เดินเครื่องลุยงานสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินสู่เป้าหมาย‘ธนาคารที่ดิน’

25 พ.ค. 2559 | 02:00 น.
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เห็นชอบหลักการร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(องค์กรมหาชน) พ.ศ.... ตามที่สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน)(บจธ.) เสนอ เพื่อขยายระยะเวลาการดำเนินการของบจธ.ที่จะครบกำหนดออกไปอีก 3 ปี หรือเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน หรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันขึ้นมา "ฐานเศรษฐกิจ"ได้นัดสัมภาษณ์"สถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ" ผู้อำนวยการบจธ. คนแรก ถึงภารกิจที่จะเร่งดำเนินการ ก่อนจะส่งไม้ต่อเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมาแล้ว

[caption id="attachment_55792" align="aligncenter" width="700"] สถานภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินของไทย สถานภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินของไทย[/caption]

4ปีที่สูญเปล่าบจธ.

ผอ.สถิตย์พงษ์กล่าวว่า ก่อนอื่นขอลำดับความเป็นมาว่า บจธ.จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)จัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์กรมหาชน) เมื่อพ.ศ. 2554 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากการที่ประชาชน ด้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการจะสูญเสียที่ดิน ได้ชุมนุมกันในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา จึงเห็นชอบให้ใช้แนวทางธนาคารที่ดิน แต่เฉพาะหน้ารัฐบาลมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) (พอช.) ในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดูแลเป็นโครงการนำร่องใน 5 ชุมชนในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ ภายใต้วงเงินงบประมาณ 167 ล้านบาทไปพลางก่อน ระหว่างรอจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน(บจธ.) จนมีพ.ร.ฎ.ดังกล่าว

ต่อมาเปลี่ยนเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ก็เปลี่ยนไป จึงไม่ได้มอบหมายนโยบายให้บจธ.ดำเนินต่อ ประกอบกับเป็นช่วงขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่อง มีเพียงมอบหมายข้าราชการมารักษาการผู้อำนวยการ บจธ. แต่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร กระทั่งมีรัฐบาลคสช.ที่มีนโยบายแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้คนยากจนอย่างชัดเจนอีกครั้ง และได้เข้ารับตำแหน่งผอ.บจธ.คนแรกเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 และได้เร่งแก้ปัญหาข้อติดขัด จัดโครงสร้างองค์กร วางระเบียบหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ เร่งรัดเปิดรับคนเข้ามาทำงาน ซึ่งล้วนแต่มีข้อจำกัด เพื่อให้ดำเนินงานตามภารกิจได้อีกครั้ง

จัดทัพเดินหน้าภารกิจบจธ.

"ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง ต้องเร่งแก้เรื่องด่วนก่อนคือ ต่ออายุบจธ.ที่กำลังจะครบวาระ 5 ปีออกไป เพราะเหลืออีกแค่ปีเดียว ซึ่งต้องใช้เวลาในการชี้แจง เพราะตามเอกสารบจธ.ตั้งมา 4 ปีกว่าแล้ว และผมเป็นผอ.คนแรก ผู้ใหญ่เข้าใจว่าผมบริหารมาตั้งแต่ต้น ก็ตำหนิว่าผ่านมาตั้งหลายปีทำไมไม่มีผลงานอะไร ทั้งที่ผมเพิ่งเข้ามาทำงานเมื่อปลายปี 2558 ขณะเดียวกันทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.) มีความเห็นเสนอครม.ว่า ให้ยุบบจธ.พร้อมกับองค์กรมหาชนอื่นอีกสองสามแห่ง เพราะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ต้องวิ่งชี้แจงผู้บังคับบัญชา จนในที่สุดครม.เห็นชอบให้ต่ออายุบจธ.ดังกล่าว เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องที่ดินทำกินของคนยากจน โดยขยายอายุบจธ.ออกไป 3 ปี หรือเมื่อจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นแล้ว"

ผอ.สถิตย์พงษ์กล่าวและขยายความว่า พร้อมกันนั้นก็เร่งเตรียมความพร้อมองค์กรควบคู่กันไป เพราะตอนเข้ามามีเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน คณะกรรมการบจธ.ก็ยังไม่มี จะไปชักชวนคนมาช่วยทำงานก็ยาก เพราะต้องมีประสบการณ์ด้านนิติกรรม ทั้งทางที่ดินและทางการเงิน ขณะที่ตามพ.ร.ฎ.จัดตั้งฯ ก็จำกัดอายุการทำงานของบจธ. ว่าจะจบใน 3 หรือ 5 ปี หรือเมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดินขึ้นมา ซึ่งไม่ผูกมัดอีกว่าจะต้องรับโอนพนักงานบมธ.

เข้าเกียร์เดินหน้าภารกิจ

นายสถิตย์พงษ์กล่าวอีกว่า นับจากนี้ บจธ.ได้เตรียมความพร้อมเพื่อเดินหน้าปฏิบัติงานแล้ว ทั้งการเตรียมการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เมื่อกลางเดือนมกราคม 2559 บมธ. ได้จัดประชุมร่วมกระทรวงมหาดไทย คลัง และกระทรวงเกษตรฯ ระดมความเห็นต่อรายงานการศึกษาธนาคารที่ดิน และร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ศ.......ไปแล้ว ขณะนี้พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่ที่ประชุมครม.เพื่อให้ความเห็นชอบ

"ทั้งนี้หากครม.เห็นชอบ ร่างฯของบมธ.จะเป็นร่างของรัฐบาล เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะได้พิจารณาประกบกับร่างของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่ผ่านความเห็นชอบและจะเสนอมาให้รัฐบาลเช่นกัน เพื่อให้เนื้อหาสมบูรณ์มากที่สุด"

ทางเลือกใหม่ลูกหนี้ที่ดินใกล้หลุดจำนอง

ขณะเดียวกันบจธ.ก็พร้อมจะเดินหน้าปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน โดยในกลุ่มแผนงานการให้สินเชื่อเพื่อจัดซื้อที่ดินและการพัฒนาที่ดิน วงเงิน 215.27 ล้านบาท ได้เร่งรัดโครงการแก้ปัญหาเกษตรกรและคนยากจน ที่กำลังจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน จากการจำนองหรือขายฝาก และคดีใกล้ถึงที่สุด หรือที่ดินใกล้หลุดจำนอง ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ และได้สั่งการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2558 ให้หน่วยงานรัฐพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรเพื่อไม่ให้สูญเสียที่ดินทำกิน

บมธ. จะรับมาดำเนินการในการให้สินเชื่อเกษตรกรและคนยากจน ที่มีปัญหาจะสูญเสียสิทธิในที่ดิน เพื่อให้คงสิทธิในที่ดินจากปัญหาการจำนอง การถูกบังคับคดี และการขายฝาก และจัดซื้อที่ดินที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์และเหมาะสมสำหรับการทำการเกษตร เพื่อช่วยให้เกษตรกรและคนยากจนมีที่ดินทำกิน ในพื้นที่เป้าหมาย รวมจำนวนประมาณ 250 ราย จากฐานข้อมูลกรมบังคับคดี กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท บจธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูลรายละเอียดในแต่ละคดี เพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินล่าสุด และแนวทางฟื้นฟู เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกหนี้เปลี่ยนจำนองมาไว้ที่ บจธ.แทน ซึ่งจะมีภาระดอกเบี้ยและระยะเวลาที่ผ่อนปรนมากกว่า ซึ่งน่าจะผ่านเกณฑ์และให้ความช่วยเหลือได้ในปีนี้ประมาณ 100 ราย ในวงเงินสินเชื่อรายละ 5-7.5 แสนบาท

อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เมื่อเข้าไปเก็บข้อมูลที่ดินดังกล่าว พบว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินไปมาก หรือสูญเสียศักยภาพการใช้ประโยชน์ เช่น เดิมเป็นที่นา เมื่อที่ดินใกล้หลุดจำนองก็เร่งขุดหน้าดินขายจนกลายเป็นบ่อลึก หากจะฟื้นฟูต้องลงทุนอีกมาก ซึ่งบจธ.ต้องสำรวจประเมินและศึกษาแนวทางฟื้นฟู เพื่อจะได้ตัดสินใจอย่างรอบคอบในการให้สินเชื่อ

บุกเจาะ4จังหวัดรักษาที่เกษตรฯ

ส่วนแผนงานกระจายสิทธิการถือครองที่ดิน การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ และป้องกันการสูญเสียสิทธิ บจธ.มีโครงการเชิงรุก โดยที่จัดเจ้าหน้าที่ลงไปศึกษาเก็บข้อมูลในพื้นที่เป้าหมาย 4 จังหวัด เพื่อคัดเลือกหาหมู่บ้านที่สอดคล้องกับเป้าหมายงานของบจธ. 3 ประการ คือ การกระจายการถือครองที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่า และช่วยเกษตรกรคนยากจนไม่ให้สูญเสียสิทธิที่ดินทำกิน จังหวัดละหมู่บ้านมาดำเนินการเป็นโครงการนำร่อง งบประมาณ 400 ล้านบาท โดย บจธ.จะให้บริการทั้งการเปลี่ยนจำนอง จัดชุดฟื้นฟูศักยภาพการทำประโยชน์ในที่ดิน

"ต้องยอมรับว่าเราเองก็ยังใหม่ ทั้งตัวเจ้าหน้าที่ จนถึงเรื่องของหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการให้สินเชื่อเกษตรกรและคนยากจน จึงต้องค่อยทำค่อยเรียนรู้ไป โดยจะใช้ความละเอียดถี่ถ้วนและรอบคอบมากที่สุดในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันเนื่องจากเป็นองค์กรเกิดใหม่ เราจะทำงานในลักษณะเครือข่าย ร่วมกับหน่วยงาน องค์กรในพื้นที่ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นจุดให้บริการหรือดำเนินการแทน ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือและวางหลักเกณฑ์อยู่ โดยสำนักงานในส่วนกลางจะเป็นเพียงหน่วยบริหารกลาง และให้เล็กที่สุด"

นายสถิตย์พงษ์ ย้ำตอนท้ายว่า เนื่องจากธนาคารที่ดินถูกออกแบบมาให้สามารถคือครองที่ดินได้ ต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ทำให้ธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระจายการถือครองที่ดิน ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน หากมีการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินรกร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์ จะเป็นตัวกดดันให้ผู้ถือครองจำนวนมากที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ตัดสินใจขายที่ดินออกเพื่อลดภาระภาษี ธนาคารที่ดินจะเป็นกลไกสำคัญที่เข้าไปรับซื้อ เพื่อนำที่ดินมากระจายให้ผู้ต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ต่อไป

อนึ่ง ธนาคารที่ดิน มีวัตถุประสงค์หรืออำนาจห้าที่เกี่ยวกับการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่ดินของหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และจัดซื้อที่ดินจากเอกชน เพื่อนำมาจัดให้เกษตรกร ผู้ยากจน หรือคนที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ เช่าซื้อ หรือเข้าทำประโยชน์ และสนับสนุนทางการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,159 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559