เคลื่อนแผน 3 เหลี่ยมชายแดนใต้ ‘ศอ.บต.’ชงครม.44 โครงการกว่า 6 พันล.

10 ก.ย. 2559 | 09:00 น.
หลังจากวันที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางลงภาคใต้ประชุม "แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้" กับส่วนราชการ ภาคเอกชน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อเกิดนโยบายพัฒนาเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ซึ่งประกอบด้วย

[caption id="attachment_95874" align="aligncenter" width="700"] ความเชื่อมโยงเมืองต้นแบบในพื้นที่ ความเชื่อมโยงเมืองต้นแบบในพื้นที่[/caption]

1.อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนา "เกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน" (Agricultural Industry City) 2.อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน (Sustainable Development City) และ3.อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ (International Border City)

ต่อเรื่องนี้นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศอ.บต. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีการวางแผนการพัฒนาระยะยาว (Development Roadmap) ภายใต้กรอบเวลา 4 ปี ซึ่งในระยะแรกนี้ เป็นการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้

1.พื้นที่การพัฒนาหลัก บริเวณรอยต่อจังหวัดสงขลา-ปัตตานี (อำเภอเทพา-อำเภอจะนะ-อำเภอหนองจิก-อำเภอโคกโพธิ์) เป็นจุดเชื่อมต่อที่เข้มแข็งสู่การเป็นสามเหลี่ยม TADA (Permanent TADA Connecting Point) เป็นพื้นที่ที่ตั้งเขตพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม ธุรกิจ การพัฒนาบุคลากรสายอาชีพ การศึกษา และการสาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่สร้างกำลังซื้อ รองรับผลผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากพื้นที่สามเหลี่ยมเป้าหมาย เป็นปากทางเชื่อมต่อสู่อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาทวี ณ ด่านสะเดา และพื้นที่อื่นๆ

2.พื้นที่ยอดสามเหลี่ยม อำเภอหนอกจิก-อำเภอเมืองปัตตานี โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงาน ทั้งยังเป็นการสร้างชุมชนที่ประกอบอาชีพสนับสนุนพื้นที่การพัฒนาหลัก ทั้งนี้ ในระยะนี้อาจจะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายท่าเรือปัตตานีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ตลอดจนการเดินเรือชายฝั่ง

3.พื้นที่ฐานสามเหลี่ยมตะวันตก อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มุ่งเน้นการพัฒนาการค้าขาย วิสาหกิจชุมชน การเกษตร ตลอดจนการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาตนเอง และการค้าชายแดนข้ามประเทศมาเลเซียสู่เมืองปีนังและเมืองเปรัก รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องและการสร้างต้นแบบของความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับการขยายพื้นที่การพัฒนา การคมนาคมทั้งทางบกและทางอากาศ เพื่อบรรจบกับตัวเมืองยะลาในระยะกลาง และขยายการพัฒนาตลอดแนวชายแดนของจังหวัดยะลาในระยะยาว

และ4.พื้นที่ฐานสามเหลี่ยมตะวันออก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นด่านชายแดนที่มีการค้าชายแดนและข้ามแดนอยู่แล้ว จะเน้นการพัฒนา การค้าขายข้ามแดนประเทศมาเลเซีย และวิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความมั่นคงทางพลังงานทางเลือกอื่นๆเพื่อรองรับการขยายพื้นที่การพัฒนาเพื่อบรรจบกับตัวเมืองนราธิวาสในระยะกลาง และขยายการพัฒนาตลอดแนวชายแดนของจังหวัดนราธิวาสในระยะยาว

[caption id="attachment_95873" align="aligncenter" width="700"] สรุปโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ปี 2560-2563 สรุปโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ปี 2560-2563[/caption]

เปิดแผน44 โครงการ 6 พันล.

ด้านแหล่งข่าวใกล้ชิดรายหนึ่ง เปิดเผยว่า เตรียมส่งแผนงานโครงการต่างๆซึ่งส่วนใหญ่อยู่ภายใต้แผนงบประมาณประจำปี 2560 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว โดยคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ สำหรับแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบ งบประมาณรวมทั้งสิ้น 6,157 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน รวม 44 โครงการ คือ 1.ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง วงเงิน 1,075.50 ล้านบาท โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลปัตตานีแห่งที่ 2 วงเงิน 882.864 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงและยกระดับสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก และส่งเสริมการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้า (คลังสินค้า) วงเงิน 723.20 ล้านบาท เป็นต้น รวม 34 โครงการ งบประมาณ 5,436.10 ล้านบาท

2.ด้านการพัฒนาอาชีพ อาทิ โครงการส่งเสริมการเลี้ยงไก่เบตงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล วงเงิน 18.60 ล้านบาท โครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล 13.296 ล้านบาท และโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วงเงิน 16 ล้านบาท เป็นต้น รวม 28 โครงการ งบประมาณ 151.032 ล้านบาท

และ3.ด้านอื่นๆ อาทิ โครงการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขับโครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" วงเงิน 350 ล้านบาท โครงการสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบ วงเงิน 100 ล้านบาท และโครงการชดเชยเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสำหรับอำเภอหนองจิกจังหวัดปัตตานี อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และอำเภอเบตง จังหวัดยะลา วงเงิน 20 ล้านบาท เป็นต้น รวม 4 โครงการ งบประมาณ 570 ล้านบาท

เพิ่มสิทธิประโยชน์ลงทุนใหม่

นอกจากนี้ มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งที่ 3/ 2559 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนภายใต้โครงการเมืองต้นแบบดังกล่าว โดยให้เพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ใน 3 พื้นที่ดังกล่าวให้สูงกว่าสิทธิประโยชน์ของมาตรการส่งเสริมการลงทุนใน 4 จังหวัดภาคใต้ และ4 อำเภอของสงขลา ได้แก่ หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา 2 เท่า เป็นเวลา 20 ปี (เพิ่มจาก 15 ปีเป็น 20 ปี) ลดหย่อนอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี (เพิ่มจาก 5 เป็น 10) ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็น สำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นระยะเวลา 10 ปี (เพิ่มจาก 5 เป็น 10) ทั้งยังให้เพิ่มประเภทกิจการที่ยกเลิกการส่งเสริมไปแล้ว แต่เปิดให้การส่งเสริมใหม่เฉพาะในพื้นที่ 3 อำเภอ ประกอบด้วย 1.กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ 2.กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค (ยกเว้นการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาเซรามิกและการผลิตกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง) 3.กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน (ยกเว้นเครื่องสำอาง) 4.กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก 5.กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ เช่น กล่องกระดาษ 6.กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือ คลังสินค้า

ถ้าทุกอย่างขยับตามแผนนี้ อีกไม่นานคงได้เห็นด้ามขวานทองของไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,190 วันที่ 8 - 10 กันยายน พ.ศ. 2559