ถอดรหัส บริษัทประชารัฐฯ ฉีกตำรานักการตลาดโลก สร้างโมเดลใหม่

24 มิ.ย. 2559 | 05:30 น.
เป้าประสงค์หลักของการจัดตั้ง "บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (จังหวัด) จำกัด" คือ การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รายได้ของบริษัทมาจากส่วนแบ่งของรายได้ที่เพิ่มขึ้นของชุมชนที่เข้าไปช่วยเหลือโดยปราศจากการปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น และให้บริษัทลูกถือหุ้นในบริษัทแม่ คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด

"...นี่คือ นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย..." คำอธิบายจากปากของ ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจฐานรากและสัมมาชีพชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) ย้ำชัดเมื่อครั้งที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับ "ฐานเศรษฐกิจ"

บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ เป็นแนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่สามารถทำหน้าที่เป็น "เทรดดิ้งคอมพานี" สามารถเชื่อมต่อกับห้างค้าปลีกเพื่อซื้อขายผลผลิตของชุมชนได้ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ดังเช่น กรณีการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี เพชรบุรี จำกัด ซึ่งเป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่อง โดยได้มีการพัฒนาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ "ขนมหม้อแกง" ใหม่ให้ทันสมัย สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ จากบรรจุภัณฑ์แบบถาดที่เห็นทั่วไป มาเป็น กระปุก ซึ่งสะดวกและสามารถรับประทานคนเดียวได้หมด โดยล่าสุด ท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้ความสนใจนำสินค้าไปวางจำหน่ายในสาขาต่างๆ แล้ว

"หลักการประชารัฐรักสามัคคี เพชรบุรี จำกัด ได้เปิดบัญชีเป็น vendor ของท็อปส์เรียบร้อยแล้ว วันนี้ ขนมหม้อแกง กลายเป็นเครื่องมือที่ทีมงานนำไปใช้ขยับเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่ ใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง ลงไปในตำบล ไปชวนชุมชนผลิต ยกผลิตภัณฑ์ชื้นนี้ขึ้นมาเป็นตัวตั้ง แล้วปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ได้ Value Add ใหม่

พร้อมขยายผลจากหนึ่งตำบล เป็น 2 3 4 ต่อไปในอนาคต แม้ว่ากระบวนการจะใช้ผลิตภัณฑ์เป็นตัวตั้ง แต่ท้ายที่สุดลงไปสู่การจัดการโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ขนมหม้อแกงเพียงอย่างเดียวเพราะเมื่อลงไปถึงข้างล่าง ในชุมชนอาจมีขนม 10 ชนิดที่สามารถมาด้วยกันได้ เป็นพอร์ตโฟลิโอที่สามารถเข้าท็อปส์ เข้าช่องทางต่างๆ ได้ เป็นต้น หรือจัดการให้หม้อแกงไปวางอยู่ในห้องต่างๆ ของโรงแรมทั่วประเทศ นี่คือ การตลาดที่ประชารัฐรักสามัคคีสามารถเชื่อมต่อโครงข่าย เทรดสินค้าระหว่างกันได้ทั้ง 76 จังหวัด โดยมีบริษัทแม่ (บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด) คอยดูแลขับเคลื่อนเรื่องเดียวกัน

"นี่คือ การสร้างโครงการข่ายข้อมูลข่าวสารทางธุรกิจให้กับชุมชนได้เกิดขึ้น ช่วยย่นระยะเวลาการขับเคลื่อนชุมชนสัมมาชีพเต็มพื้นที่ๆ ออกแบบไว้เป็นสิบๆ ปี เป็นความร่วมมือแบบประชารัฐที่ลงไปขยับในแต่ละพื้นที่ให้เกิดขึ้นจริง"

ยิ่งน่าสนใจ เพราะเมื่อเจาะลึกลงไปถึงกระบวนการทางการผลิต กลยุทธ์การตลาดของ บริษัทประชารัฐฯ ที่มุ่งทำรายพื้นที่ ค้นหาชุมชนที่มีความพร้อม วิเคราะห์แล้วดึงศักยภาพของแต่ละชุมชนและผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นมาเป็นจุดขายนั้น ไม่ปรากฏอยู่ในตำราหรือหลักทฤษฎีของกูรูนักการตลาดแต่อย่างใด

ดร.อนุรักษ์ ขยายความเรื่องนี้ว่า หลักทฤษฎีทางการตลาด ได้แบ่งออกเป็นยุคต่างๆ อาทิ ยุค Marketing 1.0 ที่ผู้ประกอบการมุ่งผลิตสินค้าที่ตนเองอยากผลิต อยากจำหน่าย ส่วนยุค Marketing 2.0 เป็นยุคที่ผู้ประกอบการผลิตสินค้า และบริการตามที่ลูกค้าพึงพอใจ และยุค Marketing 3.0 เป็นการให้ความรู้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Involve stakeholder) แต่ผู้ประกอบการยังเป็นผู้กำหนดตัวสินค้าและบริการอยู่ ให้ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการบ้าง แต่หลักการทั้งหมดไม่ได้ให้น้ำหนัก โดยใช้ชุมชนเป็นตัวตั้งในการผลิตสินค้าและบริการแต่อย่างใด

"ทฤษฎีของฟิลิป คอตเลอร์ ใช้ธุรกิจเป็นตัวตั้ง มีลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้เสียมาเกาะเกี่ยวบ้าง เพื่อให้ดูว่า การทำธุรกิจหรือตัวบริษัทไม่เอารัดเอาเปรียบสังคมมากนัก เป็นบริษัทเพื่อสังคม เป็นที่รักของหุ้นส่วนทางธุรกิจ นี่คือ สิ่งที่ คอตเลอร์ พาเรามาถึง Marketing 3.0 ขณะที่แนวคิดของ ไมเคิล อี พอตเตอร์ ปรมาจารย์ด้านทุนนิยมและเศรษฐกิจเต็มตัว จะมีกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่า Creating Share Value (CSV) คือ การสร้างมูลค่าร่วมโดยใช้แผนธุรกิจเป็นตัวตั้ง เข้าไปคลี่คลายปัญหาทางสังคมโดยที่ธุรกิจยังมีกำไรอยู่"

แต่สำหรับแนวคิดของ "บริษัท ประชารัฐฯ" ซึ่งใช้ชุมชนเป็นตัวตั้ง เป็นหลักคิดที่ปรากฏอยู่ในผลงานทางฝั่งตะวันออก อาทิ ในงานของ ฉัตรทิพย์ นาคสุภา, ศ.นายแพทย์ประเวศ วะสี และนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับหลักทฤษฎีใหม่

"หากเราถอดรากไปถึงขบวนการขยับในเชิงของสังคม หลักการวิธีการต่างๆ เหล่านี้เป็น กระบวนการที่ช่วยลดแรงกระแทกของทุนนิยมที่เข้ามากระแทกสังคมไทย เพราะชุมชนยังคงเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอยู่ อาทิ ที่ดิน และแรงงานที่ยังคงอยู่กับชุมชน แม้ว่าจะมีโรงงานอยู่ใกล้ๆ แต่ทุนที่ดิน ทุนทางวัฒนธรรมยังคงอยู่กับชุมชน เรามิได้ใช้ธุรกิจเป็นตัวนำแต่เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ลงไปสร้างสัมมาชีพให้เกิดขึ้นเต็มพื้นที่ วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ถูกออกแบบมาเพื่อทำฟังก์ชันนี้ ทำให้ชุมชนลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของร่วม มีพื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างภูมิคุ้มกันจากวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่มากระแทก" นายอนุรักษ์ กล่าวย้ำและว่า

"นี่คือทฤษฎีใหม่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่ยกระดับเข้าสู่ทฤษฎีขั้นที่ 3 ว่าด้วยการจัดการผลิตของชุมชนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เป็นทฤษฎีใหม่ จากโมเดลนี้ เชื่อว่า สักวันหนึ่งจะได้ยกระดับของภาคส่วนนี้ให้ชัดเจนเพื่อนำไปเสนอในเวทีโลกได้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559