‘บิ๊กตู่’ ติดดาบปราบปรามทุจริตแห่งชาติแก้คุณสมบัติพนักงานไต่สวนเร่งสางคดี

08 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
ในยุครัฐบาล คสช. ยังคงรักษาระดับความเข้มข้นในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (31 พฤษภาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่มอาวุธให้ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) อีกชิ้น โดยมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

จากเหตุผลและความจำเป็นของการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายฉบับนี้ ประการสำคัญ คือ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีปริมาณงานคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่รวมกว่า 13,000 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559) แบ่งเป็น เรื่องที่อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง 10,988 เรื่อง และเรื่องที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงอีก 2,165 คดี

ขณะที่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการหรือเทียบเท่าขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานไต่สวน ตามบทนิยามในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มีเพียง 151 อัตรา แม้จะได้รับการจัดสรรอัตรากำลังเพิ่มเติม แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพนักงานไต่สวนดังกล่าวข้างต้นนั้น ต้องมีระยะเวลาการครองตำแหน่งระดับปฏิบัติการมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 ปี จึงจะถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับปริมาณงานคดีที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี

น่าสนใจว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ข้อเสนอแนะหนึ่งถูกจุดประกายขึ้นบนโต๊ะประชุม ครม.ในวันนั้น โดยเสนอให้ "หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ประกาศเป็นคำสั่งโดยใช้มาตรา 44 แต่ถูกเบรกเอาไว้โดย "นายกรัฐมนตรี" และ "ดร.วิษณุ เครืองาม" มือกฎหมายของรัฐบาล บอก "ไม่ โอเค" เป็นที่มาของการแก้ไขคุณสมบัติของ "พนักงานไต่สวน" ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

โดยสาระสำคัญ คือ แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า "พนักงานไต่สวน" จากเดิมที่แต่งตั้งจาก พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งดำรงตำแหน่งระดับชำนาญการ หรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นแต่งตั้งจากพนักงานเจ้าหน้าที่ในสาขากระบวนการยุติธรรม ต้องเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาระดับเนติบัณฑิต หรือวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่กรณี และต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้กำหนดกรอบระยะเวลาสำหรับอบรมพนักงานไต่สวนไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี

การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และสรุปสำนวนเสนอ คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ต้องกระทำในรูปขององค์คณะพนักงานไต่สวน หรือ ต้องมอบหมายพนักงานไต่สวนไม่น้อยกว่า 2 คนขึ้นไป ให้ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน

การมอบหมายให้พนักงานไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของพนักงานไต่สวนแต่ละลำดับชั้น เทียบกับความยากง่าย และขนาดของสำนวนในแต่ละคดี ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้จัดแบ่งสำนวนคดี ออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย สำนวนคดีขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ

การดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยพนักงานไต่สวนต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามสายบังคับบัญชา และผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทุกคดี

นอกจากนี้ยังแก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจมอบหมายให้ "พนักงานไต่สวน" เป็นผู้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอต่อการไต่สวนข้อเท็จจริง และกำหนดให้พนักงานไต่สวนที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจต่างๆ อาทิ มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

รวมถึงเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำเพื่อประโยชน์แห่งการไต่สวนข้อเท็จจริง ตลอดจนขอให้ศาลออกหมายเพื่อเข้าไปในเคหสถาน สถานที่ทำการ มีหนังสือขอให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานเอกชนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ การไต่สวนข้อเท็จจริง หรือการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในร่างกฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้การปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง "พนักงานไต่สวน" นั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการปรับเพิ่มค่าตอบแทนพิเศษประจำตำแหน่งพนักงานไต่สวน หรือเป็นภาระต่องบประมาณของสำนักงาน ป.ป.ช. เนื่องจากอัตราเงินเดือนและเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำตำแหน่งพนักงานไต่สวน ได้มีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนตามระดับตำแหน่งโดยยังคงเป็นไปตามคุณสมบัติของพนักงานไต่สวนที่ดำรงตำแหน่งในแต่ละลำดับชั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559