เปิดบริษัทประชารัฐรักสามัคคี นวัตกรรมแห่งการปฏิรูปสังคมไทย

12 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
เพิ่งย้ายเข้าบ้านใหม่ ภายใต้ชายคา "สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)" หรือ พอช. ภาคีเครือข่ายสำคัญทางยุทธศาสตร์ของ มูลนิธิสัมมาชีพ " ดร.อนุรักษ์ เรืองรอบ" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจฐานรากและสัมมาชีพชุมชน พอช. หรือ "ดร.จ๋อง"เปิดใจให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด โฮลดิ้ง ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมไทย

ดร.อนุรักษ์ เริ่มฉายภาพแนวคิดที่เขายกให้เป็น "นวัตกรรมครั้งแรกของโลก" ให้ฟังว่า การจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯว่า เป็นลักษณะ Social Enterprise (SE) หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง กระบวนการก็คือจัดตั้งในลักษณะที่มีทั้งภาคธุรกิจ หน่วยงานรัฐอย่างกระทรวงมหาดไทยและภาคประชาสังคม มาจับมือกันเป็นภาคีตั้งบริษัท ประชารัฐฯ ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จะจัดตั้งให้ครบภายในสิ้นปีนี้ โดยมีการไประดมทุนจากภาคเอกชนมาผลักดันให้เกิดขึ้น แล้วบริษัทก็จะไปขับเคลื่อนในเรื่องต่างๆใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง เบื้องต้นแบ่งเป็น 4-5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย 1.เกษตรอินทรีย์ 2.แปรรูปประมงชายฝั่ง 3.ร้านค้าชุมชน 4.ท่องเที่ยวโดยชุมชน และ5.ช่างชุมชน

บริษัท ประชารัฐฯเป็นบริษัทจำกัด โดยหน่วยงานรัฐไม่สามารถมาบริหารได้ ต้องบริหารในรูปของคณะกรรมการประชารัฐ ช่วงแรกอาจให้คนจากฝ่ายภาคประชาสังคมมาบริหารก่อน คือแม้ภาครัฐไปทำธุรกิจไม่ได้ แต่กลไกรัฐมันทำธุรกิจได้ ตรงไหนจำเป็นต้องไปต่อเชื่อมตลาดให้ชุมชน บริษัทนี้ก็ทำได้หมด เพราะมันเป็นรูปแบบบริษัทที่ไม่ได้หวังผลกำไร มองในเชิงสังคมมันคือแพลตฟอร์มที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ชุมชน ก่อกำเนิดเป็นโมเดลจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ นำร่องใน 5 จังหวัด คือ ภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี บุรีรัมย์ และเชียงใหม่ ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ จังหวัดไปเรียบร้อย

หลักการสำคัญของบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ คือ จะไม่มีการปันผล ลงเงินมาแล้วลงเลย บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ในจังหวัดใดทำแล้วมีกำไร กำไรนั้นจะนำกลับไปลงทุนใหม่ต่อไป 100 % เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถถอนหุ้นได้จนกว่าบริษัทจะเลิกกิจการ เดินหน้าทำงานต่อเนื่องต่อไป 7 ชั่วโคตร
สำหรับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ดร.จ๋อง บอกว่า หากมองในมุมของการขับเคลื่อนทางสังคม เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า Social Platform เป็นการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน เพียงแต่เป็นการทำงานในเชิงของการประกอบการเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจ

โดยตั้งเป้าภายในปีงบประมาณนี้ จะเร่งดำเนินการจัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคี ให้ได้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัดตามฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย โดยจะเริ่มดำเนินการใน 6 จังหวัด ประกอบด้วย ชุมพร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สระแก้ว น่าน พิษณุโลก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ต่อด้วยอีก 7 จังหวัดที่เหลือ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนกันยายน 2559 นี้

แนวคิดการทำบริษัท ประชารัฐสามัคคีฯ ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นกลไกที่จะเข้ามาเติมเต็มในเชิงธุรกิจที่จะเชื่อมต่อในกระบวนการคลี่คลายจุดอ่อนของชุมชน ในเรื่องของการประกอบการเชิงพาณิชย์ และการตลาด เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ทำงานร่วมกัน เพื่อขยับระบบเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง บริษัทประชารัฐรักสามัคคี เอกชนจะเป็นผู้ถือหุ้น โดยเบื้องต้นเพื่อให้บริษัทดังกล่าวขับเคลื่อนไปได้ นายฐาปน สิริวัฒนภักดี หัวหน้าทีมภาคเอกชน ในคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ จะลงหุ้นประเดิมให้ก่อนจังหวัดละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ได้ 25 % ตามเงื่อนไขการจัดตั้งบริษัท จากนั้นชุมชนจะไประดมทุนกันมา ชาวบ้านหนึ่งตำบลอาจใส่กันมาสักหนึ่งพันบาทก็ได้ เพื่อให้มีลักษณะความเป็นเจ้าของบริษัท รูปแบบบริษัทประชารัฐ ประชาชนจะได้ทุกอย่างที่ไม่ใช่เงินปันผล เช่น ได้บริษัทประชารัฐมาช่วยทำตลาด และซื้อขายสินค้า เป็นต้น

จากสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นหลายฝ่ายกังขาว่า ทุนใหญ่จะเข้ามาครอบงำได้หรือไม่นั้น ดร.จ๋อง อธิบายว่า โครงสร้างกรรมการบริษัทกำหนดให้ต้องมาจากตัวแทนภาคส่วนต่างๆ คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และภาคธุรกิจ ที่จะมีสิทธิโหวต 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน หรือ มีสัดส่วนถือหุ้นที่ 20% เท่ากัน ไม่ได้ยึดการออกเสียง หรือโหวต จากจำนวนสัดส่วนการถือครองหุ้นแต่อย่างใด

"จุดนี้ถือเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนี้ยังกลับตาลปัตร ออกแบบให้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด มาถือหุ้นแม่ คือ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด จังหวัดละ 1 หุ้นๆละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ใช้แม่ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อน แม่จึงต้องฟังลูก ไม่ใช่ลูกฟังแม่อย่างเดียว ดังนั้น ทั้ง 76 จังหวัดจึงมาถือ 76 หุ้นในบริษัทแม่ ขณะที่อีก 24 หุ้นที่เหลือจะไปหาภาคธุรกิจมาร่วมลงขันต่อไป"

สิ้นปีนี้เราจะมี วิสาหกิจชุมชน 76 จังหวัด บวกกับ 1 บริษัทแม่ (บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด เกิดเป็นขบวนการเรียงร้อยให้เกิดการทำงานแบบประชารัฐ ซึ่งเป็นกลไกที่ยั่งยืน นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปทางสังคม จะมีกลไก 76 องค์กรที่จะเดินหน้าปฏิรูปสังคมขนานใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญมากในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

นี่คือ นวัตกรรมครั้งแรกของสังคมไทยที่ พร้อมนำไปโชว์บนเวทีโลก

‘ไทยเบฟ-ทียูเอฟ-มิตรผล’ มาร่วมกับเรานานแล้ว

เป็นประเด็นร้อนถูกถามถึงตลอดช่วงที่ผ่านมาว่า "บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จังหวัด จำกัด" จะถูกครอบงำโดยกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่นั้น "ดร.จ๋อง" อธิบายว่า

จากหลักคิดของมูลนิธิสัมมาชีพ ที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดสัมมนาชีพเต็มพื้นที่ (ไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม มีรายได้มากกว่ารายจ่าย) เอาพื้นที่ชุมชนเป็นตัวตั้งนั้น ทำกันมาหลายปีแล้ว เรียกได้ว่า ก่อนจะมี คสช.ด้วยซ้ำ โดยภาพที่มูลนิธิสัมมนาชีพออกแบบไว้ นำพลังจากภาคธุรกิจ หรือจิตอาสาทางธุรกิจลงไปเติมให้กับชุมชน ซึ่งมีปัญหาเรื่องการประกอบการในเชิงธุรกิจ และการตลาด เปลี่ยนจากซีเอสอาร์แบบฉาบฉวย หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) เป็นซีเอสอาร์ที่จะลงไปเติมศักยภาพให้กับชุมชน ซึ่งมีภาคีที่สำคัญอย่างน้อย 2 ภาคี คือ 1.พอช. ซึ่งมีมวลชน และมีพื้นที่ และ2.เครือข่ายภาคธุรกิจที่ทำงานร่วมกัน อาทิ สภาหอการค้า สภาอุตสหกรรม เป็นต้น

"เวลานั้นคิดว่าจะทำอย่างไรให้ 2 ภาคีนี้ซื้อยุทธศาสตร์ที่เราคิด จึงได้พา ไทยเบฟ ไทยยูเนี่ยนโฟเซี่ยน (ทียูเอฟ) และมิตรผล ลงไปปฏิบัติการจริงประมาณ 2 ปีกว่า ลงไปดูชุมชน ภายใต้หลักการเอาชุมชนเป็นตัวตั้ง เป้าหมายเพื่อสร้างความยั่นยืนให้เกิดขึ้นในชุมชน ให้วางแผนการผลิต จัดการตนเอง โดยมีภาคธุรกิจลงไปเติมเต็ม อาทิ ลงงบประมาณไปช่วย เพื่อสร้างกิจกรรมให้เกิดเป็นแรงกระแทกในชุมชน ต่อไปยังกลุ่มต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจในตำบลขยับ เกิดกระบวนการ "คลิก" ในชุมชนที่จะส่งผลสะเทือนกับชุมชนข้างๆ เกิดสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ภาคธุรกิจร่วมกับเรามานานแล้ว

ขณะที่ ประชารัฐ เป็นเหมือนกล่องไปรษณีย์ เรานำโปรดักต์มาใส่กล่องไปรษณีย์ เพื่อให้เขาไปเดลิเวอร์ เมื่อเปิดกล่องออกมาแล้วจะพบว่า มันคืองานของเราทั้งหมด เป็นงานที่เกิดขึ้นมา 2 ปีกว่าแล้ว"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,164 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2559