นักวิชาการจุฬาฯหนุนคมนาคม เชื่อมโยงรถ-เรือ-รางรับแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย

02 ก.พ. 2559 | 07:30 น.
นักวิชาการจุฬาฯและภาคอสังหาฯหนุนคมนาคมผนึก กทท.-ร.ฟ.ท.-กทม.ปั้นมารีน่าแซนด์เบย์ที่คลองเตยหวังปลุกเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงรถไฟที่สถานีแม่น้ำและโมโนเรลเชื่อม MRT รูปแบบร่วมลงทุน ด้านกทท.ชงบอร์ดโยกขสมก.เขต 4 พ้น 137 ไร่ ตลาดคลองเตยไปอยู่ใกล้อาคารล็อกซเล่ย์ให้หมดภายในปี 60 ลุ้นบอร์ดกทท.ไฟเขียวให้อยู่ฟรี 20 ปี ส่วนขสมก.เตรียมของบปี 60 สร้างอาคารสำนักงานและโรงซ่อมบำรุงรองรับโดยเร็วต่อไป

aaaMAP-3127

ศาสตราภิชาน รศ.มานพ พงศทัต ภาควิชาเคหะการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เตรียมนำเสนอรัฐบาลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) และกระทรวงมหาดไทยโดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมมือกันพัฒนาย่านท่าเรือคลองเตยให้เป็นมารีน่าแซนด์เบย์เพื่อปลุกเศรษฐกิจประเทศไทย โดยพื้นที่นี้สามารถเชื่อมโยงได้ทั้งทางน้ำ และทางบก โดยทางบกมีรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)และทางรางโดยรถไฟที่สถานีแม่น้ำ นอกจากนี้ยังสามารถสร้างโมโนเรลเชื่อมไปยังรถไฟฟ้า MRT ที่สถานีคลองเตยและสถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้ ซึ่งมีผลการศึกษารองรับไว้แล้ว ประการสำคัญสามารถพัฒนาแนวโครงข่ายให้สามารถเชื่อมโยงพื้นที่คลองเตยเข้าเป็นผืนเดียวกันได้ทั้งหมดอีกด้วย

“ย่านนี้มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่อีกทั้งอยู่ไม่ไกลจากตลาดคลองเตยมากนัก เหมาะสมสำหรับการสร้างให้เป็นฮับ ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ทางบก และทางราง เช่น มารีน่าแซนด์เบย์ที่มีอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ประการสำคัญมีแผนแม่บทกำหนดเอาไว้แล้ว จึงสามารถปัดฝุ่นนำไปพัฒนาได้ทันทีโดยอาจเสนอบรรจุให้ลงทุนแบบร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนปี 2556 ได้ทันที”

ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจคอนโดมิเนียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ที่ดินของการท่าเรือฯและการรถไฟฯ ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยารวมกันประมาณ 1 พันไร่ โดยที่ดินติดริมแม่น้ำยาวเป็นกิโลเมตร อนาคตประเทศไทยอาจจะมีมารีน่าแซนด์เบย์เหมือนสิงคโปร์ แต่ทั้ง 2หน่วยงานดังกล่าวต้องร่วมมือกันพัฒนา โดยรัฐบาลต้องลงทุนโครงการรถไฟฟ้าผ่านโครงการ จะทำให้มูลค่าเพิ่มตกกับภาครัฐ เพราะที่ดินย่านนี้เป็นของ 3 ส่วนคือ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การท่าเรือฯ และการรถไฟฯ ต่างจากโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดินของเอกชน

ทั้งนี้ร.ต.ท.ประจักษ์ ศรีวรรธนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่าตามที่กทท.ได้จัดทำแผนพัฒนาการใช้ประโยชน์พื้นที่นอกเขตรั้วกรมศุลกากร ท่าเรือกรุงเทพโดยกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาด้วยการรวมพื้นที่แปลงย่อยนอกเขตรั้วกรมศุลกากรและจัดผังพื้นที่ใหม่ ตามลักษณะกลุ่มกิจกรรมที่มีความสอดคล้องและส่งเสริมธุรกิจท่าเรือ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนตามกลุ่มธุรกิจ โดยรวบรวมพื้นที่ได้ทั้งหมดประมาณ 220 ไร่ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 4 แปลง ทั้งได้คัดเลือกพื้นที่บริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการ กทท. พื้นที่ 17 ไร่ นำร่องพัฒนาเป็นอาคารศูนย์ธุรกิจพาณิชยนาวี (Maritime Business Center)

“โครงการนี้มีรูปแบบให้เอกชนลงทุนพัฒนาและบริหารจัดการตลอดอายุสัญญา และเมื่อครบกำหนดสัญญาต้องโอนทรัพย์สินให้กทท. แต่เนื่องจากโครงการมีมูลค่าการลงทุนเกิน 1 พันล้านบาท และให้เอกชนร่วมลงทุน ล่าสุดคณะกรรมการ(บอร์ด)กทท.มีมติเห็นชอบเมื่อเดือนเมษายน 2558 ให้ดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ.2556 (ฉบับใหม่) ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนและนักลงทุนจำนวน 2 ครั้งคือเมื่อวันที่ 27 มกราคม และ 18 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ก่อนที่จะนำผลสรุปการรับฟังความเห็นเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาต่อไป”

ด้านนางปราณี ศุกระศร กรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่าจากที่ขสมก.ได้เช่าพื้นที่ใกล้แยกสุนทรโกษา ย่านคลองเตย เพื่อตั้งอู่จอดรถและเขตการเดินรถที่ 4 จาก กทท. ซึ่งอยู่ในส่วนพื้นที่ 137 ไร่ตามแผนแม่บทกทท.นั้นโดยครบกำหนดสัญญาเช่าไปเมื่อปี 2557 และได้ต่อสัญญาเช่าออกไปอีก 3 ปีคือสิ้นสุดปี 2560 ปัจจุบันผ่านพ้นกว่า 1 ปีไปแล้ว ซึ่งภายในปี 2560 จะต้องเสนอของบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์ซ่อมบำรุงบนที่ดินที่กทท.ได้เสนอให้ย้ายไปอยู่ในพื้นที่ 11 ไร่ บริเวณพื้นที่ขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.)เดิมที่อยู่ใกล้กับอาคารล็อกซ์เล่ย์ย่านคลองเตย ซึ่งบริเวณดังกล่าวสามารถเข้า-ออกได้หลายทาง ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอบอร์ด กทท.เห็นชอบในเรื่องที่กทท.เสนอให้ขสมก.อยู่ฟรี 20 ปี แต่ขสมก.ต้องหางบประมาณก่อสร้างอาคารสำนักงานและศูนย์ซ่อมบำรุงเองทั้งหมด

“ปัจจุบันต่อสัญญามาแล้ว 3 ปี เหลือเวลาอีก 2 ปีก็จะครบกำหนดสัญญาเช่า ซึ่งขสมก.จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ดังกล่าวนี้ให้หมดภายในปี 2560 ตอนนี้เรื่องอยู่ระหว่างรอบอร์ดกทท.เห็นชอบ หากผ่านการพิจารณา ขสมก.ก็จะหารือความชัดเจนเรื่องการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โรงซ่อม และลานจอดรถ ตลอดจนกำหนดอัตราค่าเช่าใหม่หรือให้ใช้ฟรี 20 ปี ดังนั้นจึงต้องเสนอตั้งงบประมาณปี 2560 ไปดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานและโรงซ่อมบำรุงให้พร้อมเพื่อที่จะย้ายไปอยู่ในสถานที่ใหม่”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,127
วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559