จี้ตั้งโรงงานผลิตตัวรถไฟในไทย สจล.หนุนรัฐร่วมทุนกับจีน/ทีมกรุ๊ปเตรียมคนรับระบบราง

10 มี.ค. 2559 | 07:30 น.
สจล.หนุนรูปแบบร่วมทุนสำหรับ โครงการรถไฟไทย-จีน แนะคมนาคมเจรจาจีนลงทุนเทคโนโลยี และสร้างโรงงานผลิตตัวรถและอุปกรณ์ในไทย แต่ไม่ควรประเคนพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่สถานี ให้จีนทั้งหมด ด้านทีมกรุ๊ปดอดเซ็นเอ็มโอยู สจล.เปิดโอกาสให้นักศึกษาสร้างองค์ความรู้ใน 4-5 เมกะโปรเจ็กต์ชั้นนำในพื้นที่จริงทั้งไฮสปีดเทรน รถไฟสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ

[caption id="attachment_36923" align="aligncenter" width="374"] ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
อธิการบดี
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.)[/caption]

ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสนใจกับการพัฒนาระบบรางอย่างมาก ทั้งระบบทางคู่และระบบรางสแตนดาร์ดเกจ หรือโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายไทยและจีนได้เจรจามา 9 รอบ แต่ยังไม่มีข้อสรุป ในความเห็นของตนเองนั้นโครงการนี้ควรเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยฝ่ายไทยยินดีรับเทคโนโลยีจากฝ่ายจีน เนื่องจากจีนมีศักยภาพมากเพียงพอ ทั้งนี้ฝ่ายจีนจะต้องมาลงทุนเทคโนโลยี และร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตตัวรถและอุปกรณ์ในประเทศไทย ในรูปแบบของการความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากจีนร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทยเพื่อสอนองค์ความรู้ทั้งหมดให้กับไทย

ในส่วนปัญหาการพัฒนาที่ดินตามแนวเส้นทางรถไฟไทย-จีนนั้น หากร่วมลงทุนด้วยกันเห็นว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว สามารถลงนามในสัญญาได้ทันที แต่ไม่ควรนำเอาแบบอย่างที่ฝ่ายจีนดำเนินการกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) คือขอพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในที่ดินตามแนวรถไฟมาใช้กับฝ่ายไทย เนื่องจากมีระเบียบกฎหมายที่แตกต่างกัน

สำหรับการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้อนระบบรางนั้น รัฐบาลร่วมกับสจล. ผลิตวิศวกรด้านระบบรางเป็นแห่งแรกของประเทศไทย จนเริ่มมีเครือข่ายไปทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันรัฐบาลควรเร่งดำเนินการส่งเสริมอย่างเต็มที่เนื่องจากสถาบันการศึกษาต่างๆขาดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล

"แนวทางง่ายๆขอเพียง 1% ค่าดำเนินการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆเอามาเป็นค่าใช้จ่าย ทุกมหาวิทยาลัยแบ่งงานกันทำในรูปแบบคอนซอร์เตียม งานวิจัยดังกล่าวต้องสามารถตอบสนองความต้องการได้จริง ไทยจะได้ไม่ต้องไปซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศอีกต่อไป"

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ประการสำคัญกระบวนการต้นทาง อาทิ ระบบรถ ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอาณัติสัญญาณ ระบบส่งกำลังรถไฟ ระบบขับเคลื่อนตลอดจนระบบการซ่อมบำรุงจะต้องสร้างให้เกิดขึ้นในประเทศไทยโดยเร็ว การออกแบบ วางสเปก ร.ฟ.ท.ไทยต้องรู้เรื่องและสามารถดำเนินการเองได้

"ไทยต้องเตรียมความพร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้ เพราะรถไฟฟ้ากำลังจะเป็นอนาคตของโลก รัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญเรื่องงบประมาณเพื่อการสร้างบุคลากรให้รองรับเพียงพอ"

ด้านนางเลิศลักษณา ยอดอาวุธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทีม กรุ๊ป ออฟ คัมปานีส์ จำกัด กล่าวว่า ล่าสุดทีมกรุ๊ปได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสจล.เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรด้านระบบรางป้อนให้กับหน่วยงานต่างๆ โดยแบ่งเป็น 3 ด้านด้วยกัน คือ 1.ด้านบุคลากร โดยรับนักศึกษา สจล.เข้าฝึกงานโครงการสหกิจศึกษากับทีมกรุ๊ปให้มีโอกาสฝึกปฏิบัติในโครงการจริงๆด้านการคมนาคมขนส่ง ด้านทรัพยากรน้ำ และด้านสถาปัตยกรรมการพัฒนาเมือง

"มีคลังความรู้ทั้งโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีชมพูที่ทีมกรุ๊ปทำหน้าที่บริษัทที่ปรึกษาและศึกษารายละเอียดโครงการเหล่านี้ โดยทีม กรุ๊ปได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปบรรยายให้กับนักศึกษาด้านระบบอาณัติสัญญาณและระบบไฟฟ้า เช่นเดียวกับด้านสถาปัตยกรรมและการพัฒนาเมือง ก็มีโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อพร้อมให้นักศึกษาได้ศึกษาเรียนรู้ในภาคปฏิบัติจริงทั้งโครงการได้เลยทันที"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559