ปฏิรูปโครงสร้างค่าจ้างขั้นตํ่า ควรปรับอย่างไร?

17 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
ควันหลงเวทีเสวนาโต๊ะกลม "อนาคตอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแรงงานไทย" ที่ฐานฯรายงานในฉบับที่แล้ว โดยตัวแทนฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง ยังคงเห็นต่าง การพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2559 ที่บอร์ดค่าจ้างฯดำเนินการอยู่ ขณะที่"ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์" นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ และประธานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ มองข้ามช็อตเสนอให้บอร์ดค่าจ้างฯ ศึกษาโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทยใหม่ เนื่องจากใช้มานาน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

[caption id="attachment_62524" align="aligncenter" width="364"] ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์[/caption]

......ผมได้เปรียบที่ว่าไม่ได้เป็นฝ่ายนายจ้าง ไม่ใช่อยู่ข้างลูกจ้าง รวมทั้งไม่ได้เป็นข้าราชการ ไม่ได้เป็นคนกลางด้วย แต่เป็นคนนอกที่มองเข้ามา มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และมีคำตอบให้ในบางเรื่อง

โดยในส่วนข้อเสนอการปรับโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นั้น เรื่องนิยามตามที่ตัวแทนลูกจ้างทักท้วงและผมเห็นด้วย คือ นิยามค่าจ้างขั้นต่ำ จากที่ได้ประมวลมาจากการศึกษาทั่วโลกของไอแอลโอ. หนากว่า 300 หน้า แทบจะไม่มีประเทศไหนเลย ที่เอาค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อตัวแรงงานคนเดียว มันต้องดูแลทั้งครอบครัว รวมทั้งสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้นเรื่องนิยามส่วนนี้น่าจะทบทวน นายจ้างอาจจะไม่พอใจแต่ว่ามาศึกษากันดู

นอกจากนี้ควรจะได้มีการวิจัยกันดู ว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีประโยชน์มีผลกระทบอย่างไร ซึ่งที่จริงก็ได้มีการศึกษากันมาแล้วละว่า ไม่ได้มีผลลบแต่อย่างไร รวมถึงว่าเข้าถึงคนกลุ่มใดอย่างไรกันบ้าง จะได้รู้ว่ามาตรการที่ออกไป ไม่ได้ทำไปสุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่รู้ว่าปลายทางไปถึงที่ไหน

การบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำมีความเชื่อมโยงกับโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำ คำว่าโครงสร้างค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมิใช่เพียงว่า ที่ไหนค่าจ้างเท่าไหร่ แต่รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำด้วย โดยกรณีของสหรัฐอเมริกาการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทำให้สภา มีทั้งระดับเฟเดอรัล(สหรัฐฯ) สเตต (รัฐ) และซิตี เคาน์ซิล (สภาเมือง) หรือเทียบกับของเราคือลงไปใช้ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.),องค์การบริการส่วนจังหวัด ( อบจ.)กันเลย จะลดความสำคัญของไตรภาคีลงไป จากเดิมที่สหภาพแรงงานจะเป็นฝ่ายบอกว่าจะเอาเท่าไหร่ แต่หลังยุคประธานาธิบดีเรแกนมา สหภาพแรงงานมีบทบาทน้อยลงเหลือไม่ถึง 30% ถ้าเราไม่มีตัวแทนของลูกจ้าง ก็ต้องลองมาศึกษาหาแนวทางกันดู อันนี้เสนอเพื่อศึกษามาวิจัยกันว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

ที่สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างควรศึกษาคือ จะทำอย่างไรในการทบทวนโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้าง ที่ทำให้วิน-วิน คือนายจ้างก็ได้ ลูกจ้างก็ได้ เหมือนกับว่าเราทำกันแบบทำอย่างไรก็ต่อไปเรื่อยๆ ควรจะทบทวนกันได้แล้ว ซึ่งเรื่องโครงสร้างการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผมเคยศึกษาใกล้กระทรวงแรงงานผ่านมาแล้ว 11 ปี จึงถึงเวลาที่จะต้องทบทวนได้แล้ว

เรื่องค่าจ้างรายจังหวัด อย่าเอาตัว CPI (ดัชนีผู้บริโภค) มาใช้เป็นตัวแปรกำหนดโดยไม่ได้ทบทวนความถูกต้องของมันเสียก่อน

เรื่องของโครงสร้างควรต้องไปทบทวนดูว่า นอกจากเป็นรายจังหวัดแล้ว ควรจะเป็นรายอุตสาหกรรมหรือไม่ เป็นรายอาชีพหรือกิจกรรมที่ทำหรือไม่ อย่างตอนขึ้นเป็นวันละ 300 บาท เรามีปัญหากรณีแรงงานในอุตสาหกรรมโรงแรม-ภัตตาคาร คือนายจ้างให้ 300 บาทจริง แต่ไปหักมาจากทิป แต่ในโครงสร้างขั้นต่ำต้องกำหนดไว้ให้ชัดเจน ว่าทิป เวิร์กเกอร์ (แรงงานมีค่าทิป) ค่าจ้างขั้นต่ำระดับหนึ่ง หรือเมื่อรวมเงินทิปแล้วไม่ควรต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องมีเงื่อนไขระบุไว้ชัดเจนให้ต้องมานั่งตีความกันว่า รวมค่าทิปหรือไม่รวม

จะแยกตามขนาดสถานประกอบการไหม บ้านเราอาจดูเอสเอ็มอี แต่ความจริงควรจะดูกลุ่ม MSE คือ Micro and Small Entreprise คือกิจการขนาดจิ๋วถึงเล็ก เพราะถ้าใช้SMEs กิจการขนาดกลางบ้านเรา ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ลูกจ้าง 200 คนขึ้นไป กิจการขนาดนี้ไม่น่าจะต้องมารับการคุ้มครองตรงนี้ โดยผลการศึกษาจากต่างประเทศมี 2 ทาง อันหนึ่งคือ ใช้คนละอัตรากัน หรือไม่บังคับใช้กับเอสเอ็มอี และ 2 ภาครัฐอุดหนุนให้เอสเอ็มอีโดยกรณีสหรัฐอเมริกาใช้แท็กซ์คัต(ลดภาษี)ให้ เป็นทางออกอันหนึ่ง

บางแห่งระบุแบ่งตามอายุด้วย เช่น ถ้าอายุไม่ถึง 20 ปี ยังไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ วัตถุประสงค์เขาคือต้องการส่งเสริมให้จ้างเด็กเข้ามาช่วยทำงาน สำหรับพนักงานฝึกงาน 90 วันแรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้องเป็นค่าจ้างตามฝีมือแรงงาน ผู้สูงอายุต้องมีการกำหนด

กรณีแรงงานต่างด้าว มีคำถามที่ต้องพิจารณาว่า ว่าจะบังคับใช้หรือไม่ บังคับใช้ให้เท่ากันหรือไม่ และมีทางออกหรือการแก้ไขอย่างไรหรือไม่

แรงงานทดลองงานไม่บังคับใช้ ถือว่าต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำได้ แรงงานจ้างงานไม่เกิน 1 ปี บางแห่งบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานไม่เกิน 1 ปีเท่านั้น

วิธีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหลายอัตรา(มัลติเพิล มินิมัม เวจ) ทั้งหลายที่กล่าวไปแล้วนี้ จะใช้แบบสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นก็ได้ กรณีญี่ปุ่นใช้ อบต. , อบจ. เป็นผู้กำหนด ไม่ใช่จากส่วนกลางอย่างเดียว

ส่วนการปรับอัตโนมัติ(Automatic Adjustment) จะเอาไหม ก็ไปศึกษาดู หลายๆ แห่ง เช่น กรณีสหรัฐฯ จะดูจาก CPI มี Inflation Indexing ด้วย คือถ้ามีกรณีอัตราเงินเฟ้อสูงต้องปรับขึ้นให้ทันที เป็นกลไกภายใน

อันที่ 3 อันไหนที่จะกำหนดให้เป็นการต่อรองเป็นการเฉพาะเลยไหม กำหนดไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน
กรณีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา จะกำหนดไว้เลยบางแห่ง 3 ปี บางแห่ง 5 ปี มีบัญชีการปรับประกาศไว้ก่อนชัดเจนเลย ว่าปีนี้เท่าไหร่ ปีถัดๆ ไปปรับเป็นเท่าไหร่ ให้รู้กันล่วงหน้าไว้เลย ส่วนถ้าจะเปลี่ยนฉุกเฉินต้องไปออกเป็นพระราชกฤษฎีกากัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559