การเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางจักรยาน-รถยนต์ส่วนตัว

23 ก.พ. 2559 | 13:00 น.
การเดินและการขี่จักรยานเป็นรูปแบบที่ควรสนับสนุน เพราะเป็นรูปแบบการเดินทางที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปัญหาการจราจรติดขัด ไม่ต้องใช้เครื่องยนต์ จึงไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ซึ่งช่วยลดปัญหามลพิษทางอากาศได้โดยตรง อีกทั้งบริเวณสถานีรถไฟฟ้าในเมืองส่วนใหญ่จะมีปริมาณการจราจรสูงไม่เหมาะสำหรับการขี่จักรยานร่วมกับรถยนต์ ดังนั้นควรพัฒนาทางเท้าให้สามารถขี่จักรยานร่วมกับคนเดินเท้าได้ โครงข่ายทางเท้า ควรเชื่อมต่อกับสถานีในระยะอย่างน้อย 1-2 กิโลเมตร หากใช้ความเร็วในการเดินปกติจะใช้เวลาเดินประมาณ 10-20 นาที

สำหรับโครงข่ายทางจักรยาน ควรเชื่อมต่อกับสถานีในระยะอย่างน้อย 3-5 กิโลเมตร การเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้าด้วยการเดินและการขี่รถจักรยานเหมาะสำหรับการเดินทางเชื่อมต่อชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณรอบสถานีรถไฟฟ้า เช่น ชุมชนดินแดง ชุมชนห้วยขวาง ชุมชนหลังสวนลุมพินี ฯลฯ

การเดินและการขี่จักรยานเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับทุกคน ทุกวัย โดยเฉพาะคนที่อาศัยหรือต้องทำงานในตัวเมือง เพราะช่วยให้ผ่อนคลาย เกิดความเพลิดเพลินในระหว่างที่เดินทาง หากมีการออกแบบรองรับการใช้พื้นที่รอบบริเวณสถานีให้เหมาะสม จะช่วยดึงดูดให้ผู้คนนิยมเดินทางมาทำกิจกรรมในพื้นที่มากขึ้นอีกด้วย

แหล่งกิจกรรมที่สามารถดึงดูดคนได้มาก ได้แก่ ศูนย์ประชุม ศูนย์การค้า ศูนย์ความบันเทิง โรงแรม ศูนย์กีฬา ศูนย์วิทยาการ พิพิธภัณฑ์ แหล่งการเรียนรู้ สวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

การประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จของการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีรถไฟฟ้าด้วยการใช้จักรยาน (bike-and-ride) นอกจากจะต้องมีโครงข่ายจักรยานที่ต่อเนื่องและจุดจอดที่สถานีที่ปลอดภัย (จอดแล้วไม่ถูกลักขโมย ซึ่งอาจมีค่าบริการรับฝากบ้าง) แล้ว ยังต้องได้รับความร่วมมือกับหน่วยงานปลายทางที่ผู้เดินทางจะเดินทางไปติดต่อ จัดเตรียมที่จอดรองรับไว้ให้อีกด้วย สถานีที่ควรส่งเสริมการเชื่อมต่อด้วยจักรยาน เช่น สถานีสีลมของรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีศาลาแดงของรถไฟฟ้าบีทีเอส

สิ่งอำนวยความสะดวกที่ควรจัดเตรียมเพื่อการเดินทางเชื่อมต่อด้วยการขี่จักรยานและการเดิน ได้แก่ ความกว้างของทางเท้า เพื่อให้จักรยานใช้ร่วมกับคนเดินเท้าควรมีความกว้างอย่างน้อย 2 เมตร ต่อเนื่องตลอดแนวเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าถึงจุดที่จะเดินทางเพื่อไปประกอบกิจกรรม พื้นผิวทางเท้า และทางลาด ควรมีการออกแบบให้ผิวทางเท้าเรียบรับกับฝาท่อระบายน้ำ มีทางลาดเชื่อมต่อตัดถนน มีทางข้ามทางแยกที่ปลอดภัย ที่จอดจักรยาน ที่จอดจักรยานใช้พื้นที่ประมาณ 2 ตารางเมตร ในขณะที่ที่จอดรถยนต์ต้องใช้พื้นที่ถึง 25 ตารางเมตร ผู้ที่เคยใช้จักรยานจำนวนมากต้องเลิกใช้จักรยานไปเพราะจักรยานสูญหายถูกลักขโมย ที่จอดรถจักรยานที่ปลอดภัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้มีผู้นิยมใช้จักรยานกันมากหรือน้อย จักรยานสาธารณะ หลายเมืองในประเทศทางยุโรปและในประเทศเกาหลี มีจักรยานให้เช่ายืมตามจุดต่างๆ ผู้เช่าจักรยานสามารถขับขี่ไปจอดที่จุดจอดปลายทางได้โดยไม่ต้องนำกลับมาที่จุดเดิม

สิทธิพิเศษสำหรับการนำจักรยานขึ้นไปบนรถไฟฟ้า การอนุญาตให้นำจักรยานติดตัวขึ้นไปบนรถไฟฟ้าได้จะช่วยให้ผู้เดินทางสามารถใช้จักรยานได้ต่อเนื่องเมื่อเดินทางไปถึงสถานีปลายทาง การอนุญาตอาจจะกำหนดให้เฉพาะนอกช่วงเวลาเร่งด่วน เพราะเป็นช่วงที่รถไฟฟ้ามีผู้โดยสารไม่แออัดนัก หรืออาจจะอนุญาตเฉพาะจักรยานที่พับได้ การเชื่อมต่อด้วยรถยนต์ส่วนตัว

เมื่อเทียบกับรูปแบบการเดินทางอื่นๆ แล้ว การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเป็นการเดินทางที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด อย่างไรก็ดีในเมืองที่ไม่ได้วางแผนระบบขนส่งสาธารณะที่ดีก็ยังคงจำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทาง การเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวควรสนับสนุนเป็นอันดับหลังสุด เนื่องจากต้องลงทุนสูงในการเตรียมที่จอดรถหรือสร้างอาคารจอดรถ

สถานีรถไฟฟ้าที่ควรจัดเตรียมที่จอดรถยนต์ส่วนตัว ได้แก่ สถานีต้นทาง ปลายทาง หรือสถานีที่อยู่ชานเมือง เพื่อให้ผู้ขับรถยนต์ได้จอดรถที่สถานีแล้วเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางเป็นการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า แทนการขับรถเข้ามาในตัวเมือง ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด

หลักสำคัญของการเชื่อมต่อการเดินทาง คือ การทำให้ผู้เดินทางรู้สึกง่าย (easy) กลมกลืน (seamless) ไม่มีอุปสรรคหรือมีอุปสรรคน้อยที่สุด สามารถเดินทางจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559