ยุทธศาสตร์664สภาพัฒน์เดินหน้าแผนฯ12

27 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
สศช.เดินหน้าทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ใช้เวทีประชุมใหญ่ประจำปีระดมความเห็นรอบสุดท้าย เติมร่างฯให้สมบูรณ์ พร้อมเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบเพื่อประกาศใช้ 1 ต.ค.นี้ เน้นลดเหลื่อมล้ำ-ขยายโอกาส หวังแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ตั้งเป้าพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ยันหากทำตามแผนไทยหลุดกับดักรายได้ปานกลางภายใน 20 ปี

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หริอสภาพัฒน์) บรรยายภาพรวมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ในการประชุมประจำปี สศช. เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยครั้งนี้เปิดฟังความเห็นรอบสุดท้ายต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่ยกร่างเสร็จแล้ว เพื่อเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ก่อนเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อให้ประกาศใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 นี้

[caption id="attachment_75034" align="aligncenter" width="500"] ประชุมใหญ่ประจำปี ประชุมใหญ่ประจำปี[/caption]

โดยการจัดทำแผนพัฒนา(แผน 5 ปี)ที่ผ่านมา สศช.ถูกตั้งคำถามหลายครั้งว่า เหตุใดไทยถึงไม่มีแผนพัฒนาที่ยาวกว่าระยะ 5 ปี เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 10 ปี 15 ปี 20 ปี เพื่อให้มีความชัดเจนเรื่องเป้าหมายร่วมของชาติ โดยได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ทดลองยกร่างยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะ 20 ปี ที่มีวิสัยทัศน์คือ ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์ของชาติ

ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 โดยการฟังความเห็นประชาชนรอบด้านต่อเนื่อง โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประกอบกับกระแสเรียกร้องปฏิรูปประเทศทุกภาคส่วน รวมถึงดำเนินการในกรอบ 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ที่จะมีการติดตามประเมินผลทุก 15 ปี แผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 จึงเป็นแผนสำคัญเหมือนรถไฟขบวนที่ 12 ที่ประชาชนไทยทุกคนที่ขึ้นมาอยู่ร่วมในขบวนรถนี้ โดยมีตั๋วโดยสาร 664 คนละใบ เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่เป้าหมาย

เลข 6 คือ เป้าหมาย 6 ประการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือในปี 2579 ซึ่งแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ก็นำมาบรรจุไว้ด้วย เพื่อให้มีความยึดโยง และจะเป็นนโยบายต่อเนื่องสู่แผนฉบับต่อ ที่จะไปสู่เป้าหมายระยะยาว ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 ในปี 2579 เศรษฐกิจไทยจะหลุดจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เข้าสู่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ตั้งเป้ารายได้รายเฉลี่ย 1.3 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน หรือจากแผนที่ 11 ที่กำหนดไว้ที่ 6 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี โดยใน 2579 ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงเรา จะมีรายได้สูงขึ้นสู่ประเทศรายได้ระดับกลาง เท่ากับไทยตอนนี้ โดยหากใน 20 ปีนี้เราไม่พัฒนาหรือย่ำอยู่กับที่เท่ากับเราถดถอย เพราะต่อจากนี้ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ หากไม่มีแผนรองรับจะทำให้ความสามารถการแข่งขันไทยลดลง โดยการจะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ จีดีพีประเทศจากนี้ต้องโตเฉลี่ยปีละ 5-6 % จากที่โตเฉลี่ย 3 % ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพของคน โดยในปี 2579 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี สูงถึง 30% ของประชากร โดยจำนวนนี้มีถึง 80 % ยังไม่มีเงินออมไว้สำหรับดูแลสุขภาพ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ภาครัฐจะต้องเตรียมตัว ในการดูแลสังคมผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ในส่วนของเด็กอายุ 0-3ขวบปัจจุบันพบว่า คะแนนความฉลาดและคะแนนความมั่นคงทางอารมณ์ของไทยยังต่ำกว่ามาตรฐาน ดังนั้น จากนี้ต่อเนื่องไปถึง 20 ปีจึงเป็นความท้าทาย ที่จะทำอย่างไรให้เด็กที่กำลังจะโตขึ้นกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องลดความเหลื่อมล้ำสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้น ๆของโลก คือตัวเลขดัชนีจีนี อยู่ที่ 0.46% หรือผู้มีรายได้สูงสุด 10% เทียบกับผู้มีรายได้น้อยต่ำสุดที่ 10% ถือครองทรัพย์สินห่างกันถึง 35 เท่า ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำลงอยู่ที่ดัชนีจีนี 0.36 เท่ากับระดับของกลุ่มประเทศโออีซีดี. ซึ่งความเหลื่อมล้ำเป็นเหตุของปัญหาสังคมหลายอย่าง ทั้งการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุข กระบวนการยุติธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตของความที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ถูกเริ่มขึ้นบรรจุไว้ตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 ต่อเนื่องมา แต่เมื่อจบแผนฉบับที่ 11 กลับพบว่าพื้นที่ป่าถูกบุกรุก และลดลงถึง 1 ล้านไร่ การพัฒนาจากนี้ไปต้องดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูให้กลับคืนมา โดยเป้าหมายใน 20 ปีจะต้องมีพื้นที่ป่าเพิ่มเป็น 40 % ของพื้นที่ หรือในระยะของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ต้องมีเมืองอุตสาหกรรมนิเวศไม่ต่ำกว่า 15 พื้นที่

ยุทธศาสตร์ที่5 ว่าด้วยความมั่นคง ทั้งในเรื่องอาหาร พลังงาน ปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ตลอดจนภัยคุกคามการก่อการร้ายรูปแบบใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 6 ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนา ตลอดจนปรับกลไกเพื่อป้องกันปัญหาคอร์รัปชัน โดยเป้าหมาย 20 ปีหลังจากนี้(ปี 2579) อันดับคอรัปชั่นของไทยจะต้องเป็นประเทศที่ปลอดคอร์รัปชัน เป็นอันดับที่ 2 รองจากประเทศสิงคโปร์

เลขาธิการ สศช. กล่าวด้วยว่า นอกจาก 6 ยุทธศาสตร์ที่เป็นเป้าหมายหลักยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดอีก 4 ยุทธศาสตร์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ และกลไกสนับสนุนการดำเนินยุทธศาสตร์ 6 ด้านให้สัมฤทธิ์ผล คือ 7. ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ โดยเฉพาะการขนส่งระบบราง การขนส่งทางเรือ ไปจนถึงอวกาศ ซึ่งตามแผนไทยจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กขึ้นไปให้บริการเพิ่มเป็นดาวเทียมที่สร้างเอง 8. ยุทธศาสตร์พัฒนาวิทยาศาสตร์ งานวิจัย นวัตกรรม ข้อมูล ณ ปัจจุบันในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ที่กำลังจะจบลงพบว่า มีการกำหนดเป้าหมายตัวงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาด้านนวัตกรรม 1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ตัวเลขจริงมีเพียง 0.5% เท่านั้น ดังนั้นแผนฉบับที่ 12 จะเน้นโครงการที่ใช้การวิจัยและพัฒนาโดยใช้งบประมาณสูงถึง 1.5% ของจีดีพี โดยมุ่งเน้นไปที่การวิจัยเพื่อเศรษฐกิจสังคม รวมถึงการเพิ่มบุคลากรด้านการวิจัยจาก 12 ต่อ 10,000 คน ให้เพิ่มเป็น 25 ต่อ 10,000 คน

9. ยุทธศาสตร์พัฒนาภาค เมือง พื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อให้การพัฒนากระจายผลไปอย่างกว้างขวาง ไม่กระจุกตัวอยู่เพียงกรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก และเป็นการเติบโตขึ้นมาพร้อมกัน อย่างน้อย 22 หัวเมืองทั่วประเทศ และ 10.ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา เพื่อเชื่อมโยงไทยที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เอื้ออำนวย ในการเชื่อมโยงเพื่อนบ้านเข้าด้วยกัน ทั้งในกรอบของประชาคมอาเซียน และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งการลงทุนระบบโลจิสติกส์ครั้งใหญ่ของไทยเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงและทำให้สาขาโลจิสติกส์เป็นอีกแหล่งรายได้ของคนไทยในอนาคต รวมทั้งเป็นการช่วยยกระดับเพื่อนบ้านให้เติบโตขึ้นมาด้วยกันทั้งหมด

ในการจัดประชุมระดมความเห็นดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มาเปิดประชุมและกล่าวปาฐกถาพิเศษเกือบ 2 ชั่วโมง โดยย้ำว่าสังคมไทยจมปลักปัญหาความขัดแย้ง ทำให้ขับเคลื่อนประเทศไปไหนไม่ได้ รัฐบาลนี้เข้ามาจึงต้องการวางเป้าหมายประเทศในระยะยาว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและมีเป้าหมายที่แน่นอน จึงให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้น ซึ่งจะเป็นกรอบทิศทางใหญ่ ที่แผนพัฒนาฯหรือนโยบายของผู้บริหารประเทศต่อไปจะได้มีทิศทางไม่สะเปะสะปะ รวมถึงการทำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ที่จะเป็นก้าวแรกของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต่อไป

"แต่ที่เป็นก้าวแรกของก้าวแรกคือ งานเตรียมความพร้อมและวางรากฐานทุกอย่าง ที่รัฐบาลนี้ได้ทำมาในกรอบระยะเวลา 2 ปีที่จะเป็นไปตามโรดแมปที่วางไว้ แผนงานต่าง ๆ ได้คุยกันมามากแล้ว ประเด็นสำคัญอยู่ที่การสร้างความรับรู้ให้ประชาชน ในการเลือกผู้บริหารและกำกับรัฐบาล ให้ทำงานไปในกรอบยุทธศาสตร์ที่วางไว้ เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยมีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ต้องยกระดับคนทุกส่วนขึ้นมาให้ได้ ซึ่งก็จะส่งเสริมให้เกิดความไว้วางใจกัน สร้างความรับรู้และปรับเปลี่ยน เพื่อจะขับเคลื่อนประเทศไปได้ ถ้าทำต่อเนื่องกันไป 20 ปีได้ เกิดแน่ แต่คนที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือประชาชนทุกคน เตรียมตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559