมูลค่าจะเติบโตสูงขึ้นอีกต่อเนื่อง จากแนวโน้มแผนการลงทุนตั้งแต่ขนาดเล็ก ถึงขนาดใหญ่จากทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการขยายตัวของวงการก่อสร้างไทยนั้น ได้ส่งผลบวกโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งหมดที่อยู่ในอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง เช่น งานฐานราก ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง

‘เทคโนโลยี’  พลิกนวัตกรรมก่อสร้าง

ประเสริฐ ธรรมมนุญกุล

วงการฐานราก

ซึ่งหากเจาะเฉพาะส่วนงานฐานราก พบเป็นตลาดที่น่าสนใจ มีขนาดใหญ่ และยังเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท หรือนับเป็น 10% ของมูลค่าก่อสร้างไทย 1.5 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยเม็ดเงินดังกล่าว ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เป็นงานโครงสร้างขนาดใหญ่สำหรับตึกสูง ส่วนอีก 1 แสนล้านบาท กระจุกตัวในงานเสาเข็มทั้งหลาย เช่น ไม้ ปูน และเหล็ก สำหรับการสร้างอาคาร หรือ บ้าน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันวิวัฒนาการความก้าวหน้าเรื่องของเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทต่อวงการฐานรากและเสาเข็มมากขึ้น เพราะฐานรากแบบเดิมๆ เริ่มมีปัญหา ทั้งเรื่องการจ้างแรงงาน การควบคุมระยะเวลาไม่ได้ และค่าใช้จ่ายที่สูง รวมไปถึงการสร้างมลพิษทางเสียงและฝุ่นขณะทำการก่อสร้างด้วย ซึ่งขัดแย้งกับเทรนด์ยุคใหม่ใส่ใจธรรมชาติ ขณะที่นวัตกรรมใหม่ๆ กลับช่วยเสริมประสิทธิภาพในด้านความรวดเร็ว ทนทาน ประหยัดและปลอดภัย

งานฐานราก เสาเข็ม เป็นส่วนสำคัญสุดของบ้านและอาคาร ตลาดกว้างโตไม่หยุด ตั้งแต่การต่อเติมขนาดเล็ก บ้าน ร้านอาหาร ห้างค้าปลีก ร้านกาแฟ ไปจนงานลงทุนใหญ่ของรัฐ

 

พลิกโฉมเสาเข็ม

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า จากเทรนด์และความต้องการดังกล่าว บริษัทจึงคิดค้นนวัตกรรมฐานรากสำเร็จรูป ภายใต้ชื่อเข็มเหล็กขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับงานโครงสร้างทุกรูปแบบในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรายแรกของไทย ใช้หลักการ เจาะยึดกับผิวหน้าดินผ่านเข็มรูปเกลียวมีฟิน เพิ่มการรับน้ำหนัก และเสริมการเกาะให้ดินแน่น ลดปัญหาโพรงใต้ดิน โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อเข้าทดแทนตลาดฐานราก ไม้ หรือปูนแบบเดิมๆ โดยเฉพาะกลุ่มงานต่อเติมอาคารที่พักอาศัย หรืออาคารขนาดเล็ก รวมถึงการนำมาใช้แทนเสาเข็มปูนในการก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น, บ้านน็อกดาวน์ ซึ่งตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ฐานรากที่ได้รับความนิยมในตลาด

ตลาดฐานรากมีโอกาส เข็มเหล็ก ต้องการเจาะไปยังตลาดทดแทน เสาปูน, เสาไม้ ที่กินรวบอยู่ขณะนี้ เป้าคือ 3 หมื่นล้านบาท ใน 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ในขั้นทดลองตลาด มาร์เก็ตแชร์ 1% แต่คาดอนาคตจะได้รับการตอบรับมากขึ้น หลังปีนี้ทำยอดรายได้เติบโตเป็น 10 เท่าจากช่วงปีที่ผ่านมา

 

แผนธุรกิจ

ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ากระจายหลายกลุ่ม แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ เจ้าของบ้าน และลูกค้าองค์กร (แบรนด์เนม) 50:50 ในรูปแบบ ต่อเติมที่พักอาศัย, ทำโรงจอดรถ, ป้ายโฆษณา, งานเสาไฟ, ทำสวนคํ้ายันต้นไม้

และโดยเฉพาะสร้างโซลาร์รูฟขนาดเล็ก ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หลังจากคนไทยหันมานิยมผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น รวมรายได้ในปี 2562 ประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด คาดจะส่งผลให้ทั้งปีบริษัทมีรายได้รวมจากกิจการอื่นๆด้วย ที่ 600 ล้านบาท ขณะที่ปี 2563 วางเป้าหมายรายได้เฉพาะเข็มเหล็ก ที่ 300-400 ล้านบาท และเตรียมนำบริษัท เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนขยายกิจการควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมเข็มเหล็กรูปแบบใหม่ๆ ที่มีขนาดใหญ่ และยาวขึ้น เพื่อหวังเข้าไปเจาะในกลุ่มงานอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของผู้ประกอบการที่ตลาดโตต่อเนื่องด้วย ทั้งยังเตรียมขยายตลาด ครอบคลุมการติดตั้งให้ครบทั่วประเทศ จากเดิมที่มีฮับใหญ่สำหรับการสต๊อกสินค้าและกระจายงานเพียง 2 ฮับ คือ กทม. และ เชียงใหม่ แต่ในอนาคตวางเป้าขยายให้ได้ 7-8 ฮับ เจาะโซนอีอีซี ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีฐานลูกค้าจำนวนมาก รวมไปถึงภาคตะวันออกและภาคตะวันตกด้วย เฉลี่ยงบลงทุน 20-30 ล้านบาท/ฮับ

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12-14 ธันวาคม 2562

                     ‘เทคโนโลยี’  พลิกนวัตกรรมก่อสร้าง