ยันบริษัทประชารัฐไม่เอื้อทุนใหญ่ ‘คลัง’หนุนมาตรการภาษีสร้างวัฒนธรรมธุรกิจเกื้อกูล

08 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
“อภิศักดิ์” ยํ้าอีกคน บริษัทประชารัฐฯไม่เอื้อประโยชน์ทุนใหญ่ เชื่อมั่นเข้ามาเพื่อช่วยสังคม ยันรัฐพร้อมหนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเกื้อกูลในวงธุรกิจ โดยใช้กลไกภาษีด้วยการให้นำค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหักลดหย่อนได้ “สรรเสริญ” แจง เป็นการให้คนแข็งแรงช่วยพยุงคนอ่อนแอให้ยืนบนขาตนเอง

หลังจากมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทำนองไม่ไว้วางใจ กรณีทายาทกลุ่มทุนขนาดใหญ่เป็นตัวนำการลงหุ้นจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯ ทั้งส่วนของโฮลดิ้งกลางและสาขาจังหวัดต่าง ๆ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ด้วยเกรงว่าการออกมาตรการหรือแผนงานต่าง ๆ ท้ายที่สุดกลับไปเอื้อกลุ่มทุนใหญ่ แม้นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ทายาทและผู้บริหารกลุ่มธุรกิจไทยเบฟ ได้ออกมาชี้แจงข้อกังขาต่าง ๆ โดยล่าสุดกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องเรียกร้องให้สังคมไว้วางใจซึ่งกันและกัน และยืนยันไม่เคยคิดจะเอื้อกลับกลุ่มทุน นั้น

[caption id="attachment_60118" align="aligncenter" width="344"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงการคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์
รัฐมนตรีว่าการ (รมว.)
กระทรวงการคลัง[/caption]

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.)กระทรวงการคลัง เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ" ตอกย้ำประเด็นนี้เช่นกันว่า คนทำงานเดี๋ยวนี้เริ่มมองเห็นถึงประเทศชาติและส่วนรวม การที่บริษัทใหญ่ ๆ เข้าร่วมประชารัฐ เพราะเขารู้สึกว่าตนเองมีแล้วจึงอยากเข้ามาช่วย เขาเริ่มเข้ามาทำในสิ่งที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคม ต้องขอบคุณและเป็นสิ่งที่ดีที่เขาทำ

นอกจากนี้แล้ว สังคมไทยเราชอบเกื้อหนุนกัน เวลามีเหตุเดือดร้อนลำบากคนไทยชอบช่วยเหลือ ไม่จำกัดเฉพาะกับคนไทยด้วยกัน ไม่ว่าประเทศไหนมีภัยพิบัติเกิดเหตุร้ายขึ้น คนไทยเราจะช่วยบริจาคช่วยเหลือกันทันทีและเยอะจนติดอันดับโลกที่มีการสำรวจกัน กรณีสึนามิญี่ปุ่นเราก็ระดมกันไปช่วย ทั้งที่ญี่ปุ่นเขารวยกว่าเราเยอะ แต่เราก็อยากช่วย ซึ่งรัฐบาลอยากเอาวัฒนธรรมอันนี้มาใช้กับสังคมไทย คือคนมีความพยายามช่วยคนซึ่งด้อยกว่าได้ไหม บริษัทใหญ่ก็ไปช่วยบริษัทที่เล็กกว่าหน่อยได้ไหม บริษัทเล็กลงไปก็ไปช่วยกับท้องถิ่นได้ไหม พยายามดึงกันเป็นระดับ ๆ ลงไป ก็จะทำให้ทุกคนไปพร้อมกันได้หมด

รมว.การคลังกล่าวอีกว่า รัฐบาลจึงได้มีนโยบายหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี ก็พยายามไปสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ ถ้าธุรกิจไปช่วยรายเล็ก ไปลงทุนในกิจการเพื่อสังคม หรือไปลงทุนในบริษัทเล็ก ๆ ก็จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือไปช่วยเรื่องการหาตลาด ไปช่วยค่าวิจัย อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถเอามาหักลดหย่อนภาษีได้ เพื่อส่งเสริมในสิ่งที่พวกเราก็มีใจทำในสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

ส่วนความกังวลว่ากลุ่มทุนใหญ่จะเข้าไปหาประโยชน์นั้น นายอภิศักดิ์ชี้ว่า กิจการเพื่อสังคมเหล่านี้เมื่อมีกำไรจะไม่มีการปันผลคืนผู้ถือหุ้น แต่เอาไปใช้ใส่กลับให้ท้องถิ่นทั้งหมด อันนี้เป็นเรื่องดี คือ เขาเอากำไรของเขามาร่วมจัดตั้งบริษัทเพื่อสังคม เมื่อทำไปแล้วมีกำไรเท่าไหร่ก็ใส่กลับให้สังคม เป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะว่าต้องเป็นบริษัทใหญ่เท่านั้น ธุรกิจขนาดกลาง ๆ ก็ได้ หรือเล็กก็ได้ ถ้ามีแรงมีกำลังที่จะช่วยสังคมก็มาร่วมกัน ทุกอย่างจะพาประเทศเราไปได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาทางการเปิดให้บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านซีเอสอาร์(กิจกรรมที่รับผิดชอบต่อสังคม) ไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปี ซึ่งก็ทำกันมากแต่กระจัดกระจายไปตามแต่ละบริษัทจะไปทำกัน ซึ่งในส่วนซีเอสอาร์ก็ยังให้อยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มเติมเรื่องการลดหย่อนสำหรับการลงทุนในกิจการเพื่อสังคมขึ้นมา เพราะจะได้ทำให้เป็นเรื่องเป็นราวเสีย

"เราพยายามสร้างวัฒนธรรมอันนี้ และเชื่อว่าเป็นวิธีการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำที่ดี อย่างปัจจุบันที่รัฐไปอุดหนุนกิจการรายเล็กรายน้อย พวกเอสเอ็มอีอะไรต่าง ๆ คำถามมีว่าเราอุดหนุนถูกตัวหรือเปล่า ก็ไม่รู้อีก แต่ถ้าหากเป็นบริษัททำเขารู้ เขาลงไปทำด้วยกันรู้ว่าเออ อันนี้เถ้าแก่ใช้ได้ เอาจริงเอาจัง ก็จะได้ถูกตัว ถ้าโฟกัสถูกตัว งบประมาณที่เราไปช่วยกระจัดกระจาย เอามาช่วยกลุ่มนี้ที่ลงไปถึงถูกตัวไม่ดีกว่าหรือ เอฟเฟกทีฟเนสก็จะดีกว่า ตรงเป้าและไม่สูญเปล่า หรือให้เสียน้อยที่สุด อันนี้เป็นเป้าหนึ่งที่เรามุ่งหวังจะลดความเหลื่อมล้ำในสังคม"

ขณะที่พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลอยากให้ทุกฝ่ายเกิดใจกว้าง มองการดำเนินการเรื่องนี้หลาย ๆ มุม โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจของชาติ และการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในระยะยาว ไม่ใช่มองเพียงว่าเมื่อมีนายทุนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว จะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจแต่อย่างเดียว

"แนวคิดในการให้บริษัทใหญ่เข้ามาร่วมดำเนินการ เปรียบเสมือนการส่งเสริมให้ผู้ที่แข็งแรง มีโอกาสช่วยเหลือดูแลผู้ที่อ่อนแอกว่า เมื่อผู้ที่อ่อนแอสามารถยืนได้ด้วยตนเอง ทั้งหมดก็เดินหน้าไปพร้อมกันได้"

ทั้งนี้ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีฯในระยะแรกจะเป็นการนำ 76 จังหวัดมาถือหุ้นใหญ่ 76% ส่วนอีก 24 % เป็นการถือหุ้นของบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น ทรู เอไอเอส บุญรอด ไทยเบฟ สหพัฒน์ กลุ่มมิตรผล ฯลฯ โดยการเข้ามาถือหุ้นเหล่านี้จะไม่มีการแบ่งกำไรหรือเงินปันผลใด ๆ ส่วนในระยะต่อไปบริษัทจะค่อย ๆ ปรับให้มีสัดส่วนของกรรมการจาก 5 กลุ่ม คือ ภาครัฐ เอกชน ประชาชน วิชาการ และประชาสังคม กลุ่มละ 20 %

ดยบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หรือบริษัทกลาง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในชุมชน ทั้งด้านการเกษตร แปรรูป และการท่องเที่ยว เพื่อให้บริษัทระดับจังหวัด เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ เพชรบุรี ขับเคลื่อนไปได้ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม อยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ 1 ใน 12 คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ

อนึ่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ 16 มีนาคม2559 ที่ผ่านมา เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคม และร่างพ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่.....) พ.ศ......... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิของวิสาหกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) รวมถึงให้สิทธิประโยชน์กับบริษัทที่ไปลงทุนตั้งกิจการเพื่อสังคม หรือไปถือหุ้นในกิจการเพื่อสังคม ให้สามารถนำเงินลงทุนดังกล่าว ไปหักเป็นค่าใช้จ่ายในการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลปีนั้น ในสัดส่วน 100 % ของเงินที่ได้ลงทุนไป ส่วนกิจการที่บริจาคเงินให้เปล่าแก่กิจการเพื่อสังคม ให้สามารถนำเงินบริจาคนั้นไปหักเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ในสัดส่วน 100 % ของเงินที่บริจาคเช่นกัน

ส่วนกิจการที่เข้าหลักเกณฑ์การเป็นกิจการเพื่อสังคม ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี จะต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม เป็นหลัก หรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ยากจน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส หรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น ๆ

นอกจากนี้กิจการดังกล่าวจะต้องไม่จ่ายเงินปันผล หรือส่วนแบ่งกำไร หรือเงินใด ๆ ให้แก่ผู้ถือหุ้น และต้องไม่เปลี่ยนแปลงประเภทของกิจการ จากวิสาหกิจเพื่อสังคมไปเป็นกิจการประเภทอื่น ๆ ภายในระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี นับตั้งแต่วันแรกที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,163 วันที่ 5 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559