จับตาเปิด‘ศูนย์ปราบโกงฯ’นปช. เกมยั่วตบะคสช.

21 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
นับถอยหลังสู่วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน ของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. ที่นัดหมายเครือข่ายเปิด"ศูนย์ต้านโกงประชามติ"พร้อมกันทั่วประเทศ ยิ่งเงื่อนเวลาบีบรัดงวดลงเพียงใด อุณหภูมิการเมืองยิ่งร้อนแรงขึ้นเพียงนั้น

จากวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ที่จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. และแกนนำพร้อมหน้า แถลงเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติในส่วนกลางขึ้น ที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว ก็เริ่มจุดกระแสวัดกำลังและแรงเสียดทานจากรัฐบาลและคสช.ในทันที

โดยก่อนเปิดเวทีมีตำรวจท้องที่และทหารเข้าประกบขอให้ยุติการดำเนินการ แต่จตุพรยืนยันเดินหน้า อ้างการให้สัมภาษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ก่อนหน้า ว่าการตั้งศูนย์ปราบโกงฯไม่ผิดกฎหมาย เป็นไฟเขียวให้ดำเนินการได้ และย้อนว่าหากเจ้าหน้าที่สกัดผลเสียจะเกิดกับตัวนายกฯเสียเอง พร้อมนัดหมายเครือข่ายให้เปิดศูนย์ทุกจังหวัดในอีก 2 สัปดาห์ต่อมาดังกล่าว

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลและคสช.จากนั้นจึงปรากฏชัดและแข็งกร้าวตามมาทันที ไม่ว่าจะเป็น"บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช. ที่ตอบเสียงเข้มว่า ถ้าผิดกฎหมายต้องโดนทันที
หรือจาก"บิ๊กป้อม"พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง ที่ระบุชัด "เปิดไม่ได้" เพราะมีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกกต. ป.ป.ช. ตำรวจ ทหาร หากเจอเหตุทุจริตก็ให้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ

แม้การตั้ง"ศูนย์ปราบโกงฯ" จะไม่ผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินการดังกล่าวอาจเข้าข่ายความผิดของกฎหมายอื่น เช่น ขัดคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 เรื่องห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง และชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรือผิดข้อตกลงที่เคยลงนามไว้หลังถูกเรียกตัวเข้าปรับทัศนคติ ว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอีก

สัญญาณ"ไฟแดง"เปิดโร่ดังกล่าวของคสช. กำลังถูกท้าทายและทดสอบกระจายไปหลายพื้นที่ กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่ร้านถ่ายเอกสารศรีชุมชิวของ"เจ๊เพ็ญ" ธิมลวรรณ จินากูล ที่แขวนป้ายไวนิล"ประชามติต้องไม่ล้ม" ไม่กี่ชั่วโมงถัดมาทั้งทหารตำรวจและฝ่ายปกครองรุดปลดป้ายและสั่งสอบหาที่มา

หรือ"ปัณณวัฒน์ นาคมูล" ประธานนปช.อุตรดิตถ์ ร่วมกับนปช.ภาคเหนือราว 20 คน แถลงยืนยันเดินหน้าเปิดศูนย์ปราบโกงฯ อ้างไม่เกี่ยวกับการเมือง และพร้อมให้ฝ่ายความมั่นคงเข้าตรวจสอบนั้น พ.อ.ประสิทธิ์ มีสอาด รองผอ.รมน.จังหวัดอุตรดิตถ์ ย้ำเสียงเข้ม นโยบายคสช.ห้ามไม่ให้เปิดศูนย์เด็ดขาด นปช.อุตรดิตถ์ต้องยกเลิกศูนย์นี้ทันที หากยืนยันเปิดต่อไปจะใช้มาตรการทางกฎหมายเข้าดำเนินการ

ด้านด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำนปช.แดงเชียงใหม่ ผู้ประสานงานนปช. 17 จังหวัดภาคเหนือ เผย ยกเลิกการเปิดศูนย์แล้ว เนื่องจากได้รับการขอร้องจากผู้ใหญ่ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และติดขัดข้อกฎหมาย และคนที่เกี่ยวข้องถูกกดดัน "แต่จะยังตรวจสอบการทุจริตลงประชามติเหมือนเดิมโดยใช้เครือข่ายอาสาสมัครคนเสื้อแดง 25 อำเภอ ประสานเครือข่ายระดับตำบล-หมู่บ้านกว่า 1 พันคน แจ้งข้อมูลและเบาะแสทุจริตผ่านระบบโซเชียลมีเดียแทน

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ยังไม่วางใจและเฝ้าจับตาใกล้ชิดว่า วันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายนที่นปช.นัดหมายผุดศูนย์ฯ ทั่วประเทศ จะยังเดินหน้าต่อหรือไม่ โดยพล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ์ ผบช.ภ.4 กำกับดูแลพื้นที่ 12 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เผย ยังไม่พบความเคลื่อนไหวการตั้งศูนย์ฯของนปช. แต่หากมีได้ประสานเจ้าหน้าที่ในสังกัดทุกจังหวัด ให้เข้าพูดคุยทำความเข้าใจและให้ปิด เพราะไม่อยากให้เกิดความขัดแย้ง เบื้องต้นแกนนำทุกระดับยืนยันไม่มีแผนเปิดศูนย์ดังกล่าว

ด้านพล.ต.ท.ทวิชชาติ พละศักดิ์ ผบช.ภ.3 กำกับดูแล 8 จังหวัดอีสานใต้ เผย มีเป็นเพียงกระแสข่าวที่ยังไม่ชัดเจน หากจัดตั้งจริงก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย เช่นเดียวกับพื้นที่ 8 จังหวัดภาคตะวันออก พล.ต.ท.ธเนตร์ พิณเมืองงาม ผบช.ภ.2 ที่ยังไม่พบความเคลื่อนไหวใดในพื้นที่เช่นกัน

ประสานกับเกมยั่วให้จับของนปช.จากแผนเปิดศูนย์ฯดังกล่าว ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน 17 แกนนำเพื่อไทย อาทิ นายโภคิน พลกุล, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา, นายวัฒนา เมืองสุข, นายชัยเกษม นิติสิริ นัดหมายกันโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของแต่ละคน ประกอบภาพอินโฟกราฟิก ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรธน.ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เพื่อยืนยันสิทธิในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และอยู่ในกรอบกฎหมายไม่ใช่เชิงปลุกระดม

กรณีดังกล่าวนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ชี้ว่า ถ้าเป็นการกระทำโดยตัวบุคคลถือว่าไม่ผิด แต่ถ้าทำในนามพรรคการเมือง เช่น มีสัญลักษณ์ของพรรค หรือพิสูจน์ได้ว่าดำเนินการโดยพรรค เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่จะต้องพิจารณาว่าเข้าข่ายผิดคำสั่งหรือประกาศคสช. ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งมีโทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรคการเมืองได้

ผสมโรงด้วยการนัดหมายของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่นัดหมายกันไปรวมตัวหน้าที่ทำการกกต. ศูนย์ราชการ ในกิจกรรมเปิดคอนเสิร์ตประชามติ เพื่อตอบโต้ที่กกต.ขู่จะดำเนินคดีกรณีมีการเผยแพร่เพลงแหล่แปลงในเนื้อหาโจมตีร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็มีกลุ่มพลเมืองไทยหัวใจเกินร้อย นัดไปแสดงพลังต่อต้านการเคลื่อนไหวของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ จนเกือบเกิดการปะทะกันขึ้น ยิ่งปลุกเร้าบรรยากาศการเมืองมวลชนและการชุมนุมบนท้องถนนของขั้วขัดแย้งขึ้นอีกครั้ง

ห้วงนี้ รัฐบาลและคสช.ต้องบริหารสถานการณ์อย่างเข้มข้น ทั้งป้องกันมิให้เกิดการก่อหวอดมวลชนของขั้วความคิดใดขึ้นมาอีก ขณะเดียวกันก็ต้องบริหารบรรยากาศเพื่อให้ถึงวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นตัวชี้จังหวะก้าวตามโรดแมปถัดจากนี้

ด้านหนึ่งคสช.ขึงขังจะใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด กับความพยายามก่อหวอดกลุ่มพลังมวลชน ในการพยายามตั้งศูนย์ปราบโกงฯของนปช. แต่ในอีกด้านก็ผ่อนกระแสลดเงื่อนไขเท่าที่จะทำได้ เพื่อคลายบรรยากาศลง ไม่ว่าจะเป็นการยอมแก้ไขเนื้อเพลงเชิญชวนไปโหวตประชามติ ที่ถูกนปช.และฝ่ายต้านรัฐประหารตอกลิ่มความขัดแย้งระหว่างภาค

เปลี่ยนสถานที่จัดเวทีชี้แจงร่างรธน. จากเดิมจะตั้งวงในค่ายทหารทั้ง 4 ภาค โดยเริ่มไปแล้วในเขตภาคใต้ โดยยอมเปลี่ยนมาใช้สถานที่อื่นนอกค่ายทหาร และลดแรงกดดันของกระแสมวลชน

หรือคำสั่งหัวหน้าคสช.ล่าสุด เรื่องการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ระบุให้หน่วยงานรัฐจัดบริการการศึกษาฟรี 15 ปี ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ตัดเงื่อนไขข้อกำหนดในร่างรธน.ฉบับมีชัย ที่ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษาฟรี 12 ปี เริ่มตั้งแต่ก่อนประถม จนถึงมัธยมต้น ที่ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวนักเรียนชูประเด็น"ขอมัธยมปลายเรียนฟรี"เหมือนเดิม ซึ่งอาจเป็นเงื่อนไขในการโหวตรับ-ไม่รับร่างรธน.ที่จะถึงนี้ได้

แผนน้ำผึ้งหยดเดียวจะบังเกิดผลหรือไม่ จากนี้ คสช.จะถูกทดสอบ"ตบะ"ไม่หยุดจนถึงวันลงประชามติ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559