ส่อง2โมเดลคุมประชามติ ศูนย์รักษาความสงบฯ-ปราบโกง

07 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
ก่อนถึงวันลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข็นไอเดียเด็ด ผุด "ศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559" ขึ้นในทุกจังหวัด และอำเภอ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุตอนหนึ่งว่า..เป้าหมายการตั้งศูนย์ฯครั้งนี้ เพื่อป้องกัน ระงับ ยับยั้ง เหตุที่จะนำไปสู่ความไม่สงบ สนับสนุนให้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม อิสระและเป็นกลาง.."

ใช้กลไกระดับพื้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน แบ่งเป็น ระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ขณะที่ระดับอำเภอ ให้นายอำเภอ เป็น ผอ.ศูนย์ฯ และมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ 3 ภารกิจหลัก คือ 1.ด้านการบริหารจัดการ เช่น จัดทำแผนเผชิญเหตุ ติดตามสถานการณ์ และตั้งจุดตรวจจุดสกัด เป็นต้น 2.ด้านการข่าว เสาะหาข่าวที่บิดเบือนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และ 3.ด้านการแก้ไขปัญหาการชุมนุมสาธารณะ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558

ขณะที่ขั้นตอนการปฏิบัติการทำงานจะแบ่งการรายงานเหตุการณ์ไปยังผู้บริหารใน 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ก่อนวันออกเสียงประชามติ คือ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2559 ระยะที่สอง วันออกเสียงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 และระยะที่สาม หลังวันออกเสียงประชามติ 8 – 10 สิงหาคม 2559 หรือจนกว่าจะเรียบร้อย

"ท่านนายกฯ ย้ำชัดเจนว่า จะไม่ปล่อยให้มีการโกง หรือขัดขวางการลงประชามติเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ดุลพินิจของตนเองตัดสินใจอย่างเต็มที่ โดยได้กำชับให้แต่ละจังหวัด และอำเภอปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด ให้เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ยึดถือกฎหมาย และทำเพื่อประโยชน์ของสาธารณะอย่างแท้จริง และขอความร่วมมือจากประชาชนทุกภาคส่วน ร่วมเป็นหูเป็นตา หากพบเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายประชามติ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โปรดแจ้งเจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยด่วน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการลงประชามติให้เป็นที่ยอมรับของทุกคนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
หนีไม่พ้นต้องถูกตั้งข้อสังเกตจากสังคม โดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เปิดแนวคิดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ ก่อนหน้านี้ว่า ลอกเลียนแบบแนวคิดของ นปช.มาหรือไม่ อย่างไร

พาย้อนกลับไปส่องโมเดลของ "ศูนย์ปราบโกงประชามติ" ที่ถูกสกัด มีอันต้องล้มพับไป ไม่สามารถเปิดได้ตามเป้าที่วาง โดยในวันแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. อธิบายกับสื่อมวลชนถึงลักษณะการดำเนินการของศูนย์ปราบโกงนี้ว่า จะมีส่วนกลาง ซึ่งประกอบด้วย คณะทำงานหลักซึ่งเป็นแกนนำ นปช.ทั้งหมด อาทิ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ นายเหวง โตจิราการ ซึ่งจะเป็นทีมขับเคลื่อนการดำเนินการในด้านต่างๆ โดยมีภารกิจที่ชัดเจน คือ ฝ่ายกฏหมาย รับเรื่องร้องเรียน ประสานงานยื่นเอกสารไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตรวจสอบข้อเท็จจริง

ส่วนการทำงานของศูนย์ปราบโกงประชามติ จะจัดทีมภายในศูนย์ ประกอบด้วย ทีมทนายความ ทีมกฎหมายของ นปช.และพนักงานด้านต่างๆ เช่นเดียวกับศูนย์ที่ต่างจังหวัดที่จะจัดให้มีลักษณะเดียวกัน โดยศูนย์ต่างจังหวัดจะมีเครือข่ายและทีมทนายความของ นปช. ที่จะมอบให้แต่ละจังหวัดไป

"ภารกิจของศูนย์ปราบโกงประชามติ จะเป็นศูนย์รับแจ้งข้อร้องเรียนต่างๆที่พบว่า ทุจริตและพบว่า มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย จากนั้นก็จะส่งเรื่องต่างๆไปยัง กกต. ศูนย์ดังกล่าวจะร่วมรณรงต์ให้คนร่วมกันในการจับโกง และรณรงค์ให้คนไปใช้สิทธิด้วย" นายจตุพร ประธาน นปช. ระบุ

ก่อนจะถึงวันลงประชามติ อาจจะเกิดโมเดลใหม่ตามมาอีก คงต้องติดตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559