ผุด‘อุทยาน-ถนนจุฬา100ปี’ ทุ่มงบก้อนใหญ่เสร็จมี.ค.60

29 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
จุฬาฯผุดโครงการยักษ์ "อุทยานและถนนจุฬาฯ100 ปี" พื้นที่ 30 +21 ไร่ เริ่มคิกออฟเดือนเมษายน 2559 ตั้งเป้าเสร็จเดือนมีนาคมปีหน้า โดยทรัพย์สินจุฬาฯเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านเงินทุน ด้านโครงการหมอน 21-22 ร่วมทุนกลุ่มทีซีซีแลนด์ ที่หัวมุมถนนสามย่าน วงเงินลงทุน 7 พันล้านบาทก่อสร้างได้ปลายปีนี้

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ในวาระที่จุฬาฯจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 100 แห่งการสถาปนาในปี 2560 ได้สร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ บริเวณจุฬาฯซอย 9 จรดถนนบรรทัดทอง ภายใต้แนวคิดสืบสานความสง่างาม สอดประสานองค์ความรู้ สรรสร้างสู่ความยั่งยืน เพื่อให้เป็นอุทยานแห่งการเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ ระหว่างนิสิตกับชุมชน คนกับธรรมชาติ เชื่อมต่อแนวแกนสีเขียว ตามแผนแม่บทของมหาวิทยาลัย

ภายในอุทยานมีการปลูกพืชพรรณพื้นถิ่นหลากหลายชนิดด้วยแนวคิดป่าในเมือง มีอาคารอเนกประสงค์สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรม พร้อมพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วยห้องเรียนรูปแบบต่างๆ พื้นที่ชุมน้ำประดิษฐ์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศและนันทนาการ จัดสร้างสวนซึมน้ำ และพื้นที่แก้มลิงบริเวณทางเข้าอุทยาน นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนจุฬาฯซอย 5 ตลอดแนวตั้งแต่ถนนพระราม 4 จรดถนนพระราม 1 ให้เป็นถนนสีเขียว พร้อมปรับความกว้างถนน 30 เมตร รวมพื้นที่ถนนดังกล่าวอีก 21 ไร่

ร.ศ.น.อ.น.พ.เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ กล่าวเสริมว่า การก่อสร้างอุทยานจุฬาฯ 100 ปี จะเริ่มเดือนเมษายนนี้ และกำหนดเอาไว้แล้วว่าจะต้องเสร็จในเดือนมีนาคม 2560 เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีจุฬาฯ ขณะนี้จัดเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อย เตรียมหาผู้รับเหมา สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงการดังกล่าวค่อนข้างสูงมากเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท เพราะความที่จุฬาฯอยากจะให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรม รวมถึงประโยชน์หลายๆ อย่าง จึงไม่ใช่สวนธรรมดา

ส่วนแผนการพัฒนาพื้นที่ของจุฬาฯนั้น ขณะนี้โครงการที่สามย่าน ซึ่งเป็นโครงการดำเนินตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนระหว่างจุฬาฯกับกลุ่มทีซีซีแลนด์ ทางเอกชนกำลังเร่งออกแบบ คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มก่อสร้าง รูปแบบคล้ายจามจุรีสแควร์ ด้านล่างเป็นพื้นที่ร้านปลีก ส่วนด้านบนจะเป็นอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และมีเพิ่มส่วนของโรงแรม วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 7 พันล้านบาท สูงกว่าตอนเปิดประมูล เนื่องจากเวลาผ่านมาทำให้ต้นทุนราคาวัสดุและแรงงานเพิ่มสูงขึ้น ทั้งที่ขนาดเล็กกว่าจามจุรีสแควร์ โดยโครงการใหม่นี้มีพื้นที่ประมาณ 2 แสนตารางเมตร จามจุรีสแควร์เกือบ 3 แสนตารางเมตร รูปแบบจะมี 2 ทาวเวอร์แบ่งเป็น โรงแรมกับเรสซิเดนซ์ 1 ทาวเวอร์ และอาคารสำนักงานอีก 1 ทาวเวอร์

นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วในปีนี้สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯยังไม่มีแผนพัฒนาโครงการใหม่ มีแต่รีโนเวตอาคารเก่า โดยแนวโน้มการพัฒนาจะไปทางถนนพระราม 4 เพราะการพัฒนาไม่ติดขัดกฎหมายผังเมือง ขณะที่ถนนด้านพระราม 1 หรือสนามศุภชลาศัย จะต้องเป็นโครงการที่ขึ้นสูงมากไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,143 วันที่ 25 - 30 มีนาคม พ.ศ. 2559