จับสัญญาณ'มวลชนสีเสื้อ'จุดชนวนการเมืองท้าอำนาจ'บิ๊กตู่'

15 มิ.ย. 2559 | 05:00 น.
โรดแมปสู่การเลือกตั้ง ที่แกนนำคสช. ประกาศย้ำเสียงแข็งมาตลอดว่า ยังไงก็จะอยู่ในกรอบปี 2560 นี้แน่ ๆ นั้น ออกอาการไม่แน่นอนเสียแล้ว เมื่อล่าสุดผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ แม้บรรดานักกฎหมายใหญ่จะเรียงหน้าชี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด ก็ไม่กระทบให้การทำประชามติต้องล้มเลิกไป เพราะเป็นคำที่มิใช่สาระสำคัญจนผูกกับกฎหมายทั้งฉบับ มีผลแค่เฉพาะคำนั้น ๆ ที่เสียไป แต่กระแสความวิตกกังวลยังแผ่ลามไปทั่ว

"บิ๊กตู่"พลิกเกม

ความหวั่นไหวคงไม่มาก หากแกนนำคสช.จะยืนยันปักธงแข็งขันเหมือนเดิมว่า มีสูตรเตรียมไว้พร้อมแล้ว เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใหม่และการเลือกตั้งภายในปี 2560 อย่างที่เคยตอกย้ำมาตลอด รวมทั้งบนเวทีระหว่างประเทศ อาทิ การประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ยืนยันกรอบโรดแมปว่าจะจัดการเลือกตั้งได้ภายในปี 2560

หลังจากมีความสั่นไหวขึ้นเมื่อร่างรธน.ฉบับอ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ถูกโหวตคว่ำ พร้อมกับมีการตั้งกรรมการร่างรธน.ที่มี"มีชัย ฤชุพันธุ์" เป็นหัวหน้าทีมมายกร่างใหม่ และผลักดันจนผ่านจากร่างเบื้องบนจนได้สรุปสุดท้ายเป็นร่างถาวร ที่จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติถามความเห็นประชาชน ในวันที่ 7 สิงหาคมที่จะถึงนี้ แม้จะถูกกระทุ้งถามเป็นระยะว่า หากร่างรธน.ไม่ผ่านประชามติ จะมีทางออกอย่างไร เนื่องจากในรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังไม่เขียนเส้นทางเดินนี้รองรับไว้ ขณะที่แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) พยายามดักคอ ว่าการโหวตครั้งนี้เพื่อเลือกว่าจะเอา-ไม่เอาคสช. รวมทั้งชูคำขวัญ "ห้ามล้มประชามติ" โดยมีแนววิเคราะห์ว่า คสช.จะเดินเกมคว่ำอีกรอบเพื่อคุมเกมยาว และแกนนำคสช.ย้ำยึดโรดแมปที่ประกาศดังกล่าว

หากแต่กลางสัปดาห์ที่แล้ว "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวบนเวทีสากลการประชุมสมาชิกกลุ่ม 77 ที่ไทยเป็นประธาน ชี้ยังมีการเคลื่อนไหวสร้างความขัดแย้ง ก่อนย้ำ"บอกตรงนี้ ถ้าไม่สงบไม่เรียบร้อยก็ไม่ไป" และวันรุ่งขึ้นให้สัมภาษณ์นักข่าวที่ทำเนียบ เรื่องพ.ร.บ.ประชามติฯขัดรัฐธรรมนูญ ว่า "ถ้าไปฟ้องแล้วศาลตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเลื่อนการทำประชามติออกไป" ถ้าไม่ผิดก็ทำต่อ
เป็นท่าทีใหม่ที่เปิดทางให้คสช.ขยับกรอบการทำประชามติร่างรธน.ออกไป จะยาวจนพ้นปี 2560 ไปหรือไม่ยังต้องจับตา แต่จากนาทีนี้สุมอุณหภูมิการเมืองให้ระอุแล้ว

"แดง"ตั้งศูนย์ปราบโกงก่อหวอดมวลชน

ไม่เพียงการยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยม.61 วรรค 2 ของพ.ร.บ.ประชามติร่างรธน. ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่จะเป็นปัจจัยเขย่าการเมืองช่วงใกล้นี้แล้ว การขยับจัดทัพของแกนนำขั้วการเมืองทั้ง"แดง-เหลือง" ประชันเมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้ก่อหวอดการเมืองมวลชนขึ้นอีกครั้ง หลังจากสงบนิ่งมาตั้งแต่คสช.นำทหารเข้าควบคุมอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ด้านหนึ่ง"จตุพร พรหมพันธุ์" ประธานนปช. พร้อมแกนนำ อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.พ.เหวง-ธิดา โตจิราการ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตรัฐมนตรีทรัพยากรฯ ร่วมกันแถลงที่ห้างอิมพีเรียล เวิลด์ ลาดพร้าว จัดตั้ง"ศูนย์ปราบโกงประชามติ" ขึ้น นัดหมายให้วันที่ 20 มิถุนายนนี้ จะเปิดศูนย์พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าจับตาการทำประชามติ หากพบการทุจริตจะแจ้งกกต. และจะขอกกต.ให้ส่งอาสาสมัครของศูนย์ไปสังเกตการณ์ที่หน่วยออกเสียงประชามติทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ ก่อนเปิดศูนย์ตำรวจท้องที่เข้าพูดคุยกับนายจตุพร ขอให้ยกเลิกการจัดแถลงข่าว โดยอ้างผู้บังคับบัญชาขอความร่วมมือมา แต่นายจตุพรโต้กลับ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์อนุญาตให้เปิดศูนย์ได้ด้วยตนเอง ใครมาห้ามเปิดศูนย์เท่ากับขัดคำสั่งพล.อ.ประยุทธ์

ด้านพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกและโฆษกคสช.ติงว่า สังคมเข้าใจว่านปช.เหมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ภาพที่ออกมาทำให้สังคมสับสนว่าเป็นการขับเคลื่อนทางการเมืองหรือไม่ ทั้งที่มีหน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบเรื่องการแจ้งเบาะแสการโกงอยู่แล้ว หากประชาชนเห็นพฤติกรรมใด ๆ สามารถร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสได้ตามระบบช่องทางที่กำหนดไว้

ถูกเบรกต่อเนื่อง ทั้งจาก "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รวมถึงทีมโฆษกที่แท็กทีมประสานเสียงออกโรงฉะแนวคิดตั้งศูนย์ปราบโกงดังกล่าว

ต้องจับตาว่า ก่อนถึงวันที่ 20 มิถุนายนที่นปช.นัดหมายเปิดศูนย์ต้านโกงฯทั่วประเทศนั้น คสช.จะมีท่าทีเข้มข้นต่อไปอย่างไร

อดีต"เหลือง"ตั้งสปป.ปลุกปฏิรูป

วันและเวลาเดียวกันที่โรงแรมสุโกศล สถาบันปฏิรูปประเทศไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดประชุมวิชาการ"การจัดทำแผนรณรงค์ และข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปประเทศไทย" โดยมีตัวแทนนักวิชาการสถาบันต่าง ๆ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ผู้แทนภาคประชาสังคมต่าง ๆ เข้าร่วม

ทั้งนี้ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา และอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เสนอจัดตั้งสมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(สปป.) มาอาสาเป็นสถาปนิกและวิศวกร เพื่อร่วมกันออกแบบสร้างสรรค์หาทางออกของประเทศให้ออกมาดีที่สุด โดยไม่ต้องไปแสวงหาความปรองดองใดๆ

ในวงเสวนามีการเสนอผลักดันการปฏิรูปประเทศ จากเดิมที่สถาบันปฏิรูปประเทศไทยรวบรวม 11 ด้าน มีการเสนอเพิ่มเติมรวมเป็น 18 ด้าน โดยมีการตั้งคณะทำงานปฏิรูปแต่ละด้านขึ้น เพื่อไปลงพื้นที่ประมวลความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสรุปเสนอประเด็นปฏิรูปในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป เนื่องจากกระบวนการปฏิรูปโดยภาครัฐ ขาดจุดเชื่อมต่อและรับฟังความต้องการของประชาชน

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้"ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นประธาน สปป. มีสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย(สปท. ) เป็นเลขาธิการสปป.

"สุริยะใส"เป็นอดีตผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ที่ลุกขึ้นสู้กับรัฐบาลทักษิณเป็นกลุ่มแรก ๆ โดยชู"เสื้อเหลือง"เป็นสัญลักษณ์การรวมพล ต่อมาตั้งเป็นพรรคการเมืองใหม่ สุริยะใส เป็นเลขาธิการ ก่อนจะเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยสปท.มีเครือข่ายภาคประชาชนด้านการพัฒนาส่วนหนึ่ง ที่ร่วมในขบวนกปปส.ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับดร.อาทิตย์ที่สนับสนุนกปปส.ในการรวมพลค้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย กระทั่งหลังคสช.ควบคุมอำนาจ ล่าสุดดร.อาทิตย์ออกโรงโพสต์ตำหนิการซื้อขายตำแหน่งของตำรวจจนถูกดำเนินคดี ก่อนจะมาเปิดหน้าตั้งสปป.เพื่อผลักดันการปฏิรูปให้เกิดผลโดยไม่รอสปท.

โดยสปป.เริ่ม"คิกออฟ"นัดหมายจัดเวทีสปป.ครั้งที่ 1 วันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ เริ่มเคลื่อนอีกขบวนแล้ว

จับตา"ธรรมกาย"กรุ่น"การเมืองมวลชน"

การเมืองมวลชนของกลุ่มเสื้อสีเริ่มก่อตัว ซึ่งต้องตามดูกันว่าจะก่อหวอด ขยายมวลชนระดมพลได้กว้างขวางอย่างครั้งอดีตขึ้นมาเผชิญหน้ากันอีกหรือไม่ แต่นอกจากกลุ่มขั้วเสื้อสีที่ขัดแย้งกันแล้ว เวลานี้ยังต้องจับตา"มวลชนเสื้อขาว"ในนามคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย อาจเป็นชนวนจุดระเบิดขึ้นมาเขย่าการเมืองก่อนที่อื่นก็เป็นได้

จากคดีฉ้อโกงที่นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ที่สร้างความเสียหายแก่สมาชิกนับหมื่นล้านบาท มีการขยายผลจนดีเอสไอแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน สมคบกันฟอกเงิน และรับของโจร แก่พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่ยังยื้อคดีไม่ยอมเข้ารับทราบคดีจากเจ้าพนักงานสอบสวน โดยอ้างเหตุอาพาธหนักไม่สามารถออกจากบริเวณวัดได้

กระทั่งดีเอสไอต้องเพิ่มระดับจากหมายเรียกเป็นหมายจับ ต่อด้วยหมายค้นเพื่อเตรียมเข้าค้นควบคุมตัวจากวัดพระธรรมกาย แต่คณะศิษย์ยื้อทุกช่องทาง พร้อมกับดัดแปลงสภาพวัดเป็นค่ายคู ทั้งนำรถแบ็กโฮปิดกั้นประตูทางเข้า จัดเวรยามตรวจตรา ขึงรั้วลวดหนามหีบเพลง ติดตั้งโทรทัศน์วงจรปิด และปล่อยบัลลูนสังเกตการณ์ ส่งสัญญาณปกป้องเจ้าอาวาสจากเจ้าหน้าที่รัฐเต็มที่ พร้อมระดมคณะศิษย์และผู้ศรัทธา ทั้งพระสงค์และฆราวาสแต่งขาว เข้าในวัดพระธรรมกายขนานใหญ่ จนน่าหวั่นเกรงว่าหากเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้น อาจเกิดเหตุชุลมุนและอาจกลายเป็นความรุนแรงได้

การเตรียมพร้อมของวัดพระธรรมกาย ต่อต้านการดำเนินการตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับออกปากเตือน ระวังจะซ้ำรอยเหตุการณ์ปี 2553 ที่มีกองกำลังยึดพื้นที่สวนลุมฯ ล่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเพื่อเปิดปฏิบัติการใช้ความรุนแรงจนเกิดความเสียหาย ก่อนจะย้ำ" ยังไงก็จับได้แน่พระธัมมชโย ภายในชาตินี้" ส่งสัญญาณให้ระมัดระวัง อย่าถลำให้เกิดเงื่อนไขปลุกมวลชนมาก่อเหตุรุนแรง

พร้อมกับที่อดีตการ์ดคนเสื้อแดงแฉกันเองว่า แฝงตัวเข้าไปอยู่ในวัดพระธรรมกาย เพื่อเตรียมรับมือการบุกเข้ามาของเจ้าหน้าที่ จนคณะศิษย์วัดพระธรรมกายต้องรีบเคลียร์ออก พร้อมปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่อย่างไรก็ตามหมอเหวงเคยให้สัมภาษณ์ว่า วัดพระธรรมกายตกเป็นพันธมิตรของคนเสื้อแดง

ขณะที่เงื่อนเวลายิ่งวันยิ่งบีบรัด ให้ดีเอสไอต้องดำเนินการเพื่อให้คดีเดินหน้า ขณะที่วัดพระธรรมกายยังคงปักหลักปกป้องเจ้าอาวาส ทดสอบกระแสศรัทธาของสังคมว่าจะเทน้ำหนักไปทางไหน โดยพระธัมมชโยถึงทางตันเมื่อตัดสินใจคัดง้างกับกฎหมาย

กลายเป็นจุดเสี่ยงน้ำผึ้งหยดเดียว จุดชนวนการเมืองมวลชนรอบใหม่ใต้อำนาจคสช.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,165 วันที่ 12 - 15 มิถุนายน พ.ศ. 2559