‘บิ๊กตู่’ยึดบริหารแบบบูรณาการ ย้ำนำประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0

28 พ.ค. 2559 | 01:00 น.
รัฐบาลโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จัดประชุมสัมมนา "การขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยแบบบูรณาการ" เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันให้กับส่วนงานต่างๆ ในการดำเนินงานตามแผนงานแบบบูรณาการ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ

ปรับโครงสร้างศก. เป็นเกษตรอุตสาหกรรม

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวมอบนโยบายการปฏิรูปประเทศและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ระยะเวลา 20 ปี ให้กับส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในหัวข้อ "บูรณาการเพื่อนำประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"ว่า รัฐบาลพยายามบูรณาการการทำงาน แก้ไขปัญหาของประเทศ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 แก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่ต้องการ คือ ความเข้าใจ ความร่วมมือ มองไปข้างหน้าสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จึงเกิดการบูรณาการทั้งภายในหน่วยงาน และบูรณาการข้ามกระทรวง เพื่อปฏิรูปประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้สอดคล้องกับโลกอนาคตที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยวางกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีข้างหน้า โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นเข็มทิศนำทาง เป็นแนวทางให้รัฐบาลต่อไป

วันนี้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม จากประเทศพึ่งพาเกษตรกรรม ให้เป็นสังคมเกษตรอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ ให้หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง มาอยู่ที่ระดับปานกลางทั้งหมด ให้มีรายได้ที่สูงขึ้น วางระบบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตย แก้ไขสิ่งที่เปราะบางในทุกมิติ โดยเริ่มจากการเมืองมาก่อน เป็นการเมืองที่มีธรรมาภิบาล

ในเวลาที่เหลืออยู่ 2 ปี คงไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด แต่ต้องหยิบกิจกรรมพื้นฐานที่ทำได้ก่อนมาทำ ถือเป็นการวางรากฐานและแก้ไขปัญหาคู่ขนานกันไปในระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศ

ประเทศไทยก่อนหน้าที่จะเข้ามากำลังจะเป็นรัฐที่ล้มเหลว หากไม่มีการปฏิรูปทั้งหน่วยงานและตัวเอง วันนี้หากมีการปฏิรูปเราจะกลายเป็นชาติที่ตามหลังเขาน้อยลง การปฏิรูปต้องมีโรดแมปภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน มีการบูรณาการข้ามกระทรวง ข้ามหน่วยงาน ต้องเลือกปฏิรูปหรือไม่ปฏิรูป ซึ่งที่ผ่านมาก็ปฏิรูปมาตลอด หากไม่ปฏิรูปการบริหารการทำงาน เชื่อว่า จะมีคนเดือดร้อนมากกว่านี้

"รัฐทำอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องช่วยกัน ทำให้ทุกภูมิภาคเข้มแข็งไปด้วยกัน การผลิตสินค้าต้องไม่แย่งการผลิต ไม่แย่งการขายซึ่งกันและกัน ดึงรูปแบบอัตลักษณ์ของท้องถิ่นขึ้นมาขาย ไม่ทำอย่างที่ผ่านมา สิ่งสำคัญ คือ ต้องหาตัวเองให้เจอ วิธีการกระบวนการไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ ต้องให้เกิดการพัฒนา คน งบประมาณ และแผนงานทั้งระบบ วัฒนธรรมองค์กร จัดรูปแบบหน่วยงานภาครัฐที่ต้องมีความยืดหยุ่น

ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายหนักแน่นในเรื่องทางการเมือง ขอให้เชื่อมั่น ซึ่งส่วนตัวไม่เคยหมดกำลังใจ ขอให้ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อย่าเชื่อการบิดเบือนต่างๆ โดยขณะนี้กำลังดำเนินการฟ้องร้องผู้ที่วิจารณ์ทั้งเรื่องการแต่งตั้งตำรวจ ทหาร ที่ระบุว่า ต้องเสียเงินแลกตำแหน่ง รวมถึงผู้ที่วิจารณ์เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องของรัฐธรรมนูญ ขอให้มองว่า เป็นเพียงหลักการให้สังคมยอมรับ ไม่อยากให้การทำประชามติ รัฐธรรมนูญเป็นเพียงพิธีกรรม เพื่ออ้างความเป็นประชาธิปไตย แต่จะต้องนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ในอนาคต

 ชู "ประชารัฐ" ขับเคลื่อน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนและปฏิรูปประเทศไทยด้วยกลไก "ประชารัฐ" ว่า ในทุกประเทศต่างมีการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจของไทย มีพื้นฐานอยู่ที่ภาคการเกษตร ซึ่งประสบภาวะความไม่แน่นอนต่างๆมากมาย ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม โรคระบาด รวมถึงมาตรการทางภาษี ที่สำคัญคือเกษตรกรขาดองค์ความรู้ ไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้าช่วย ก็ทำให้เกิดรายได้ ที่ไม่คุ้มกับต้นทุน อย่างไรก็ดี ด้านทางการเมืองมีผลต่อการแก้ไขปัญหาในทุกๆ มิติ ซึ่งรัฐบาลแต่ละชุดต่างมีแนวคิดที่แตกต่างกันทำให้แก้ปัญหากันไปคนละทิศละทาง ไม่ต่อเนื่อง การมีแผนการพัฒนาที่ดีและทุกฝ่ายร่วมมือ จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

สำหรับแนวทางการทำงานแบบประชารัฐ เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้นำประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยในส่วนของเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐนั้น ต้องมีการปรับแก้กฎหมายที่ปัจจุบันติดขัดในหลายเรื่อง ตลอดจนต้องส่งเสริมการลงทุน การศึกษา และการพัฒนาสังคมที่ต้องยึดโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งนับตั้งแต่เกิดประชารัฐ 12 คณะ ทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งเป้าต้องกระจายลงพื้นที่ทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งในระดับจังหวัด มีครบทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการในทุกจังหวัด คาดว่าจะแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้

ส่วนภาคเอกชนที่อยู่ระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด คุมบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ โดยจะถือหุ้นในบริษัทใหญ่นี้ด้วย โดยไม่ปันผลกำไร แต่จะนำรายได้ไปดูแลสังคม กรณีที่มีข่าวว่า จะทำให้นายทุนไปยึดครองเศรษฐกิจหรือไม่นั้น ไม่อยากให้ไปกังวล แต่เป็นการระดมทุน ที่สุดท้ายประชาชนจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม

ยันส่งต่อรัฐบาลใหม่ ปี 60

สำหรับช่วงเช้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้กล่าวถึงภาพรวมของงานด้านความมั่นคงว่า ถือเป็นรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งขณะนี้มีความก้าวหน้า โดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออกกฎหมายต่างๆเพื่อความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วนการแก้ปัญหาชายแดนใต้นั้น ตั้งแต่ปี 2547 ได้จัดทำแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2558-2560 เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ทั้งยังให้ความสำคัญด้านการข่าว อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า เหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ถือเป็นความล้มเหลว ในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านนี้ เพราะส่วนตัวถือนโยบายป้องกันไม่ให้เกิดเหตุมากกว่าการปราบปราม

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การรักษาความสงบเรียบร้อย สร้างความรักความสามัคคี และขจัดความขัดแย้ง ทำงานแบบบูรณาการ เน้นดำเนินการภายใต้แนวทาง ทำก่อน ทำจริง ทำทันที มีผลสัมฤทธิ์และยั่งยืนในรูปแบบร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ

โดยขณะนี้เข้าสู่ช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นการบริหารราชการแผ่นดินและการเตรียมการปฏิรูปประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะแรก เดือนตุลาคม 2558 - มีนาคม 2559 ระยะที่ 2 เมษายน 2559- กันยายน 2559 ระยะที่ 3 ตุลาคม 2559 - มีนาคม 2560 ระยะที่ 4 เมษายน 2560 - มิถุนายน 2560 และช่วงสุดท้าย คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการส่งต่อการปฏิรูปประเทศให้กับรัฐบาลชุดใหม่ โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินแนวทางการแก้ปัญหา กำหนดเป็นวาระเร่งด่วนต่างๆ อาทิ การแก้ปัญหามาตรฐานการบินพลเรือน ปัญหาราคาสินค้าแพงจากภัยแล้ง และปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตลอดจนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,160 วันที่ 26 - 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2559