2เอ็มโอยูแรงงานใหม่เมียนมา-ไทย คุ้มครองสิทธิเสมอหน้าตามหลักสากล

01 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าบนโลกสังคมเครือข่าย เมื่อมีการส่งต่อข้อความโจมตีการเดินทางเยือนไทยโดยการนำของนางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และรัฐมนตรีต่างประเทศ เมียนมา ระหว่างวันที่ 23-25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าเตรียม 5 ข้อเรียกร้องผลตอบแทน สิทธิและสวัสดิการให้แรงงานเมียนมาในไทย สูงกว่าที่คนไทยได้รับเสียอีก และหลายความเห็นวิจารณ์บนข้อมูลที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง นั้น

นายธีรพล ขุนเมือง โฆษกกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ไม่ใช่ข้อเรียกร้องอย่างเป็นทางการของทางการเมียนมาแต่ประการใด โดยในเรื่องแรงงานมีการลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับ คือ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน และบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานเท่านั้น

เช่นเดียวกันนายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ก็กล่าวว่า ในการหารือระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับนางซูจี มีประเด็นหลัก 3 ด้านคือ 1.การคุ้มครองแรงงานเมียนมาในไทย ในขณะที่เมียนมาจะดูแลนักธุรกิจที่ไปลงทุนในเมียนมาอย่างดี 2.ความร่วมมือด้านการพัฒนา เน้นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พัฒนาไปพร้อมกันและก้าวหน้าไปด้วยกัน และ 3.ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยเห็นพ้องเพิ่มความร่วมมือในลักษณะไตรภาคีกับประเทศที่สาม เช่น ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตลอดจนร่วมกันทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค ภายใต้กรอบอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

"กระแสข้อเรียกร้องของเอ็นจีโอและข้อเรียกร้องอื่น ๆ เป็นเพียงข้อเรียกร้องที่เสนอผ่านทางสื่อเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อเรียกร้องของทางการเมียนมาแต่อย่างใด และที่สำคัญที่สุดในความร่วมมือด้านแรงงาน ทั้งสองประเทศมุ่งเน้นการส่งเสริมการเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย"

ทั้งนี้ พิธีลงนามความตกลงด้านแรงงาน 2 ฉบับ ระหว่าง พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ นาย เต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากร เมียนมา มีขึ้นเมื่อ 24 มิถุนายน ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และนางซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ร่วมเป็นสักขีพยาน

ฉบับแรกเป็นบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะยอมรับในหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพูนความสัมพันธ์ ประโยชน์ระหว่างกัน ในการสร้างความเข้มแข็งและความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงสนับสนุน พัฒนาความร่วมมือในด้านแรงงาน พร้อมมุ่งมั่นร่วมกันในการส่งเสริมนโยบายการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี เพื่อปรับปรุงศักยภาพและความสามารถของทั้งสองประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการจัดส่งและรับแรงงานระหว่างกัน ให้มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลเพื่อป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน

พร้อมร่วมมือกันเพื่อพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับทักษะฝีมือของกำลังคน และเพิ่มผลิตภาพแรงงานด้วย นอกจากนี้ จะทำงานเพื่อสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ อาทิ การเจรจาต่อรองร่วม การร้องทุกข์และการบังคับใช้กฎหมาย การระงับข้อพิพาทแรงงาน การประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน การฟื้นฟูสมรรถภาพ ความปลอดภัยและอาชีวอนามัย การทำงานในเรือเดินทะเล การประกันการว่างงาน การบริหารจัดการแรงงานต่างชาติ และการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างบุคลากรที่เกี่ยวข้อง และผู้เชี่ยวชาญ

สำหรับฉบับที่ 2 เป็นบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน วัตถุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างกัน ในการจัดทำกรอบการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส เพื่อให้มั่นใจว่า มีการดำเนินการตามกระบวนการที่เหมาะสมสำหรับการจ้างงาน มีกระบวนการส่งกลับแรงงานที่ครบกำหนดระยะเวลาการจ้างงานตามเงื่อนไข ให้กลับประเทศต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศภาคี

โดยบันทึกนี้ จะครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง การตรวจลงตรา อนุญาตทำงาน บริการสุขภาพ การส่งกลับประเทศต้นทาง การระงับข้อพิพาท หน้าที่ของนายจ้างและลูกจ้าง รวมทั้งความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน และการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย โดยเฉพาะในกระบวนการส่งและรับ จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ มีระบบการลงทะเบียนคนงานเพื่อไปทำงานต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการสรรหาและการตรวจร่างกาย และจะได้รับการเสนอสัญญาจ้างก่อนการเดินทาง มีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงทั้งเรื่อง ค่าใช้จ่าย ขั้นตอน และระยะเวลา ในการคุ้มครองแรงงาน คนงานเมียนมาจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันกับแรงงานไทย บนหลักพื้นฐานของการไม่เลือกปฏิบัติ ได้รับสิทธิและประโยชน์ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง กฎหมายแรงงานและระเบียบอื่นๆ ที่บังคับใช้ในประเทศไทย

ประการสำคัญ เมียนมาจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อให้มั่นใจว่าคนงานมีความเข้าใจที่ถูกต้อง เกี่ยวกับข้อกำหนดและเงื่อนไขของการจ้างงาน และมีการประกันสุขภาพตามที่กำหนด และหากมีข้อพิพาทใด ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง อันเนื่องมาจากการจ้างงานจะได้รับการระงับตามกฎหมายและระเบียบของประเทศไทย สำหรับสัญญาจ้างและเอกสารอื่น ๆ จะต้องจัดทำเป็นภาษาไทย ภาษาเมียนมา และภาษาอังกฤษ และรับรองโดยสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย

ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้มีระยะเวลา 5 ปี ในส่วนของบันทึกข้อตกลงการจ้างงานฯ จะมีระยะเวลา 2 ปี

หนึ่งวันก่อนหน้านั้น นายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีแรงงาน ตรวจคนเข้าเมือง และประชากร ที่ร่วมเดินทางกับคณะนางซูจีเยือนไทย ได้เข้าพบหารือกับพล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีแรงงาน เพื่อหารือข้อราชการ โดยพล.อ.ศิริชัยกล่าวหลังการหารือว่า ไทยและเมียนมาจะจัดระบบการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งมาทำงานในไทย จะมีการเตรียมความพร้อมให้ความรู้ด้านกฎหมาย สิทธิแรงงาน ประเพณีไทย และสภาพการทำงาน

นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานตามชายแดน นำร่องที่จ.ตากเป็นแห่งแรก ซึ่งจะได้หารือในรายละเอียดว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพื่อให้แรงงานเมียนมาที่เข้ามาทำงานในไทย มีทักษะฝีมือตามความต้องการนายจ้าง โดยขณะนี้มีแรงงานเมียนมาในไทย 1.4 ล้านคน ต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล เช่น เรื่องสิทธิต่าง ๆ ความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งหากเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ก็จะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับคนไท ย หลังจากที่ได้ลงนามร่วมกันแล้ว ไทยและเมียนมาจะตั้งคณะทำงานร่วมกัน ซึ่งได้เริ่มทำโครงสร้างไว้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เมียนมาเสนอมา

ขณะที่นางซูจีเองในวันเดินทางไปพบปะแรงงานเมียนมาที่ห้องประชุมตลาดทะเลไทย สมุทรสาคร ก็ย้ำให้ทุกอย่างเป็นไปตามระบบที่ถูกต้องที่ทางการ 2 ประเทศรับรอง และย้ำกับแรงงานเมียนมาในไทยว่า เราเหมือนแขกไปเยือนประเทศอื่น ต้องรัก ซื่อสัตย์ และประพฤติตนให้ดีต่อเจ้าของบ้าน มีอะไรก็พูดคุยกัน รวมทั้งต้องทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกระบวนการกฎหมายในประเทศไทยด้วย บางครั้งเกิดปัญหาบ้างนิดหน่อยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องรักกันสามัคคีกัน จะได้อยู่ด้วยกันไปนาน ๆ และพัฒนาความร่วมมือทั้งสองประเทศให้ดีขึ้นต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559