‘แสนสิริ’ เขย่าพอร์ตโปรดักต์ ลุยคอนโดเจาะคนรักสุขภาพ

02 พ.ย. 2561 | 08:54 น.
แสนสิริ ผนึก 3 ธุรกิจ เปิดเซ็กเมนต์ใหม่ “เวลล์เนสเรสิเดนซ์” ปักหมุดโครงการแรก กรุงเทพกรีฑา 2.4 พันล้าน รับเทรนด์โลก คาดอีก 2 ปี ตลาดโตแตะ 6.3 ล้านล้าน สอดคล้องดีมานด์คนไทยรักสุขภาพเพิ่มขึ้น ขณะสมิติเวช เผยน่าห่วง คนป่วย 80%

นายปิติ จารุกำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและบริหารกลยุทธ์ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังจากประกาศจับมือกับพันธมิตรธุรกิจ บริษัท โตคิว คอร์เปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช ภายใต้ชื่อบริษัท สิริทีเคโฟร์ จำกัด เปิดเซ็กเมนต์ตลาดที่อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพทุกวัย ระดับรายได้ 5 หมื่น-1 แสนบาทต่อเดือน ผ่าน เวลล์เนส เรสิเดนซ์ โครงการแรกของไทย มูลค่าโครงการกว่า 2.4 พันล้านบาท บนทำเลกรุงเทพกรีฑา ว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการนำร่องของแสนสิริ ที่จะใช้เจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ แตกต่างจากโปรดักต์ทั่วไปของบริษัท ตั้งเป้าเปิดอย่างน้อยปีละ 1 โครงการ ในทำเลที่เหมาะสมขนาดพื้นที่ตั้งแต่ 5-7 ไร่ แวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆที่ตอบโจทย์รูปแบบของโครงการ เช่น ทำเล กรุงเทพ กรีฑา ที่เป็นโซนที่อยู่อาศัยใหม่ ห่างไกลจากเมืองชั้นใน แต่มีระบบขนส่งรองรับการเดินทาง มีสนามกอล์ฟ คอมมิวนิตีมอลล์และโรงเรียนตั้งอยู่ใกล้เคียง ขณะเดียวกันในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนของโปรดักต์ดังกล่าวให้อยู่ที่ 5-8% จากมูลค่าของพอร์ตรวมทั้งหมด และมองไปถึงการพัฒนาในกลุ่มบ้านเดี่ยวด้วย ตั้งเป้าสัดส่วนลูกค้าคนไทย 80% และต่างชาติ 20% ในระดับราคาที่อาจสูงกว่าซิตีคอนโดฯทั่วไป โลโก้แสนสิริ

เนื่องจากพบข้อมูลจากรายงานของสถาบันสุขภาพโลก ที่เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาด เวลล์เนส เรสิเดนซ์ ทั่วโลก มีมูลค่าเติบโตถึง 6.4% มากกว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมก่อสร้างของโลกที่ขยับแค่ 1.5% เท่านั้น โดยในปี 2560 ตลาดโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท จำนวน 1.5 ล้านหน่วย ใน 740 โครงการ และมีคนอยู่อาศัยมากถึง 4.1 ล้านคน พร้อมคาดการณ์อีก 4 ปีข้างหน้าตลาดจะมีมูลค่าถึง 6.3 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจในแง่ของราคาขาย ที่พบปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10-15% ทำกำไรได้เฉลี่ย 10-25% ขณะที่โครงการในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ประเทศญี่ปุ่น อินเดีย จีน ติด Top 10 ของโลก มีมูลค่ารวมเป็น 1 ใน 3 ของตลาดโลก บ่งบอกถึงดีมานด์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในไทยด้วย ที่มีดีมานด์แต่ไม่มีโปรดักต์ตอบโจทย์

“มองว่าเป็นโอกาสและเทรนด์ใหม่ สำหรับคนที่กำลังมองหาอสังหาฯในรูปแบบรักสุขภาพ กระแสโลกและภูมิภาคเอเชียเกิดขึ้นชัดเจนแล้ว ขณะที่ในตลาดไทย ถือเป็นความท้าทาย เพราะไม่เคยมีโปรดักต์กลุ่มนี้เกิดขึ้นมาก่อน สวนทางกับดีมานด์ที่มีอยู่มาก แต่โปรดักต์ที่ตอบโจทย์ในตลาดยังไม่มี”

ด้าน พ.ญ. สุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยเริ่มมองหาโครงการที่อยู่อาศัยที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพมากขึ้น พบความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับข้อมูลอ้างอิงของทีดีอาร์ไอ ที่เปิดเผยว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยตามหลัก OECD จะอยู่ที่ประมาณ 4.8-6.3 แสนล้านบาท และจะเพิ่มสูงขึ้นแตะ 1.8 ล้านล้านบาท ในช่วงที่มีผู้สูงวัยในประเทศมากขึ้น เป็นเม็ดเงินที่สูงกว่าการเติบโตของประเทศ หรือ จีดีพี ด้วยซํ้า โดยการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ 80% มาจากใช้ชีวิตและปัจจัยภายนอก เช่น บ้าน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต ที่เกิดขึ้น มักกลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายการรักษาที่สิ้นเปลืองไป ฉะนั้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน หรืออยู่อาศัยในโครง
การที่มีบริการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รอบด้าน ทั้งด้านกายภาพ จิตใจ สิ่งแวดล้อมและสังคมที่ดี จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มขึ้นทุกปีจากผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อ จีดีพี ของประเทศด้วย

ทั้งนี้ โครงการที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ บนเนื้อที่ 7 ไร่ ทำเลกรุงเทพกรีฑา จะเริ่มก่อสร้างและเปิดขายในช่วงปี 2562 มีมูลค่า 2.4 พันล้านบาท ประกอบไปด้วย อาคารพักอาศัย 8 ชั้น รวม 3 อาคาร และคลับเฮาส์, ที่จอดรถอีก 1 อาคาร ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจำนวนหน่วยรวมทั้งหมด รวมถึงชื่อโครงการ ขนาดห้อง และราคาขาย โดยโรงพยาบาลสมิติเวช จะเป็นพันธมิตรในแง่เชิงกลยุทธ์ด้านบริการสุขภาพที่จะเสริมเข้ามาในโครงการทั้งหมด

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,413 วันที่ 28-31 ตุลาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว