เมืองอัจฉริยะ ยกระดับเศรษฐกิจ

09 พ.ย. 2562 | 09:33 น.

สมาคมสถาปนิกฯ ชูสร้างเมืองอัจฉริยะเมืองนวัตกรรม ยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  นำเทคโนโลยีเข้าไปปรับใช้ พร้อมกับการออกแบบโครงสร้างอาคาร ที่อยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์การใช้สอยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ต้องสร้างเมืองที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว (City Identity) กำหนดทิศทางที่ชัดเจนและสอดรับกับความต้องการในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้มีการวางองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะใน 7 ด้าน ที่ช่วยให้แต่ละพื้นที่ มีทิศทางการพัฒนาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย 1. Smart Environment สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ 2. Smart Government การปกครองอัจฉริยะ 3. Smart Mobility การสัญจรอัจฉริยะ 4. Smart Energy พลังงานอัจฉริยะ 5. Smart Economy เศรษฐกิจอัจฉริยะ 6. Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะ และ 7. Smart People ประชาชนอัจฉริยะ

เมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาค โดยที่ผ่านมาภาครัฐก็ได้มีการกำหนดให้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระยะแรก ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และจะขยายสู่ 100 เมืองใน 77 จังหวัดทั่วประเทศภายในปี 2565

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเมืองควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยกำหนดพื้นที่ 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา สร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ ด้วยการใช้ City Identity ค้นหาและสร้างจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ อาทิ จังหวัดชลบุรี ได้มีการดำเนินการให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ในพื้นที่ แหลมฉบัง วางแผนพัฒนาในด้าน Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะในด้านความปลอดภัย ด้วยระบบวิเคราะห์ตรวจจับใบหน้าอัจฉริยะ คัดกรองอาชญากร ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดสล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่มีความปลอดภัยน่าอยู่อาศัยน่าเที่ยว ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มีความคึกคักเพิ่มขึ้น ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการลงทุนด้านเทคโนโลยีความปลอดภัย 

ส่วนในพื้นที่เมืองบางแสน มีการพัฒนาในด้านของ  Smart Living การใช้ชีวิตอัจฉริยะที่รองรับผู้สูงอายุ เน้นเรื่องบริการสุขภาพ เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวผู้สูงอายุและชาวต่างชาติมาพักผ่อนระยะยาวในประเทศไทย เทศบาลเมืองบางแสนจึงได้มีการพัฒนาวางระบบติดตามตัว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้สูงอายุต่างชาติให้เข้ามาพำนักระยะยาวในไทย ถือเป็นโมเดลในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมที่จะเป็นต้นแบบให้แก่เมืองอื่นๆ ในประเทศไทยได้ค้นหาและพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตนเอง

การร่วมกันผลักดันสร้างเมืองอัจฉริยะจึงมีความสำคัญที่จะต้องดึงทุกภาคส่วนเข้ามา สมาคมสถาปนิกฯ จัดงาน ASA Real Estate Forum 2019 (อาษา เรียลเอสเตท ฟอรัม 2019) ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “Smart & Innovative Cities for all” ประสานทุกภาคส่วนร่วมถกปัญหาและสร้างแนวทางสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะและเมืองนวัตกรรม ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ผ่านงานสัมมนา