ประมูล ‘ส้มตะวันตก’  ที่ประตูนํ้าพุ่ง  วาละ 2.5 ล้าน

18 พ.ย. 2562 | 23:30 น.

กลางปีหน้า จ่อประมูลส้มตะวันตกเปิด ทำเลทอง เส้นผ่าเมืองเชื่อม บีทีเอส แอร์พอร์ตลิงค์ ประตูนํ้า-พญาไท-ราชเทวี พุ่ง 1.8-2.5 ล้าน เผยอยู่ไม่ห่างเมืองมักกะสัน ไฮสปีดซีพี นายกอสังหาฯ แจง เป็นย่านธุรกิจ-ชุมชนหนาแน่น ไม่มีใครยอมขายตึกแถว

 

ช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 หากไม่มีอะไรผิดพลาดคลาดเคลื่อน จะได้เห็นการประมูล เค้กก้อนโตโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 36 กิโลเมตร มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท รูปแบบสัญญาเดียว หรือพีพีพี เน็ตคอสต์ นอกจากความเคลื่อนไหวของ บิ๊กทุนผู้สนใจชิงสัมปทานแล้ว ความคึกคักตลอดแนวเส้นทางประเมินว่า จะเริ่มทยอยให้เห็น แม้ปัจจุบันตลอดอสังหา ริมทรัพย์อาจอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ขึ้นอยู่กับทำเล ดีมานด์ และรูปแบบสินค้า แต่ที่สำคัญ คือ กว่าโครงการสายสีส้มตะวันตก จะลงมือก่อสร้างแล้วเสร็จจนเปิดให้บริการ มองว่ายังอีกยาวไกล ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการไม่ตํ่ากว่า 4-5 ปี ทำนายว่าช่วงนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ น่าจะกลับมากระชุ่มกระชวยเหมือนเช่นเคยก็เป็นได้

 

ทั้งนี้เนื่องจาก “สายสีส้มตะวันตกเป็นเส้นผ่าเมืองผ่านพื้นที่สำคัญหลายจุด ศักยภาพแค่เป็นรองจาก บีทีเอสสายสีเขียว รถไฟฟ้าสายแบคโบนหรือเส้นทางหลักเชื่อมโยงโครงข่าย จึงเป็นที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะทำเลประตูนํ้า อีกทั้งยังอยู่ไม่ห่างจากสถานีพญาไท ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทาง ของ บีทีเอส กับ แอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ และใกล้กับเมืองมักกะสัน 149 ไร่ ที่กลุ่มซีพี เตรียมลงมือพัฒนา ควบคู่ไปกับ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับ สถานีบีทีเอสราชเทวี สถานีเพชรบุรี ของ ใต้ดิน MRT สายสีนํ้าเงิน เชื่อมการเดินทางได้ทั้งเข้าเมือง-ออกเมือง ไปยังรัชดาฯ-พระราม 9 ศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่ สนามบินสุวรรณภูมิ หรือแม้แต่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเมืองอีอีซี

 

ความน่าสนใจของนักพัฒนา น่าจะเน้นลงทุนอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียม เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทย เข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า ปริมาณผู้โดยสารน่าจะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยเฉพาะ ทำเลสถานีจุดตัด เพื่อเดินทางเชื่อมต่อ รถไฟฟ้าบริเวณนี้ จะมี ดีเวลอปเปอร์จับจองพื้นที่แทบไม่มีเหลือ หรือหากมีให้เห็นเจ้าของก็น่าจะโก่งราคาแพงหูฉี่ ขณะราคาที่ดินขยับขึ้นร้อนแรง โดยเฉพาะบริเวณสถานีสำคัญ

ประมูล ‘ส้มตะวันตก’  ที่ประตูนํ้าพุ่ง  วาละ 2.5 ล้าน

มุมสะท้อนของนายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหา ริมทรัพย์ไทย ระบุว่า ทันทีที่สายสีส้มตะวันตก มีความชัดเจน และเตรียมความพร้อม ที่จะเปิดประมูลประมาณกลางปี 2563 ทำเล กลางเมืองที่น่าสนใจ จะอยู่ในช่วงประตูนํ้า พญาไท ราชปรารภ เนื่องจากมีความหนาแน่นสูง มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสแอร์พอร์ตลิงค์ และใกล้มักกะสัน เมืองระดับโลกในอนาคตจากการพัฒนาของกลุ่มซีพี

 

อย่างไรก็ตาม ราคาที่ดินขยับสูงประมาณ 1.8-2.5 ล้านบาทต่อตารางวา เนื่องจากไม่มีใครยอมขาย โดยเฉพาะ ตึกแถวในแถบประตูนํ้า ประเมินว่า หากเปิดเดินรถจะมีคนใช้บริการค่อนข้างสูง

 

ขณะเดียวกันผลกระทบก็มีมากเช่นกัน โดยเฉพาะการเวนคืนอาจกินตึกแถว บริเวณหน้าพันธุ์ทิพย์ ก่อนโค้งไปตลาดเฉลิมลาภ ซึ่งจะมีห้างพาลาเดียม และ วอเตอร์เกต ห้างของนักการเมืองดังตั้งอยู่ใกล้กัน แม้จะมุดลงใต้ดินก็ตาม

 

ปัญหาใหญ่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องแก้ปัญหาแนวเวนคืนให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะกลางใจเมืองอย่างประตูนํ้า บริเวณตลาดเฉลิมโลก ไม่แน่ใจว่ารูปแบบได้ข้อยุติจริงหรือไม่ เพราะแม้รฟม.จะแก้ปัญหา ลดผลกระทบเวนคืนด้วยการ มุดแนวเส้นทางลงใต้ดิน แต่ต้องหลบตอม่อใต้ดิน เช่นเดียวกับ การออกแบบส่วนใต้ดินจะทำลักษณะ ท่อนํ้าตรงกลาง โดยให้รถไฟฟ้าลอดผ่านแล้วปิดฝาด้านบนของผิวถนนด้วยคอนกรีต ไม่แน่ใจว่าชาวบ้านจะยอมหรือไม่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับ บริษัทผู้รับสัมปทาน จะปรับเปลี่ยนแบบหรือไม่

 

นายพรนริศ ฉายภาพต่อว่า อีกทำเลที่น่าสนใจ จะอยู่บริเวณสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ระหว่างสายสีส้มตะวันออก และตะวันตก ขณะเดียวกันยังเชื่อมต่อกับสถานีใต้ดิน MRT สายสีนํ้าเงิน ซึ่งเป็นสถานี ใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศ ราคาที่ดินที่มีการซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แล้วอยู่ที่ 1 ล้านต้นๆ ต่อตารางวา แต่ปัจจุบันยังมีที่ดินแปลงใหญ่ยังไม่ขาย เพียงแต่บอกตัวเลขเสนอขายสูงถึง 1.4-1.5 ล้านบาทต่อตารางวา ของ ตระกูล วิทยากร เช่นเดียวกับแปลงติดกัน ของ บริษัทแหลมทองค้าสัตว์ฯ ประเมินว่า น่าจะยังไม่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือเพราะ เรื่องยังเงียบอยู่ แต่เบื้องต้นเท่าที่ทราบจะขายในราคาใกล้เคียงกันกับแปลงแรก ทั้งนี้ ที่ดิน 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ บริเวณสถานีร่วมสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรมฯ ตรงข้ามกับห้างเอสพลานาด ถือเป็นที่ดินกลางเมืองแปลงใหญ่ หายากยิ่งในเวลานี้

 

นอกจากนี้ บริเวณด้านหลัง ของศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีชุมชนประชาสงเคราะห์คัดค้าน แต่ทั้งนี้หากใช้แนวเส้นทางเดิม กลับไปวิ่งตามแนวถนนพระราม 9 ก็จะไม่ผ่านย่านธุรกิจ แหล่งช็อปปิ้งอย่าง เอสพลานาด บิ๊กซี บนถนนรัชดา

 

สอดคล้องกับ นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด สะท้อนว่า ทำเลประตูนํ้า และรัชดา-พระราม 9 ราคาที่ดินขยับสูง ประเมินว่า ผู้ประกอบการจะให้ความสนใจลงทุนบริเวณดังกล่าวมากขึ้นแต่ติดปัญหาที่ดินค่อนข้างหายาก

หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

                      ประมูล ‘ส้มตะวันตก’  ที่ประตูนํ้าพุ่ง  วาละ 2.5 ล้าน