แอร์ฟรานซ์ทาบจำปีร่วมทุนผุดศูนย์ซ่อมพันล้านบาทดอนเมือง

03 เม.ย. 2559 | 03:00 น.
บิ๊กธุรกิจซ่อมอากาศโลกจับคู่ธุรกิจการบินของไทย ปักหลักลงทุนในไทย โดยแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม เอ็นจิเนียจีบการบินไทย สัดส่วน 49:51% ประเดิมทุนพันล้าน ซ่อมอุปกรณ์อากาศยานนับพันรายการที่ดอนเมือง ดีเดย์มิ.ย.นี้ ขณะที่เอเอ็นเอ ร่วมกับ ST aerospace หารือกับนกแอร์ ลงทุนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา ด้านคมนาคมเร่งหาข้อสรุปร่วมกับทร. ถึงแนวทางบริหารโครงการ หวังผลักดันการลงทุนเฟสแรกในปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการผลักดันเรื่องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย ถือว่าเป็นนโยบายที่กระทรวงคมนาคมต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นโดยจะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างธุรกิจด้านการบินของไทยและธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานของต่างประเทศ ซึ่งในขณะนี้ที่อยู่ระหว่างการจับคู่ธุรกิจร่วมกัน คือ แอร์ฟรานซ์ จะร่วมลงทุนกับบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินธุรกิจซ่อมชิ้นส่วนอากาศยานในไทยร่วมกัน ขณะที่ทางเอเอ็นเอของญี่ปุ่น ก็ได้ไปจับคู่กับ ST aerospace (Singapore Technologies Aerospace) และกำลังเจรจากับสายการบินนกแอร์ เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นต้น

ส่วนแผนการผลักดันให้เกิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่สนามบินอู่ตะเภาเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ก่อนในช่วง 2 ปีนี้ เพื่อนำร่องให้เกิดการลงทุน จากนั้นกิจกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานเพิ่มมากขึ้นตามมา และจะทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมการบินในไทยได้ในอนาคต ซึ่งการลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา จากผลการศึกษาได้มีการประเมินการลงทุนทั้งโครงการจะอยู่ที่ 1.5 หมื่นล้านบาท การลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา จะแบ่งเป็น 3 ระยะที่สามารถพัฒนาได้เต็มพื้นที่แต่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนเฟสแรก (ปี 2559-2561) ก่อน โดยสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน 2 อาคารรองรับเครื่องบินได้ 48 ลำต่อปี เบื้องต้นลงทุนราว 5 พันล้านบาท

ทั้งนี้รูปแบบการลงทุนและบริหารที่เหมาะสม จะเป็นการจัดสรรที่ดินโดยภาครัฐ และแบ่งปันค่าเช่าพื้นที่ให้แก่สนามบินอู่ตะเภา ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน(อาคารและโรงาน) เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงการให้บริการแต่ทั้งนี้ก็ก็ต้องรอความชัดเจนในเรื่องข้อสรุปจัดสรรพื้นที่ และรูปแบบของการบริหารท่าอากาศยานอู่ตะเภาที่จะต้องหารือกับทางกองทัพเรือ (ทร.)ในฐานะเจ้าของพื้นที่ก่อน นายอาคมกล่าว

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เผยว่าการจับคู่การลงทุนระหว่างธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานของต่างชาติและไทยในขณะนี้ มีความชัดเจนแล้วว่าแอร์ฟรานซ์-เคแอลเอ็ม เอ็นจีเนียจะร่วมลงทุนกับการบินไทยในสัดส่วน 49:51 เพื่อดำเนินธุรกิจซ่อมอุปกรณ์ภายในเครื่องบินกว่าพันรายการ อาทิ อุปกรณ์ไฟฟ้าในเครื่องบิน ประเภทแอร์บัสเอ 330 และโบอิ้ง 777 ที่ดอนเมือง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อยากให้เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งในขณะนี้ทราบว่าทางการบินไทยอยู่ระหว่างเตรียมนำเรื่อง เสนอบอร์ดพิจารณาแผนการร่วมทุนที่จะเกิดขึ้น โดยการร่วมลงทุนจะมีแผนการขยายการลงทุนในหลายระยะ แต่ระยะแรกคาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่เกิน 1 พันล้านบาท

ส่วนแผนการผลักดันศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมนั้นปัจจุบันการบินไทยมีศูนย์ซ่อมอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นเรื่องของนโยบาย การบินไทยก็สามารถขยายการลงทุนเพิ่มเติมได้อยู่แล้ว หรือจะเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจบางส่วนก็เป็นเรื่องของนโยบายที่จะมีการหารือร่วมกันถึงความเป็นไปได้ ที่ต้องมีการวิเคราะห์ตลาดที่ชัดเจนเสียก่อน เพราะต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศที่อู่ตะเภา ก็ต้องมีความสนใจที่จะเข้ามาจีบการบินไทยอยู่แล้ว

"ปัจจุบันมีกลุ่มจากต่างชาติแสดงความสนใจ ลงทุนศูนย์ซ่อมที่อู่ตะเภา อาทิ กลุ่มบริษัทเอเชียโกบอล และกองทุน Swiss Gobal Funds ที่เป็นกลุ่มนายหน้าหรือผู้แทนบริษัทจากต่างประเทศ กลุ่ม Four wings airport service ร่วมกับ FLTechnics ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่ในแทบยุโรปรวมถึง ST aerospace (Singapore Technologies Aerospace) ที่ในขณะนี้ทาง ST aerospace จะจับคือกับเอเอ็นเอและนกแอร์ เพื่อลงทุนศูนย์ซ่อมอากาศยานแบบซ่อมใหญ่หรือ Heavy Maintenance ที่สนามบินอู่ตะเภา"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าของการผลักดันโครงการนำร่องการจัดตั้งศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภา โดยเฉพาะในเรื่องการจัดสรรพื้นที่ และรูปแบบของการบริหารท่าอากาศยานอู่ตะเภานั้น คาดว่าจะมีข้อสรุปได้ภายหลังการประชุมร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพราะประเด็นหลักจะเป็นการหารือร่วมกับทางกองทัพเรือ ถึงแนวทางในการบริหารซึ่งการดำเนินงานจะแยกกันในส่วนการบินพาณิชย์และความมั่นคง จะทำให้มีความคล่องตัวในการเปิดใช้พื้นที่เพื่อทำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานรวมถึงการบริหารว่าทร.จะเป็นผู้บริหารเอง หรือจะมีดึงการบินไทยเข้ามาร่วมบริหาร หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ทางกระทรวงคมนาคม ก็เตรียมนำเสนอครม.ขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,144
วันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2559