เดินหน้าขับเคลื่อนกระทรวงดิจิทัล สู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0

24 ส.ค. 2559 | 01:00 น.
ถึงตอนนี้พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่...) พ.ศ...เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยการเปลี่ยนชื่อและปรับภารกิจจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ผ่านความเห็นชอบในวาระ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปเรียบร้อยแล้ว จึงรอเพียงการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้เท่านั้น

แต่ในช่วงรอยต่อนี้ กระทรวงไอซีที ได้เตรียมการรับการปรับเปลี่ยน ทั้งชื่อ โครงสร้าง ตลอดจนกระบวนการทำงานรอไว้แล้ว เพื่อรองรับภารกิจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กระทรวงให้ไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ประกาศนโยบายไว้กับ สนช.

[caption id="attachment_88866" align="aligncenter" width="700"] แผนลงทุนกระทรวงไอซีที แผนลงทุนกระทรวงไอซีที[/caption]

ย้อนรอย

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างกระทรวงไอซีทีครั้งนี้ เกิดในยุครัฐบาลคสช. โดยการผลักดันของ"หม่อมอุ๋ย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมด้านเศรษฐกิจ โดยมีนายพรชัย รุจิประภา รัฐมนตรีว่าการ(รมว.)กระทรวงไอซีทีขณะนั้น เป็นมือทำงานหลัก เพื่อปรับเปลี่ยนบทบาทจากหน่วยงานในมิติเทคโนโลยีสารสนเทศ ขยายสู่การปรับใช้วิทยาการที่ก้าวสู่ยุคดิจิตอลที่ผนึกแน่นเป็นวิถีชีวิต เพื่อการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนคุณภาพชีวิต

แม้จะเปลี่ยนครม.เศรษฐกิจสู่ทีมดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่มาเป็นรองนายกฯ คุมงานเศรษฐกิจ และวางตัว ดร.อุตตม สาวนายน เป็นรมว.ไอซีที แต่ทีมใหม่ยังคงสานต่อและผลักดันยุทธศาสตร์ดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการปรับโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อกระทรวงไอซีทีต่อ กระทั่งเสนอสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ผ่านการพิจารณา 3 วาระของสนช.ไปแล้ว

นอกจากพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ......เพื่อตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้ยกร่างกฎหมายประกอบเพื่อรองรับยุทธศาสตร์นี้อีก รวมทั้งสิ้น 8 ฉบับ โดยเป็นการเสนอแก้ไขกฎหมายเดิม 4 ฉบับ และเสนอกฎหมายใหม่ 4 ฉบับ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาทบทวน เพื่อเสนอครม.เห็นชอบก่อนส่งเข้าสนช.ต่อเนื่องจากนี้ไป

เดินหน้า ดิจิตอลไทยแลนด์

เป็นเพราะรัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ตั้งเป้ายกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีรายได้ระดับสูงใน 20 ปีข้างหน้า จึงเป็นที่มาให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ต้องปรับแผนให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว เช่นเดียวกับกระทรวงไอซีที มีเป้าหมายขับเคลื่อนดิจิตอลไทยแลนด์ เพื่อไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

ดร.อุตตม สาวนายน รมว.ไอซีที กล่าวว่า ไทยแลนด์ 4.0 เป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการมุ่งไปให้ถึง ดังนั้น ดิจิตอลไทยแลนด์ ซึ่งกระทรวงไอซีทีรับผิดชอบโดยตรง ด้วยการนำเทคโนโลยีซึ่งเป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญ เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว (อ่านรายละเอียดประกอบ หน้า 24 "อุตตม" ลั่น IoT จะพลิกโฉมประเทศไทย") เพื่อให้ประเทศไทยสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างเต็มศักยภาพ ในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม

ลงทุนไฟเบอร์ทั้งใน/ตปท.

อย่างไรก็ตามช่วงระหว่างนี้ กระทรวงไอซีที ได้เดินหน้าวางแผนลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง(บรอดแบนด์)ในประเทศ และไฟเบอร์ออพติก เชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างประเทศ โดยใช้งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท เป็นงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรจากรายได้ค่าประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ผ่านมา

"เราอยากเห็นประชาชนไม่ว่าอยู่ที่ไหนเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ เพราะถือว่าสำคัญมาก อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงถือว่าเป็นเส้นเลือดยุคดิจิตอล ประชาชนทุกคนต้องเข้าถึงพลังของเศรษฐกิจ พลังที่เทคโนโลยีช่วยเชื่อมโยงคน พอเชื่อมโยงเข้าด้วยกันมันสามารถเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และนี่คือหัวใจของเทคโนโลยี" นายอุตตม กล่าวย้ำ

ดันศูนย์ดิจิตอลชุมชนประชารัฐ

ไม่เพียงเท่านี้ กระทรวงไอซีทีได้มีการจัดตั้งอินเตอร์เน็ตชุมชน จำนวน 2 พันศูนย์ทั่วประเทศ มีแผนจะยกรับศูนย์ดิจิตอลชุมชนประชารัฐ สร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในรูปแบบที่ทันสมัย เพราะฉะนั้นโครงข่ายที่กระทรวงไอซีทีวางอยู่ในขณะนี้ จะเชื่อมต่อเข้าชุมชน โดยในเฟสแรกจะปรับปรุงจำนวน 600 ศูนย์

ไม่เพียงแต่โครงข่ายเท่านั้น เนื้อหาหรือข้อมูลเป็นอีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน จึงได้เตรียมแผนเรื่องของการศึกษา ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ ในเรื่องของอี-เลิร์นนิ่ง ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนออนไลน์มีจำนวนทั้งสิ้น 4 แพลตฟอร์มใหญ่ โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และกระทรวงศึกษาธิการ จับมือพัฒนาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในการพัฒนาแพลตฟอร์มเรื่องระบบ อี-เลิร์นนิ่งครั้งนี้ กระทรวงไอซีที เตรียมสร้างแพลตฟอร์มกลางขึ้น เพื่อเชื่อมโยงทั้ง 4 ระบบให้ทุกคนเข้าถึงผ่านแพลตฟอร์มกลางได้ในทันที

เตรียมโอนคน"ซิป้า"

ด้านหน่วยงานในสังกัดก็ต้องปรับบทบาท อาทิ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(ซิป้า) ซึ่งมีกระแสข่าวว่าจะยุบนั้น รมว.ไอซีที เปิดเผยว่า บุคลากรของ ซิป้า เป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ กระทรวงเตรียมโอนบุคลากรเหล่านี้ ไปสังกัดสำนักงานส่งเสริมดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

พร้อมกันนี้ กระทรวงไอซีทีให้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างนี้ได้มอบหมายให้ซิป้า ลงนาม MOU กับสถาบันการศึกษากว่า 43 แห่ง ร่วมกันจัดตั้ง SIPA Tech Startup Club สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ของกลุ่ม Digital Startup ตั้งเป้าสร้างความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ให้สามารถสร้างงานนวัตกรรมใหม่ด้วยตนเอง ตั้งเป้าในช่วง 4 ปี เกิดผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้น สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,780 ล้านบาท

ดร.อุตตม กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าว คือ การพัฒนากำลังคนดิจิตอล (Digital workforce) ขึ้นมารองรับการทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิตอล โดยเน้นกลุ่มคนทำงานที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างผลิตภาพการผลิต (Productivity) ในระบบเศรษฐกิจ และกลุ่มคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล รวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของภาคประชาชนทั่วไป

เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างบุคลากร ผู้ทำงานทุกสาขามีความรู้และทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะการสร้างกลุ่มคนทำงานให้มีคุณภาพในการสร้างนวัตกรรม เพื่อเกิดการจ้างงานแบบใหม่ อาชีพใหม่ ธุรกิจใหม่ จะทำให้เกิดบุคลากรด้านธุรกิจนวัตกรรมใหม่ หรือ Digital Startup ที่มีความสามารถ สร้างสรรค์ และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม เป็นการพลิกแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ๆ สู่ธุรกิจรูปแบบใหม่บนนวัตกรรมสร้างสรรค์

ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงไอซีทีได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งในและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก จึงให้ความสำคัญของการพัฒนากำลังคน หรือนักรบดิจิตอล ซึ่งเป็นกองกำลังสำคัญที่ต้องสนับสนุนในการฝึกฝนฝีมือ สร้างความแข็งแกร่งอย่างเร่งด่วน ซึ่งสถาบันหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ ก็คือสถาบันการศึกษา

ดังนั้น การที่ซิป้าส่งเสริมให้มีดิจิตอล สตาร์ตอัพ ในสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างเครือข่ายที่ใช้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ การถ่ายทอดประสบการณ์ เพื่อให้เกิดพลังความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นการพัฒนาความรู้ความเข้าใจตั้งแต่รากฐาน จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผนวกกับความรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญภายนอก จะทำให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมใน SIPA Tech Startup Club ได้พัฒนาตนเองได้อย่างรอบด้าน

จากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการ Digital Startup ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการสนับสนุน 73 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,780 ล้านบาท จากเดิมมีเพียง 3 รายในปี 2012 ซึ่งใน 4 ปีที่ผ่านมา ผลงานด้านดิจิตอลได้รับการยอมรับด้านความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากขึ้น ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจ และวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเป็นจำนวนมาก เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกระทรวงดีอี เพื่อไปสู่ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,185 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559