ลูกจ้างสนง.ปราบปรามทุจริตกว่า100เคว้ง หลังปลดแอกจากกระทรวงยุติธรรม

24 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
ความคืบหน้าของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ภายหลังจากริเริ่มผลักดันตนเองให้พ้นจากกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กลายเป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยเสนอร่างกฎหมาย ป.ป.ท. และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นชอบ และประกาศเป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายเดือนเมษายน 2559 และมีผลบังคับใช้แล้ว

รายงานข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ท. ระบุว่า หลังการปฏิรูปองค์กรตามกฎหมายดังกล่าว ได้เกิดปัญหาการบริหารบุคคล ในส่วนของการจ้างลูกจ้างชั่วคราวทั่วประเทศกว่าร้อยคนกลายเป็นผู้ที่มีสภาพการจ้างงานที่ไม่แน่นอน จากเดิมที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว โดยอาศัยเงินเดือนจากเงินดอกเบี้ยอันเกิดจากเงินกลางของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณมาโดยตลอด เมื่อสำนักงาน ป.ป.ท.แยกตัวออกจากกระทรวงยุติธรรม ทำให้ต้นสังกัดเดิมยุติการจ่ายเงินเดือน รวมทั้งหยุดการเบิกจ่ายเงินโครงการบางโครงการที่ได้เคยอนุมัติให้แก่สำนักงาน ป.ป.ท. ที่จะเบิกจ่ายจากแหล่งเงินดังกล่าวในงวดต่อไป โดยมีผลตั้งแต่กฎหมายแยกตัวของ ป.ป.ท. มีผลบังคับใช้

ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ท.ได้พยายามเจรจาต่อรองกับทางกระทรวงยุติธรรมหลายครั้ง ให้จ่ายเงินเดือนจากดอกเบี้ยเงินกลางแก่ลูกจ้างไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีงบประมาณ แต่ไม่เป็นผล เพราะกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า ไม่มีระเบียบรองรับให้จ่ายเงินได้อีกต่อไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหมด สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างชั่วคราวโดยรับเงินเดือนจากดอกเบี้ยเงินกลางโดยอัตโนมัติ และแปรสภาพเป็นแรงงานจ้างเหมารายวัน มีรายงานว่า ในช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ท.จ่ายเงินเดือนลูกจ้างงวดเดือนพฤษภาคมล่าช้าไปนานนับสัปดาห์ เพราะอยู่ระหว่างการหาแหล่งเงินมาจ่ายให้ ส่งผลให้ลูกจ้างบางส่วนระบายความคับข้องใจต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. และผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม ถึงปัญหาการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยขาดการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า และคณะกรรมการ ป.ป.ท. จึงได้เรียกผู้บริหารของสำนักงานไปตำหนิ ส่งผลให้นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท.กล่าวในที่ประชุมผู้บริหารของสำนักงานแสดงความไม่พอใจการกระทำของลูกจ้างหลายรายว่า เป็นการขยายผลเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่

รายงานระบุว่า สำนักงาน ป.ป.ท. กำลังเร่งหาแหล่งเงินเป็นคราวๆ เพื่อจ่ายค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างเหล่านี้ แต่เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบประมาณแผ่นดินรองรับไว้แต่เนิ่นๆ รวมทั้งไม่ได้ทำคำของบประมาณ ปี 2560 สำหรับลูกจ้างเอาไว้ จึงต้องใช้วิธีการปรับแผนหรือแปลงงบของสำนักงานจากรายการอื่นมาใช้จ่ายไปก่อน แต่วิธีนี้จะมีระยะเวลาในการดำเนินการ เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณด้วย ยิ่งทำให้ลูกจ้างเกิดความสับสนในสภาพการจ้างของตนเอง เนื่องจากต้องเซ็นสัญญารับจ้างรายวันเป็นแต่ละเดือนไป และต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมด้วยตนเอง แทนการหักเงินนำส่งผ่านหน่วยงานซึ่งเคยทำมาแต่เดิม บางรายที่ไม่สามารถยอมรับสภาพได้ ก็เลือกการลาออก หรือไปหาสมัครงานใหม่ และบางรายเตรียมเดินทางไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานไว้ด้วย

จากข้อมูลล่าสุดรายงานประจำปี 2557 สำนักงาน ป.ป.ท. ระบุว่า อัตรากำลังลูกจ้างชั่วคราว (ตำแหน่งที่มีคนครอง) มีจำนวน 154 อัตราทั้งในส่วนกลางและเขตพื้นที่ทั่วประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559