ปลดล็อก  46 อาคารร้าง ทั่วกรุง  สร้างต่อได้

10 ธ.ค. 2562 | 23:40 น.

กทม. - กรมโยธาฯ เร่งปลดล็อก อาคารร้าง 32 โครงการ 46 อาคารทั่วกรุง ที่ได้รับผลกระทบวิกฤติต้มยำกุ้งให้เดินหน้าต่อ เตรียมคลอดประกาศ ยกเว้นเรื่องระยะถอยร่น  

 

มีอาคารก่อสร้างค้างจากวิกฤติเศรษฐกิจในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนมาก รอการปลดล็อกจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย อนุญาตให้เจ้าของอาคารเข้าพื้นที่ก่อสร้างต่อเติมอาคารส่วนที่เหลือได้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ หากอาคารเหล่านั้นมีการพลิกฟื้นประเมินว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าระบบช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศให้ขับเคลื่อนได้อีกนับแสนล้านบาท อีกทั้งยังช่วยสร้างความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน เพิ่มความสวยงามให้กับพื้นที่

จากการสำรวจของสำนักการโยธา กทม. พบอาคารร้างคงเหลือจำนวน 32 โครงการ 46 อาคาร  กระจายตัวอยู่ในเขตต่างๆของกทม. ส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงานและคอนโดมิเนียม ประเมินว่าเกิดจากสภาพคล่อง ไม่สามารถต้านทานพายุวิกฤติในขณะนั้นได้  ล่าสุดได้รวบรวมจำนวนโครงการเสนอต่อกรมโยธาฯ ออกกฎหมายผ่อนปรนต่อไป 

สำหรับแนวทางจะเป็นรูปแบบ ออกประกาศกรม, ประกาศกระทรวงหรือข้อยกเว้น ให้อาคารร้างสร้างต่อตามที่ได้ขออนุญาตจนแล้วเสร็จ หรืออนุญาตให้ใช้อาคารได้ตามที่สร้างค้างไว้ เป็นต้น

ปลดล็อก  46 อาคารร้าง ทั่วกรุง  สร้างต่อได้   

 

แหล่งข่าวจากกทม. อธิบายว่าสาเหตุที่อาคารร้างไม่สามารถเดินหน้าก่อสร้างต่อได้ แม้มีนักลงทุนให้ความสนใจหรือเจ้าของอาคาร ติดต่อขอสร้างต่อ แต่ติดปัญหากฎหมายใหม่ๆที่ออกมาหลังจากปี 2540 เช่น กฎกระทรวงฉบับที่ 55 ให้เว้นระยะถอยร่น ที่เพิ่มขึ้น เช่น รอบอาคารบ้านจัดสรร 3 เมตร  อาคารสูงใหญ่ 6 เมตร หากขออนุญาตใหม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับกฎหมายใหม่ทำให้อาคารเก่าที่สร้างค้างไม่สามารถเดินต่อได้ทางออกที่สามารถทำได้คือ ยกเว้นเรื่องระยะถอยร่น   

“ฐานเศรษฐกิจสอบถาม กรมโยธาฯโดยระบุว่า ขณะนี้เตรียมนำอาคารร้างส่งเข้าสู่คณะอนุกรรมการควบคุมอาคาร ก่อนจะเสนอคณะกรรมการควบคุมอาคารเห็นชอบออกข้อกำหนดผ่อนปรนต่อไป เพื่อให้โครงการที่สร้างค้างได้พลิกฟื้นเดินหน้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป เพราะปล่อยทิ้งไว้ไม่เกิดประโยชน์ 

 

 

กรมจะเร่งดำเนินการต่อไป ปัญหาใหญ่อาคารที่ค้างมีมากพอสมควร ส่วนใหญ่ติดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ซึ่งจะอยู่ในสถาบันการเงิน และอาจมีนักลงทุนสนใจซื้อในราคาถูก ขณะเดียวกันช่วงปี 2542 เป็นจังหวะของกฎกระทรวง ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร บังคับใช้ ซึ่งมีความเข้มข้นห้ามสร้างอาคารสูงเกิน 23 เมตร หรือเกิน 8 ชั้น ในซอยที่มีความกว้างของถนนตํ่ากว่า 10 เมตร กฎกระทรวงฉบับที่ 55 เว้นระยะถอยร่น รอบอาคาร ข้างละ 6 เมตร รวมทั้งการติดตั้งระบบดับเพลิงสำหรับอาคารสูงใหญ่ เป็นต้น           

ขณะที่อาคารเก่าที่ได้ใบอนุญาตมาก่อนหน้านี้ หากต่ออายุ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบใหม่ ที่สำคัญใบอนุญาตจะต่ออายุปีต่อปี เมื่อประสบปัญหาหยุดสร้างไม่ว่ากรณีใดๆ จึงไม่สามารถดำเนินการใด ได้ อย่างไรก็ตาม หากทุกอย่างขับเคลื่อนได้ เอกชนและสถาบันการเงินเจรจาตกลงกันได้ ก็สามารถนำไปพัฒนาต่อได้

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,529 วันที่ 8-10 ธันวาคม 2562

 

                      ปลดล็อก  46 อาคารร้าง ทั่วกรุง  สร้างต่อได้