‘สามเหลี่ยมมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน’ ชูโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจดับไฟใต้

11 ก.ย. 2559 | 07:30 น.
แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกเข็นออกมาต่อเนื่อง กระทั่งเกิดโมเดล "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล คสช. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ "โมเดลเศรษฐกิจ: ดับไฟใต้?" ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล

กอ.รมน. นสถิติรุนแรงลดลง

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร รองผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป 5 เผยสถิติเหตุความรุนแรงว่า จากผลดำเนินการ่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 12 ปี โดยเป้าหมายระยะสั้นเพื่อลดความรุนแรง ขณะที่ระยะยาว ต้องการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า สถิติความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ลดลงโดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งจากข้อมูลสถิติจำนวนเหตุการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-2559 รวมทั้งหมด 15,541 เหตุการณ์ ในจำนวนนี้คิดเป็น 61 % มีแนวโน้มของการเกิดเหตุในภาพรวม ลดลง โดยในปี 2558 มีเหตุการณ์ความมั่นคงจำนวน 264 เหตุการณ์ ขณะที่ปี 2559 มีจำนวน 193 เหตุการณ์ ลดลง 71 เหตุการณ์ ต่อคำถามที่ว่า เหตุการณ์ต่างๆจะจบลงเมื่อใดนั้น คงต้องใช้เวลาแต่จากสถิติข้างต้นมองว่ามีความหวัง

"สิ่งสำคัญวันนี้ คือ ต้องปลด เก็บกู้ระเบิดในหัวใจคน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เชื่อว่า หากมีการพัฒนา นำเศรษฐกิจลงสู่พื้นที่จะช่วยให้กลุ่มผู้เห็นกลุ่มต่างชะลอตัว ลดลงได้"

แผนพัฒนาฯ 4 ปี 6 พันล.

ด้านนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า แผนพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นดำเนินการมาตลอดจนถึงปี 2559 นี้ โดยแผนของกอ.รมน.ช่วงต้นนั้นให้น้ำหนักที่เรื่องของ"ความมั่นคง"และ"งานพัฒนา" แบ่งเป็น 70:30 กระทั่งวันนี้เดินเข้าสู่เฟสที่สอง คือ แผนงานระหว่างปี 2559-2560 ที่จะให้นำหนักทั้งสองด้านในสัดส่วนที่เท่ากัน คือ 50:50 โดยไม่ได้จะพัฒนาแค่ 3 จังหวัด แต่จะเป็นการพัฒนาทั้ง 33 อำเภอ โดยจะเริ่มจาก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ที่จะเป็นเมืองหน้าด่านอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่สำคัญโดยพัฒนาเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆรวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรและสินค้าฮาลาลที่มองว่า มีศักยภาพเช่นเดียวกัน

ขณะที่ในส่วนของ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองชายแดน และจะเป็นเมืองต้นแบบด้านการท่องเที่ยว เปลี่ยนให้เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มีเพิ่มมากขึ้นได้ โดยในอนาคต อำเภอเบตง จะมีท่าอากาศยานเบตงซึ่งดำเนินการไปแล้วพร้อมให้บริการรองรับทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติในปี 2562

ขณะที่ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส จะเป็นเมืองต้นแบบในด้านการค้าชายแดนระหว่างประเทศ นำสินค้าเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก มูลค่าซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของพื้นที่ภาคใต้ มีมูลค่ารวมกันเฉพาะในปี 2558 จำนวน 2,890.79 ล้านบาท คิดเป็น 0.59 % ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับมุสลิม เนื่องจากคนในพื้นที่และประเทศใกล้เคียงมีประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมากและยังตั้งเป้าให้เมืองสุไหงโก-ลกเป็น สิงคโปร์ในประเทศไทย ทั้งยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้แผนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจภาคใต้นั้น เตรียมส่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อทำการอนุมัติ โดยคาดว่า จะสามาถเข้าสู่การพิจารณาได้ภายในวันที่ 20 กันยายนนี้

ปาล์มน้ำมันเส้นเลือดใหม่ปัตตานี

ขณะที่นายศิริชัย ปิติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ระบุว่า ภาคเอกชนจับมือกับทางศอ.บต.ในการแก้ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นซึ่งแนวคิด "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ถือเป็นแนวคิดหนึ่งที่จุดประกายร่วมกันโดยมองถึงจุดแข็งของแต่ละอำเภอ แต่ละจังหวัดเป็นหลัก ที่ผ่านมาเส้นเลือดใหญ่ของคนในจังหวัดปัตตานีอยู่ที่ยางพารา และการทำประมง แต่ประสบปัญหาเรื่องราคายางตกต่ำ ขณะที่ประมงมีปัญหาเรื่องไอยูยูซึ่งต้องใช้เวลาแก้ปัญหาให้กลับฟื้นขึ้นมา

"วันนี้ทางจังหวัดจะพัฒนาดำเนินการให้ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมองว่า มีศักยภาพและความต้องการสูง มาเป็นเส้นเลือดใหม่ โดยเป็นหนึ่งในโครงการแผนพัฒนา หนองจิก เมืองต้นแบบเกษตรอุตสาหกรรมแนวใหม่ เป็นเมืองหน้าด่านของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน โดยวางระบบให้เป็นกลุ่มคนเดียว ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ"

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกปาล์มรวมกัน 6 หมื่นไร่ ขณะที่ในพื้นที่มีโรงงานน้ำมันปาล์มที่สามารถรองรับการแปรรูปผลผลิตได้มากกว่า 1.2 แสนไร่ และจะมากขึ้นจากการลงทุนขยายธุรกิจโดยนักธุรกิจทั้งในและนอกพื้นที่ที่สนใจจะเข้าไปลงทุนเกี่ยวเนื่องกับปาล์มน้ำมันกว่า 2 แสนไร่ อาทิ โรงสนัดน้ำมันปาล์ม ขนาด 45 ตันทะลาย/ชั่วโมง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 2 เมกะวัตต์ ขายไฟแล้ว โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 6.5 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 9.9 เมกะวัตต์ และโรงปุ๋ยจากเศษของเหลือต่างๆในกระบวนการสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

"ที่ผ่านมาโรงงานในพื้นที่แปรรูปผลผลิตให้กับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 30 % และรับผลผลิตจากนอกพื้นที่มาแปรรูปอีก 70 % หากสามารถขยายพื้นที่ พัฒนาให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อป้อนโรงงานที่มีกำลังผลิตที่ยังมีศักยภาพเหลืออีกจำนวนมาก เชื่อว่า จะสร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกร รวมถึงต่อยอดเกิดการแปรรูปต่อไปได้" ประธานหอการค้าปัตตานี กล่าวย้ำ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,191 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2559