‘วิษณุ’ กระตุกต่อมสร้างพลัง อยากเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร!

01 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
"อยากเห็นหน้าตาประเทศเป็นอย่างไรในอนาคต.." คำถามยอดฮิตติดปากติดหูคนไทยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ก่อนได้คำตอบกลับมาว่า ..ฝันลมๆแล้งๆไปไหม.. หรือ ท้าทายแบบไม่เจียมตัวหรือไม่ ในโครงการสานเสวนาเรื่อง "สังคมที่พึงปรารถนา...ประเทศไทย (ที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยและยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี)" จัดขึ้นโดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวสะท้อนมุมมองของคำถามนี้ในช่วงของการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "อนาคตสังคมไทยที่เหมาะสมกับการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยและยุทธศาสตร์ชาติระยะ20 ปี" ว่า เป็นคำถามของคนยุคนี้เพื่อให้ลูกหลานได้รู้ว่า เราอยากเห็นคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร ซึ่งคนรุ่นใหม่เองก็มีสิทธิจะตั้งคำถามเดียวกันนี้เพื่อถามคนรุ่นต่อๆไป (carry on) ส่งต่อกันได้

นักกฎหมายท่านนี้ได้อธิบายว่า คำตอบที่ได้จะต่างกันออกไป และมักจะมีประโยคต่อท้ายตามมาบ้างก็ว่า "ฝันลมๆแล้งๆ", "ไม่เจียมตัว" หรือมองว่า "ท้าทาย" ซึ่งคำตอบเหล่านี้ไม่ผิด เพราะไม่มีใครรู้อนาคตประเทศว่า จะเป็นเช่นไร ในหลักพระพุทธศาสนายังจะมีคำสอนว่า อย่าปรารถนาในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง แต่ก็มีคำสอนตามมาด้วยว่า "ผู้ที่มีความเพียรย่อมประสบความสำเร็จ" ดังนั้น เมื่อจะอ่านอะไรจึงต้องอ่านให้ครบจบทั้งบริบท แม้กระทั่งอ่านร่างรธน. จะหยิบเอาเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งขึ้นมาไม่ได้

"สังคมที่ไม่มีคำถามเช่นนี้จะเป็นสังคมที่น่าเบื่อ เฉื่อยแฉะ ชักช้า และอยู่ไปโดยไม่มีความหวัง ตรงข้ามสังคมใดก็ตามหากมีคำถามลักษณะนี้จะปลุกจิตสำนึกของคนในสังคมให้หวือหวาขึ้น ตอบไม่ได้ก็อยากจะหาคำตอบ ปรากฏอยู่ในมงคลสูตร 38 ประการในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ การอยู่ในสังคมที่มีการปฏิรูปเป็นมงคล "สังคมปฏิรูป" หมายถึง คนที่อยู่ด้วยความหวัง ด้วยการคิด อยู่ด้วยความตั้งใจที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เป็นสังคมที่หมั่นถามว่า วันนี้กำลังทำอะไร พรุ่งนี้จะทำอะไร ต่อไปจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น การหมั่นถามเช่นนี้ คือ การปฏิรูปตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา"

กรณีนี้เราพูดถึงอนาคตของสังคมของประเทศไทย ของบ้านเมือง ไม่ได้พูดถึงความฝัน ความหวังของตัวเราคนเดียว แต่กำลังพูดถึงคนอีกกว่า 60 ล้านคน เราไม่พร้อม คนอื่นพร้อม และถ้าช่วยกันก็จะทำให้สำเร็จ เรากำลังพูดถึงความฝันของคนทั้งชาติ ไม่ใช่ต่างคนต่างฝัน ลักษณะเช่นนี้ถือเป็นพลัง ดังนั้น เมื่อพูดถึงส่วนรวม จึงต้องทำกิจทั้งหลายในวันนี้ เพื่อให้เกิดความสำเร็จในอนาคต เมื่ออนาคตมาถึงเราจะได้สบายใจว่า ได้เตรียมตัวรับไว้แล้ว ซึ่งต้องมี 2 เรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ คือ 1.วิธีการ แนวทาง และกระบวนการ (ทำอย่างไร) และ2.เป้าหมาย (ทำไปทำไม) ซึ่งภาษาวิชาการ ภาษากฎหมาย ใช้คำว่า "การปฏิรูป" แทนคำถามที่ว่า ทำอย่างไร ส่วนทำไปทำไม เราเรียกว่า "ยุทธศาสตร์"

"การปฏิรูป คือ ความเปลี่ยนแปลง แต่การปฏิรูปไม่เหมือนกับการเปลี่ยนแปลง ในภาษาอังกฤษมี คำว่า "รีฟอร์ม" (reform) และคำว่า "เชนช์" (change) ซึ่งความหมายต่างกัน change เปลี่ยนโดยไม่มีเป้าหมายไม่มีกระบวนการ เกิดขึ้นทุกวันในสังคมไทย ที่ไม่มี คือ การปฏิรูป ซึ่งเป็นการเปลี่ยนที่มีวิธีการบริหารจัดการ ลำดับความสำคัญก่อนหลังและใช้เวลา ต้องพลิกแพลงจากสิ่งที่เคยชินให้กลายเป็นสิ่งใหม่ โดยต้องมีเป้าหมาย ต้องตอบได้ว่า ทำไปเพื่ออะไร หากคำตอบไม่ถูกใจ คนก็ไม่เอาด้วย การปฏิรูปก็ไม่สำเร็จ

คำว่า ปฏิรูป และยุทธศาสตร์ เป็นคำใหม่ แต่เราก็คุ้นกับความหมายและวิธีการมานานแล้ว ผมโชคดีที่เคยทำงานกับรัฐบาลต่อเนื่องกันมา 10 รัฐบาล ได้เห็นความเพียร ความปรารถนา ความฝัน และความท้าทายของรัฐบาลทุกชุดที่อยากปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์ชาติกันทั้งนั้น มาจนมุม เพราะไม่มีเวลา ไม่สามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบได้ จึงต้องสะดุดหยุดลง จึงแปลกใจที่มีนักการเมือง บอกว่า ปฏิรูปทำไมทั้งๆที่ก็เคยอยู่ใน 10 รัฐบาลนั้น ทั้งยังพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งก็พูดกันมานานแล้วเช่นกัน แต่ทำไม่ได้ สมัยรัฐบาลทักษิณ เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่ต้องการปฏิรูปและเอาจริงเอาจังมากที่สุดรัฐบาลหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำให้สัมฤทธิ์ได้

"วันนี้เชื่อว่าเป็นครั้งแรกที่มาถึงจุดที่เอาจริงเอาจัง เอาเป็นเอาตายกับคำว่า ปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ไม่กลัวเรื่องเวลา เพราะในอดีตเป็นเพียงนโยบายรัฐบาล แต่ถ้าวันนี้ใส่เอาไว้ใน รธน. และอยู่ในหัวใจคนทั้งชาติแล้ว จนมีคำกล่าวที่ว่า จะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือ เลือกตั้งก่อนปฏิรูป ถ้าร่างรธน.ผ่านก็ไปได้ แต่ถ้าไม่ผ่าน เชื่อว่า ใครจะมาร่างก็ต้องมีเรื่องปฏิรูป ไม่มีไม่ได้ เรื่องคนต่อต้าน คงจะมีตอนเลือกวิธี เนื่องจากมีคนได้ประโยชน์และคนเสียประโยชน์ แต่วันนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น และไม่กลัวว่า จะไม่มีคนไม่เข้าใจ เพราะทุกวันนี้คนตระหนักแล้ว รอคอย เร่งรัดให้เกิดขึ้นด้วยซ้ำ"

นอกจากนี้เมื่อพูดถึงเรื่องยุทธศาสตร์ เวลาไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะในร่างฉบับนี้ มาตรา 65 ระบุเอาไว้ว่า ต้องจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ หรือ เป้าหมายการพัฒนาประเทศ โดยเปิดโอกาสให้คนมีส่วนร่วม และออกกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่มาตราท้ายๆ ระบุเอาไว้ว่า ต้องทำกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติภายใน 4 เดือน หรือ 120 วัน นับแต่วันที่ รธน.ประกาศใช้ และต้องไปทำแผนยุทธศาสตร์ชาติให้เสร็จภายใน 1 ปี ขณะที่มาตรา 167 ตอกตะปูย้ำว่า รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่ต้องสอดคล้อง รธน. และยุทธศาสตร์ชาติ

มีคนตั้งข้อสังเกตว่า เป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีขอชี้แจงว่า ในร่างรธน.ฉบับนี้ไม่มีตรงไหนพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับระบุว่า จะครอบคลุมกี่ปี จะเอานานแค่ไหนก็ได้ไปว่ากัน แต่วันนี้กลับมีคนมาพูดว่า มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแล้ว ซึ่งก็ไม่ผิดปกติ อย่างมาเลเซียก็ประกาศยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้รู้ว่าจะเดินไปในทิศทางใด จะไปถึงไม่ถึง อยู่ได้ไม่ได้ไม่สำคัญ ไม่ใช่รัฐบาลนี้เป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี เพราะคงไม่มีใครจะอยู่นานขนาดนั้น แต่คนที่เข้ามาเป็นรัฐบาลจะเดินต่อได้ ถ้าไม่อยากเดินก็เปลี่ยน อย่าลืมว่า วันนี้เราอยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 มีระยะเวลาฉบับละ 5 ปี หมายความว่า เดินมา 55 ปีแล้ว ปีหน้ากำลังจะใช้ฉบับที่ 12

ดังนั้น หลักการยุทธศาสตร์ชาติ คือ กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติให้ยาวไปอีก 4 แผนจะได้มองให้ไกลมากขึ้น เพราะบางโครงการต้องทำกัน 7-8 ปี บางเรื่องจะเปลี่ยนคน จะวางรากฐานการศึกษาก็คิดกันไปยาวๆ 10-20 ปี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร คนที่มาเป็นรัฐบาลก็ปรับเปลี่ยนไปตามตาราง ดูงบประมาณ โลกาวิวัตน์ และความต้องการของประชาชนที่เหมาะสมกับสภาพหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันว่า ในร่างรธน.ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึง 20 ปี พูดกันเอง เป็นการตั้งความปรารถนาไว้อย่างนั้น ถามว่าทำไมไม่ 15 ปีหรือ 25 ปี บอกเลย หลายประเทศเขาเซตไว้ 20 ปี เราก็ทำบ้างจะได้ไม่เชยก็แค่นั้น

การปฏิรูปและยุทธศาสตร์ จะใช้เวลากี่ปีก็ทำกันไป แต่ยืนยันว่า เป็นสิ่งที่จำเป็น เป็นกระแสโลก และความต้องการของประชาชน สถานการณ์บีบบังคับ เราไม่สามารถอยู่โดยไม่รู้ว่า ทำอะไร ทำอย่างไร และทำไปเพื่ออะไรไม่ได้อีกแล้ว

"การปฏิรูป เป็นวิธีการ ยุทธศาสตร์ เป็นเป้าหมาย ล้วนเป็นเรื่องของอนาคตซ้อนอนาคต ที่ต้องใช้เวลานาน เป็นฝันที่คนทั้งชาติมีร่วมกัน ไม่ใช่สิ่งที่เลื่อนลอย เป็นความปรารถนาในสิ่งที่ดีงาม และอยากเห็นไม่ใช่ความท้าทายที่บ้าบิ่นหรือไม่เจียมตัว แต่คิดจากศักยภาพที่มี จากทุนงบประมาณ จากความตั้งใจ จำนวนประชากร และพลังข้าราชการที่จะขับเคลื่อน เป็นความท้าทายที่คุ้มทุน คุ้มค่า เป็นความอยู่รอดของเรา ของประเทศชาติ

ปฏิรูป จึงต่างจากการปฏิวัติ ที่เหมือนการพลิกฝ่ามือ แต่ต้องค่อยๆตะแคง รีบพลิกไม่ได้ มันกระเทือน เราจึงต้องเตรียมสภาพสังคมในปัจจุบันเอาไว้ เหมือนกับการเตรียมที่ ส่วนการเตรียมการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ก็เหมือนกับเอาต้นไม้มาลงในที่ หากไม่เตรียมที่ดินเอาไว้ เอาต้นไม้มาลงจะโตได้อย่างไร เรื่องนี้จึงสำคัญ ตามคำพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า จงทำกิจทั้งปวงเสียให้เสร็จในวันนี้เพื่อไปสู่อนาคตที่สมบูรณ์ได้ในวันหน้า

ร่างรธน.ม.257 ตอบโจทย์‘สังคมไทยที่พึงปรารถนา’

ตอนท้ายๆของการปาฐกถา ศ.ดร.วิษณุ รองนายกรัฐมนตรี เฉลยตอบของคำถามนี้ในเวทีนี้โดยชี้ช่องให้ไปเปิดร่างรธน.ฉบับของ "มีชัย ฤชุพันธ์" มองหาคำตอบของคำถาม "สังคมที่พึงปรารถนา" หรือเป้าหมายที่เราต้องการจะเห็น ปรากฎอยู่ในมาตรา 257 ดังนี้

1.สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความระเบียบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง ดำรงอยู่ในหลักตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาทางวัตถุกับการพัฒนาทางจิตใจ

2.ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมไทยที่มีความสงบสุข มีความเป็นธรรม และเสมอภาคในโอกาสเพื่อที่จะขจัดความเหลื่อมล้ำ

3.ต้องการเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความสุข มีคุณธรรม และให้คนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559