อสังหาหัวเมืองกระเตื้อง อานิสงส์2มาตรการรัฐ

10 ธ.ค. 2562 | 23:00 น.

อสังหาฯภูมิภาคชี้ 2 มาตรการรัฐช่วยปลุกบรรยากาศซื้อขาย เร่งคนซื้อตัดสินใจซื้อ-โอนเพิ่ม 15% ผู้ประกอบการมีแรงเปิดโครงการใหม่ช่วยเศรษฐกิจหมุนเวียน ชี้สต๊อกบ้านในพื้นที่มีไม่มาก หวังมาตรการที่เจาะจงพื้นที่เพิ่ม

 

 

มาตรการภาคอสังหาริมทรัพย์ 2 ระลอก ทั้งลดค่าโอน-ค่าจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบ้านไม่เกิน 1 ล้านบาท และคืนเงินดาวน์ 50,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน จำนวน 100,000 รายแรก เพื่อกระตุ้นการซื้อขายเร่งการโอน ผู้ประกอบการ
อสังหาฯในหัวเมืองชี้ว่าไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงเพราะไม่มีปัญหาสต๊อกค้างมือจำนวนมาก แต่ดีกว่าไม่มี อย่างน้อยช่วยให้บรรยากาศซื้อขายดีขึ้น

นายวโรดม ปิฏกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ประธานกรรมการโครงการบ้านจัดสรรเดอะพรอมิเน้นซ์ กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาถือว่าดี แม้ว่าอาจจะไม่แรงมาก แต่ก็มีส่วนเร่งคนต้องการซื้อบ้านตัดสินใจเร็วขึ้น โดยเฉพาะรายที่รอโอนที่จะได้เงินคืน 50,000 บาท ช่วยให้ภาคอสังหาฯที่ซบเซามาตั้งแต่ต้นปีขับเคลื่อนต่อไปได้ เช่น คืนดาวน์ 50,000 บาท ถ้าซื้อคอนโดฯห้องละ 1 ล้านบาท ก็ประหยัดไปได้ 5% ถือว่าจูงใจระดับหนึ่ง เชื่อว่าจะช่วยให้ยอดขายกระเตื้องได้ 10-15% จากที่ตกไปกว่า 40% ทำให้มีสต๊อกเหลือค้างพอสมควร และต้องปรับตัวเปลี่ยนเป็นสร้างตามสั่ง ไม่ทำสต๊อกไว้มาก

“สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย อาทิ การเข้มงวดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ถ้าเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมาก ๆ คนอยากซื้อบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยจริง ๆ แต่กู้ไม่ผ่าน จากเมื่อก่อนขอกู้ 10 คน แบงก์อนุมัติสินเชื่อ 7 คน ปัจจุบันเหลือปล่อยให้แค่ 3 คน ทำให้สถานการณ์ยากขึ้น มาตรการของรัฐบาลนี้ทำให้สต๊อกที่คงค้างในตลาดก็พร่องออกไป ก็ยังดีกว่าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย”

ขณะที่นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และอดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต เห็นว่ามาตรการรัฐที่ออกมาให้ผลดีในแต่ละจุด เช่น ช่วยลดภาระผู้ซื้อกลุ่มโครงการไม่แพง ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับการลดค่าโอนค่าจดจำนอง และเร่งการโอนกว้างขึ้นถึงกลุ่มระดับราคา 3-5 ล้านบาท สำหรับมาตรการคืนเงินดาวน์ 50,000 บาท แต่ทั้ง 2 ประเด็นสำหรับต่างจังหวัดโดยเฉพาะที่ภูเก็ตได้ใช้ไม่มาก เพราะไม่มีบ้านเหลือค้างสต๊อก และส่วนใหญ่ราคาสูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ ทั่วประเทศอาจกระตุ้นได้ 30-40% สำหรับภูเก็ตได้รับผลอยู่ที่ 15-20%

“แต่รวม ๆ แล้วเป็นนโยบายที่ดีของภาครัฐ ที่มาส่งเสริมกลไกรายได้ทำให้เกิดการซื้อขาย เกิดความตื่นตัวและมีผลดี เช่นเดียวกับโครงการชิมช้อปใช้ เพราะมาตรการที่รัฐบาลออกมาตามลำดับ จะทำให้คนติดตามมากขึ้น เกิดความสนใจ ทำให้ได้ประโยชน์ในการจะนำมาใช้อะไรที่ใกล้ตัวได้ จึงควรออกมาเรื่อยๆ”

เช่นกันนายวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ อุดรธานี กล่าวว่า มาตรการที่ออกมาเป็นการทำตลาดแบบลดแลกแจกแถมในภาพรวมทั้งประเทศ แต่สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในส่วนภูมิภาคมีปริมาณซื้อ-ขายในวงแคบ ๆ ปัญหาน้อยกว่าในส่วนกลาง จึงอยากให้รัฐมองปัญหาที่เจาะจงระดับพื้นที่มากกว่ามองภาพใหญ่ทั้งประเทศ หรือหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภูมิภาค เพราะแต่ละพื้นที่ปัญหามีไม่เหมือนกัน เช่น ปัญหาบ้านหลังที่สอง การซื้อ-ขายเก็งกำไร หรือสต๊อกค้างเยอะ เรียกว่าให้ยาตรงกับโรค ไม่ใช่ให้แต่ยาแก้ปวดอยู่ตลอด

 

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้มีการใช้กฎระเบียบในการซื้อขายผ่อนส่งบ้านในลักษณะเดียวกับการซื้อขายรถยนต์โดยผู้ซื้อจะต้องผ่อนส่งบ้านไปจนครบตามสัญญากับบริษัทไฟแนนซ์แล้ว จึงสามารถทำการโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องพูดคุยกันในรายละเอียดให้ชัดเจนต่อไป รวมถึงมาตรการให้ผ่อนปรนการซื้อขายบ้านหลังที่สองในส่วนของภูมิภาค หรือมาตรการบางอย่างที่ตึงเกินไป น่าจะผ่อนคลายลงไปบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจของแต่ละจังหวะในแต่ละช่วงเวลาที่เป็นความจริง

ด้านนายสุทธิรักษ์ เสถียรภาพอยุทธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตัวแทนผู้ประกอบการขนาดกลาง กล่าวว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นหนึ่งในเครื่องจักรเศรษฐกิจ ปัจจุบันประสบปัญหาสต๊อกในมือผู้ประกอบการมีจำนวนมาก ฉะนั้นถ้าสามารถระบายออกก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง มาตรการภาครัฐออกมาหลายระลอกในช่วงปลายปีนี้ ทำให้บรรยากาศในตลาดดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดภูมิภาค ปลายปีนี้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน มีลูกค้าไปดูบ้านที่โครงการค่อนข้างคึกคัก เพราะนอกจากมาตรการรัฐแล้ว ผู้ประกอบการยังจัดโปรโมชันเสริมเพื่อเร่งการตัดสินใจซื้อ

“ธนาสิริมีโครงการบ้านเดี่ยวที่จังหวัดอุดรธานี ระดับราคามากกว่า 3 ล้านบาท ขณะที่ตลาดในพื้นที่จะนิยมซื้อบ้านเดี่ยวราคากว่า 2 ล้านบาท ถึงแม้ช่วงนี้จะได้มาตรการกระตุ้นมาช่วย โดยเฉพาะบ้านดีมีดาวน์ แต่จำนวนจำกัดเพียง 100,000 ราย สำหรับบริษัทคงไม่ได้อานิสงส์มากนัก เพราะส่วนใหญ่เน้นแนวราบ ราคาสูงกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562