เปิดใจนายกสมาคมอุตฯคอนกรีตไทย ‘มั่นใจอีก 2-3 เดือนผลิตภัณฑ์คอนกรีตได้อานิสงส์’

27 ก.พ. 2559 | 10:00 น.
อาจกล่าวได้ว่าปี 2558 ต่อเนื่องถึงปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมตกออยู่ในสถานการณ์กำลังการผลิตหดตัว ใช้กำลังผลิตจริงไม่ถึง 70% ของกำลังผลิตเต็ม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีต ซึ่งมีมูลค่ารวมในตลาด 5-6 หมื่นล้านบาทต่อปี ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ยิ่งในภาวะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐไม่ขยับตัว อีกทั้งภาพรวมเศรษฐกิจยังตกหลุมอากาศ ทำให้การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารโรงงานเกิดใหม่ต้องติดหล่มไปด้วย

ผู้ประกอบการหลายรายต่างเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง มีสายสายป่านสั้น อีกทั้งลูกค้ากลุ่มผู้รับเหมาเงียบเหงาที่สุดในรอบ 3-4 ปีที่ผ่านมา ต่อเรื่องนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ สรณีย์ ดีพันธุ์พงษ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย(ATCI)คนใหม่ เปิดใจอย่างตรงไปตรงมา ถึงข้อกังวลและการปรับตัวยอมรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น รวมถึงการคาดหวังว่าจะได้รับออร์เดอร์จากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างกลับมาคึกคักอีกครั้งนับจากนี้ไป!

 มองภาพรวมตลาดคอนกรีตขณะนี้

นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตไทย เริ่มต้นการสัมภาษณ์ด้วยการกล่าวถึงบทบาทของสมาคมก่อนว่า เพิ่งครบรอบ20 ปีเต็มไปเมื่อปีที่ผ่านมา สมาคมมีบทบาทที่เอื้อต่อการทำธุรกิจต่อกันมาก เพราะการที่สมาชิกเชื่อมสัมพันธไมตรีกันได้ เวลามีออร์เดอร์เข้ามามากก็แบ่งปั่นงานกันในกลุ่ม อีกทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรมคอนกรีต เมื่อมีปัญหาติดขัดสมาชิกเกือบ 200 รายก็ร่วมมือกันหาทางออก โดยผู้ประกอบการในกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีต จะรวมธุรกิจ อาทิ เสาเข็มคอนกรีต แผ่นพื้นคอนกรีต ผนังสำเร็จรูปคอนกรีต ท่อน้ำคอนกรีต และบ่อพักน้ำคอนกรีต ส่วนใหญ่จะรับออร์เดอร์จากกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่ประมูลงานมาได้

ซึ่งภาพรวมขณะนี้เกือบทุกผลิตภัณฑ์กลุ่มคอนกรีตอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะช่วง1-2ปีที่ผ่านมาจะเห็นชัดเจนกว่าทุกปี เพราะงานโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐลดลง ทำให้ราคาขายคอนกรีตลดลงไป ยกตัวอย่างเช่น เสาเข็มคอนกรีตที่ราคาลดลงจากคิวละ5 พันบาทเหลือ 4 พันบาท ยอมรับว่าอยู่ในช่วงขาลง รอไปลุ้นอีกครั้งช่วงครึ่งปีหลังปีนี้

จะเห็นว่านับจากกลางปี 2558 เป็นต้นมา เราเจอของจริง เพราะการลงทุนภาครัฐหายไป ยังไม่มีโครงการลงทุนที่ชัดเจนเกิดขึ้นอย่างที่คิด มีแต่โครงการในแผน ที่ยังมาไม่ถึงภาคปฏิบัติจริง หรือเข้าใจชัดๆ คือยังไม่มีงานก่อสร้างจริงเกิดขึ้นเลย ในขณะที่ งานของกลุ่มผลิตภัณฑ์คอนกรีตก็ค่อยๆ หมดไป จะเห็นว่าเริ่มมีสมาชิกบางรายหายไปจากกลุ่มแล้ว โดยยกธงขาวเลิกกิจการไปทำอาชีพอื่นแทน

 หวังอีก2-3เดือนน่าจะเริ่มมีข่าวดี

อย่างไรก็ตามเวลานี้ยังมีความหวังขึ้นมาเล็กน้อย ถ้าเมกะโปรเจ็กต์ที่เปิดประมูลปีนี้ต้องเซ็นสัญญาก่อสร้างให้หมดในปีนี้ด้วย ตามที่ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งรัดและติดตามผล โดยเฉพาะการประมูลโครงการใหญ่ๆ ถ้าขับเคลื่อนได้ ก็จะเกิดผลดีต่องานคอนกรีต แต่จะมากน้อยแค่ไหนนั้น ต้องถามว่างานก่อสร้างจะเกิดขึ้นจริงหรือป่าว! ถ้าเกิดขึ้นจริงก็แน่นอนงานเสาเข็มคอนกรีตจะแฮปปี้ก่อนลำดับแรก เพราะจะมีออร์เดอร์เข้ามา

"ล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณบวกบ้างแล้ว ที่โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ที่บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน)เป็นผู้ก่อสร้างน่าจะเกิดขึ้นได้ นับจากนี้ไปอีก 2-3 เดือน กลุ่มคอนกรีตก็จะได้รับอานิสงส์ไปด้วย เฉพาะปริมาณเสาเข็มคอนกรีตที่ใช้ก็หลายหมื่นต้น"

จากที่ผ่านมา สมาชิกมีข้อสงสัยมาตลอดว่า เมกะโปรเจ็กต์รัฐบาลที่ขยับตัวได้ช้ามากนั้น แท้จริงแล้วรัฐบาลมีเงินในกระเป๋าหรือป่าว หรือเป็นเพราะเบิกจ่ายยาก เข้มงวดขึ้น เพราะถ้ายังขยับตัวได้ช้าแบบนี้ คงแย่แน่ๆ ขณะที่ภาคเอกชนในโครงการที่อยู่อาศัยก็ยังซบเซาอยู่ เราเจอทางตันทุกทางกระทบกลุ่มคอนกรีตไปเต็มๆ เพราะที่ผ่านมาสิ่งที่เริ่มเห็นแล้วคือ บางรายเลิกกิจการไป บางรายเริ่มขาดสภาพคล่อง ขึ้นอยู่ที่สายป่านของผู้ประกอบการแต่ละราย ที่ธุรกิจต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้รับเหมา ทั้งรายเล็กรายใหญ่ โดยเฉพาะรายใหญ่บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ ช.การช่าง ,บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) ,บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) และเจ้าของโครงการที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ฯลฯ

ในช่วงวิกฤติยังมีโอกาส

สรณีย์ อธิบายต่อว่า ในเวลาที่สภาพคล่องไม่ดี ยังโชคดีที่วัตถุดิบสำคัญ เช่น เหล็ก มีราคาถูกลงมาก เพราะทุกผลิตภัณฑ์คอนกรีตต้องใช้เหล็ก ในวงการจะใช้ทั้งเหล็กแผ่น เหล็กลวด เหล็กรูปพรรณ อย่างน้อยทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสหายใจ น่าเสียดายตรงที่ถ้าช่วงนี้มีออร์เดอร์จากกลุ่มผู้รับเหมาเข้ามามาก ต้นทุนจะถูก สามารถซื้อเหล็กสต๊อกไว้ได้ เพราะไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้ไปอีก 2-3 เดือน ราคาเหล็กจะเป็นอย่างไร แต่นี่ออร์เดอร์ยังไม่เข้ามา ถ้าสต๊อกเหล็กไว้ก็อันตราย เงินจะไปจมกับค่าดอกเบี้ย และค่าจัดเก็บวัตถุดิบ

ต้องปรับกลยุทธ์ให้ธุรกิจอยู่รอด

สรณีย์กล่าวอีกว่า ช่วงที่วิกฤติ ก็จะเริ่มเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการบางรายเกิดขึ้น เช่นเมื่อ ปี 2558 สมาชิกบางรายหันไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเมียนมา กัมพูชา บรูไน สิงคโปร์ เพื่อชดเชยกับออร์เดอร์ในประเทศที่หายไป ทำให้ตอนนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้รับเสียงตอบรับกลับมาดี โดยขนส่งการส่งสินค้าทางเรือ ผู้ประกอบการบางรายที่ทำธุรกิจเสาเข็มก็ยกเครื่องจักรไปผลิตที่เมียนมาก็มี ดูแนวโน้มแล้ว คาดว่าภายในปี 2559จะมีการออกไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นแน่นอน เป็นการกระจายความเสี่ยง

"ตอนนี้โดยส่วนตัวยังมีความหวังและเชื่อว่าทุกอย่างน่าจะดีขึ้นนับจากไตรมาส 3 ปีนี้ เป็นต้นไป เราต้องเผื่อใจ เพราะการทำธุรกิจแบบนี้ก็ต้องยอมรับสภาพให้ได้ ต้องพึ่งพาทั้งการลงทุนจากภาครัฐที่ผ่านขั้นตอนหลายชั้น กว่าจะได้ข้อสรุปออกมา ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็ต้องขึ้นกับภาพรวมเศรษฐกิจและกำลังซื้อด้วย ถ้าเข้าใจ อดทน และประคองตัวให้อยู่รอด ก็จะฝ่าช่วงวิกฤติไปได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559